เมื่อกล่าวถึงเรื่องนวัตกรรม เรามักจะนึกถึงการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งอาศัยการคิดนอกกรอบ ในขณะที่ “มาตรฐาน” อยู่ในด้านตรงกันข้ามซึ่งมักจะมีกรอบของการคิดอยู่เสมอ ไอเอสโอหรือองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐานก็เคยตั้งคำถามว่า “มาตรฐาน” สามารถทำให้เกิดนวัตกรรม หรือว่าเป็นการจำกัดนวัตกรรมกันแน่
แนวความคิดที่ว่ามาตรฐานกลายเป็นสิ่งที่เป็นกรอบจนไม่สามารถสร้างนวัตกรรมได้นั้นเป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเพราะฟังดูมีเหตุผลคือดูเหมือนจะทำให้เพิ่มข้อจำกัดในการคิดมากขึ้น จึงมีพื้นที่เพียงเล็กน้อยสำหรับความคิดสร้างสรรค์และสิ่งที่แปลกใหม่ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในบางสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม ไอเอสโอมีผลการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างมาตรฐานกับนวัตกรรมนั้นมีความซับซ้อนมากกว่าที่เราเข้าใจ มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า ในหลายกรณี มาตรฐานสามารถมีบทบาททำให้เกิดนวัตกรรม ไม่ว่าจะเกิดจากการให้ข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมหรือการสร้างแรงจูงใจในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ
แล้วคำว่า “นวัตกรรม” ในที่นี้หมายถึงอะไรกันแน่ เพื่อศึกษาความหมายของคำว่านวัตกรรม ไอเอสโอโดยคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 279, Innovation Management ได้ร่วมมือกับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ในการศึกษาและแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับคำจำกัดความของ “นวัตกรรม” ซึ่งทำให้คำจำกัดความของทั้งสององค์กรมีความสอดคล้องกันมากขึ้น โดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันของมาตรฐานคู่มือออสโลของ OECD ซึ่งให้แนวทางในการรวบรวมและตีความข้อมูลด้านนวัตกรรม
OECD จึงได้ให้คำจำกัดความของ “นวัตกรรม” ว่าหมายถึง ผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการใหม่หรือที่ปรับปรุงแล้ว (หรือทั้งสองอย่าง) ที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการก่อนหน้านี้เป็นอย่างมาก และที่ทำให้มีบริการสำหรับผู้ที่มีโอกาสจะเข้ามาใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่หรือกระบวนการใหม่ด้วย ในขณะที่มาตรฐาน ISO 56000, Innovation management – Fundamentals and vocabulary ได้ให้คำจำกัดความของ “นวัตกรรม” ว่าหมายถึงสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปหรือสิ่งใหม่ที่มีการตระหนักรู้ถึงคุณค่าหรือมีการกระจายต่อซึ่งคุณค่านั้น
เมื่อลองทบทวนบทบาทของมาตรฐานในด้านนวัตกรรมก็พบว่ามีงานวิจัยที่ค้นพบว่ามาตรฐานมักจะได้มาจากเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมใหม่ และยังค้นพบว่านวัตกรรมมักจะได้รับการกระตุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมจากมาตรฐานด้วย ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวสรุปว่า โดยทั่วไปแล้ว ประโยชน์ของมาตรฐานด้านนวัตกรรมสำหรับการออกแบบและการผลิตนั้นมีคุณค่ามากกว่าจะเป็นข้อจำกัดในเรื่องความคิดสร้างสรรค์
มาตรฐานจึงไม่ใช่ตัวการที่ปิดกั้นการเกิดนวัตกรรมแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม กลับช่วยส่งเสริมให้องค์กรสร้างนวัตกรรมได้เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสำเร็จได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งไอเอสโอก็ได้พัฒนามาตรฐานด้านการจัดการนวัตกรรมขึ้นมาจำนวนหนึ่งเพื่อให้องค์กรทั่วโลกนำไปใช้งาน เช่น ISO 56003, Innovation management – Tools and methods for innovation partnership – Guidance, ISO 56005, Innovation management – Tools and methods for intellectual property management — Guidance, ISO 56006, Innovation management – Tools and methods for strategic intelligence management – Guidance เป็นต้น รวมทั้งมาตรฐานระบบการจัดการนวัตกรรม ISO 56002, Innovation management – Innovation Management System – Guidance
สำหรับองค์กรที่นำมาตรฐานการจัดการนวัตกรรม ISO 56002 ไปใช้ จะได้รับประโยชน์ในหลายแง่มุม ดังต่อไปนี้
- เป็นแนวทางการดำเนินงานขององค์กรให้บรรลุตามความต้องการของลูกค้า
- เพิ่มโอกาสทางธุรกิจและเปิดตลาดใหม่ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
- เพิ่มการเติบโต และรายได้จากนวัตกรรม
- ลดระยะเวลาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่ตลาด
- ประหยัดต้นทุนและลดความเสี่ยงในการสร้างนวัตกรรม
- ปรับปรุงประสิทธิภาพและสมรรถนะขององค์กรในการสร้างสรรค์นวัตกรรม
- พัฒนาความคิดให้เปิดใจรับรูปแบบทางธุรกิจและวิธีการใหม่ๆ
- สามารถแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านกระบวนการของนวัตกรรม เช่น การสร้างเครือข่ายในชุมชน การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
- เพิ่มขีดความสามารถในการตัดสินใจขององค์กร เพื่อเผชิญกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลง
ปัจจุบัน ไอเอสโอยังอยู่ในระหว่างการพัฒนามาตรฐานฉบับอื่น ๆ อีกหลายฉบับ เช่น เครื่องมือและวิธีการจัดการกับแนวคิดหรือไอเดีย เครื่องมือและวิธีการในการวัดการปฏิบัติงานด้านนวัตกรรม และการจัดการข้อมูลนวัตกรรมเชิงกลยุทธ์ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถจัดการนวัตกรรมได้อย่างครอบคลุมทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง และสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ที่มา: 1. https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0040162599001043
2. https://www.oecd.org/berlin/44120491.pdf
3. https://www.iso.org/committee/4587737.html
182,494 ผู้เข้าชมทั้งหมด