ชีวิตสวยงามด้วย “มาตรฐานไอเอสโอ” ที่ทุกคนเข้าถึงได้

Share

สำหรับสังคมที่จะมีการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนแล้ว เราไม่อาจละเลยคนกลุ่มหนึ่งที่มีความบกพร่องทางร่างกายซึ่งมีนับพันล้านคนทั่วโลก (ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561) การให้คนเหล่านั้นมีส่วนร่วมและสร้างพลังให้เกิดขึ้นในสังคมเป็นสิ่งที่สามารถทำได้และจำเป็นต้องสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง

วันที่ 3 ธันวาคม เป็นวันผู้พิการสากล (International Day of Persons with Disabilities: IDPD) ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ตามวาระ 2030 ที่กล่าวไว้ว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  และมาตรฐานสากลของไอเอสโอหลายมาตรฐานถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวโดยยังมีมาตรฐานอีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการพัฒนา

จากป้ายสัญลักษณ์บนท้องถนนไปจนถึงการก่อสร้างอาคาร มาตรฐานไอเอสโอช่วยให้ผู้ผลิต ผู้ให้บริการ นักออกแบบ และผู้กำหนดนโยบายสามารถสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการหรือการเข้าถึงของทุกคนได้

ด้วยความร่วมมือระหว่างไออีซี ไอทียูและไอเอสโอ  จึงมีการพัฒนามาตรฐาน ISO/IEC Guide 71, Guide for addressing accessibility in standards ขึ้นมาซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการช่วยให้ผู้พัฒนามาตรฐานมีการพิจารณาถึงประเด็นด้านการเข้าถึง (accessibility) ของคนทุกประเภทเมื่อทำการพัฒนาหรือทบทวนมาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ไม่เคยมีการพิจารณาในเรื่องนี้มาก่อน

สำหรับวันผู้พิการสากลในปีนี้มีการอุทิศให้กับการสร้างโลกที่มีความเจริญรุ่งเรืองและความสงบสุขซึ่งเป็นไปในทางเดียวกันกับวาระ 2030 และปรากฏอยู่ในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ข้อ เช่นเดียวกับมาตรฐานสากลที่มุ่งไปในทิศทางเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น

  • ISO 17049 – Accessible design — Application of braille on signage, equipment and appliances ซึ่งช่วยให้มีมาตรฐานของป้ายและอุปกรณ์เกี่ยวกับการบอกทางอักษรเบรลล์
  • ISO 23599 – Assistive products for blind and vision-impaired persons – Tactile walking surface indicators ซึ่งช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถเดินทางและใช้ชีวิตได้สะดวกขึ้นจากการได้ใช้ปุ่มพื้นผิวต่างสัมผัสสำหรับผู้พิการ (tactile walking surface indicators: TWSIs) ซึ่งมีการใช้ครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 1965 และแพร่หลายไปทั่วโลก
  • ISO 21902 – Tourism and related services – Accessible tourism for all- Requirements and recommendations ซึ่งช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้องได้
    มาตรฐานดังกล่าวมีส่วนสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ข้อ 3 คือการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good health and well-being)

นอกจากนี้ ยังมีมาตรฐานที่มีคุณค่าที่ช่วยให้คนในเมืองมีแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับชุมชน คือ ISO 37101, Sustainable development in communities – Management system for sustainable development – Requirements with guidance for use ซึ่งช่วยให้เมืองมีความยืดหยุ่น ปลอดภัย และมีบริการที่ครอบคลุมความต้องการของเมือง

ส่วนมาตรฐาน ISO/IEC Guide 71: 2014 Guide for addressing accessible in standards เป็นมาตรฐานที่จัดเตรียมแนวทางให้ผู้ที่ทำหน้าที่พัฒนามาตรฐานให้คำนึงถึงข้อกำหนดด้านการเข้าถึงและข้อแนะนำสำหรับมาตรฐานทั้งทางตรงและทางอ้อมในระบบไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ บริการ หรือสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเข้าถึงของคนทุกประเภท โดยมีการสรุปคำศัพท์และประเด็นที่ควรพิจารณาเพื่อสนับสนุนกระบวนการพัฒนามาตรฐานเพื่อให้คนทุกประเภทสามารถเข้าถึงได้ คำอธิบายถึงความสามารถและคุณลักษณะของมนุษย์และกลยุทธ์ที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ และการพิจารณาการออกแบบมาตรฐานให้ผู้ใช้งานทุกประเภทสามารถเข้าถึงได้ ตัวอย่างมาตรฐานที่ใช้แนวทางดังกล่าวประกอบการพัฒนามาตรฐาน เช่น ISO/TS 20646: 2014 Ergonomics guidelines for the optimization of musculoskeletal workload,   ISO 17069: 2014 Accessible design – Consideration and assistive products for accessible meeting เป็นต้น

มีตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นสำหรับประโยชน์ของมาตรฐานในด้านการเข้าถึงของทุกคน จากวิดีโอที่เป็นเรื่องราวของชองอีฟ เลอ เมอร์ บุคลากรห้องสมุดดิจิตอลขององค์กรวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (CERN) ซึ่งประสบอุบัติเหตุจากการตกรถไฟทำให้เสียขาไปข้างหนึ่งตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นและเกือบจะเสียชีวิต แต่ด้วยความอดทนและกำลังใจจากพ่อแม่ ทำให้เขาฟื้นตัว ใช้ขาเทียม  หันมาใช้ชีวิตเหมือนคนปกติและเล่นกีฬาหลายประเภท เขาฝึกฝนกีฬาประเภทต่างๆ และไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อความพิการ ทำให้ได้รับรางวัลระดับโลกเป็นจำนวนมาก และสามารถสร้างประวัติศาสตร์ให้กับตัวเองด้วยการปีนถึงยอดเขามองบลังค์อันเป็นยอดเขาสูงที่สุดในยุโรปโดยใช้เวลาสองวันซึ่งแม้แต่คนปกติธรรมดาก็ยากที่จะทำได้  อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการเข้าถึงในเรื่องมาตรฐานต่างๆ ในชีวิตประจำวันแล้ว ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาคงไม่ได้มีความสะดวกสบายอย่างเช่นทุกวันนี้

การที่ทุกคนรวมทั้งผู้พิการสามารถเข้าถึงการใช้งานผลิตภัณฑ์และบริการได้เพราะ “มาตรฐาน” จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและจำเป็นต้องมีการสนับสนุนให้คนทั่วโลกเห็นประโยชน์และร่วมกันใช้มาตรฐานเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนอย่างเท่าเทียมกันต่อไป

ที่มา :

  1. https://www.iso.org/news/ref2351.html
  2. https://www.iso.org/standard/57385.html

 519 ผู้เข้าชมทั้งหมด