เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 มีรายงานจากองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ระบุว่าเมื่อปีที่แล้ว ทั่วโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เป็น 36,800 ล้านตัน โดยที่การปล่อยคาร์บอนจากก๊าซธรรมชาติลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 1.6 ซึ่งนับว่าปี 2565 (ค.ศ.2022) เป็นปีที่ทั่วโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนมากเป็นประวัติการณ์
สาเหตุหลักของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ สู่ชั้นบรรยากาศของโลกมีเกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยตรง รวมถึงการตัดไม้ทำลายป่า การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อใช้เป็นพลังงาน การดำเนินงานด้านอุตสาหกรรม รวมทั้งการก่อสงครามด้วย
โลกของเรากำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศอันเป็นผลจากภาวะโลกร้อน เช่น น้ำแข็งละลาย ฝนตกตลอดทั้งปี พายุโซนร้อน ไฟป่า และอุณหภูมิที่สูงขึ้น เป็นต้น
จากข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น ข้อตกลงปารีสที่ต้องการควบคุมอุณหภูมเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้มีความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน หรือการดำเนินการตามแนวทางการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน มาตรการเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญในการลดผลกระทบของภาวะโลกร้อน และต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของโลกลงได้อย่างไร
ภาคอุตสาหกรรมสามารถนำมาตรฐานที่ช่วยลดก๊าซคาร์บอนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปใช้งาน และวิธีที่ง่ายที่สุดในการบรรลุเป้าหมายด้านคาร์บอน คือ การปลูกป่าใหม่ให้เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ และการฟื้นฟูป่าเพื่อช่วยดักจับคาร์บอน นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีที่ช่วยดักจับอากาศโดยตรงหรือดักจับและกักเก็บคาร์บอนด้วย ทำให้สามารถกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศโดยตรง หรือหยุดการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ได้
ส่วนภาคประชาสังคมก็สามารถต่อสู้กับภาวะโลกร้อนด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด ดังต่อไปนี้
1) เปลี่ยนหลอดไฟ โดยหลอดไฟคอมแพคฟลูออเรสเซนต์หนึ่งหลอดสามารถแทนที่หลอดไฟปกติหนึ่งหลอดได้ ซึ่งช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 150 ปอนด์ต่อปี
2) ลดการขับขี่ ใช้ซ้ำ รีไซเคิล ตรวจสอบยางรถยนต์ และใช้น้ำร้อนให้น้อยลง เพื่อช่วยลดการใช้ทรัพยากรลงตามสมควร
3) หลีกเลี่ยงการซื้อของที่มีการบรรจุหีบห่อในปริมาณมาก ปรับเปลี่ยนอุณหภูมิในบ้านให้เหมาะสม และปลูกต้นไม้
มาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจยั่งยืน
ปัจจุบัน ทรัพยากรป่าไม้ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด การจัดการป่าไม้อย่างมีคุณภาพด้วยความรับผิดชอบจึงมีความสำคัญ สำหรับเจ้าของสวนป่า ผู้ประกอบการ หรือผู้จัดการสวนป่า สามารถนำมาตรฐาน มอก.14061-1 ข้อกำหนดระบบการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืนไปใช้งานและขอรับการรับรองพื้นที่สวนป่าไม้เศรษฐกิจของตนเอง เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมจากการตัดไม้ ช่วยบำรุงรักษาระบบนิเวศ ปรับปรุงป่าที่มีมูลค่าการอนุรักษ์สูง ตลอดจนช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ
การใช้ทรัพยากรอย่างมีความรับผิดชอบทั้งในภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาสังคมมีส่วนสำคัญในการลดปัญหาภาวะโลกร้อน เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ทำให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นการสนับสนุนให้ก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
ที่มา:
1. https://plus.thairath.co.th/topic/naturematter/102868
2. https://bestdiplomats.org/how-to-reduce-carbon-emissions/
1,639 ผู้เข้าชมทั้งหมด