ทั่วโลกใส่ใจการเงินสีเขียวเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

Share

OUR FUTURE OUR SUSTAINABLE FINANCEรัฐบาลทั่วโลกเห็นความสำคัญกับการลดมลพิษและก๊าซเรือนกระจก ส่วนหน่วยงานกำกับดูแลอื่นๆ ก็ต้องการให้ธุรกิจเปิดเผยความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศด้วย  ซึ่งมีข้อมูลว่าภาคพลังงานหมุนเวียนสำหรับการผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในทศวรรษที่ผ่านมาและเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น มั่นใจได้ว่าการเงินที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของความยั่งยืนจะยังคงเติบโตมากขึ้นต่อไป

แม้จะมีการลงทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีความต้องการอีกมากในการบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีสและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) โดยเฉพาะเรื่องของขนาดของการลงทุนที่ต้องการนั้นมีจำนวนมหาศาล จากข้อมูลของ World Economic Forum ระบุว่าเราจำเป็นต้องทุ่มงบประมาณ 5.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปีให้กับโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ได้ระบุไว้ว่าเราต้องการเงินอย่างน้อย 53 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในอีก 15 ปีข้างหน้าเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และมีความจำเป็นมากขึ้นสำหรับด้านอื่นๆ ของความยั่งยืนด้วย เช่น เศรษฐกิจหมุนเวียนที่กำลังเกิดขึ้น

มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าโลกของเราจำเป็นต้องมีการพัฒนามาตรฐานที่แข็งแกร่งและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง มาตรฐานสากลสามารถวางโครงสร้างทางการเงินที่ยั่งยืนที่เกิดขึ้นมาใหม่และสร้างความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจที่นักลงทุนต้องการได้

จอห์น ชิเดลเลอร์ แห่งบริษัท Futurepast Inc. และหัวหน้ากลุ่มผู้เชี่ยวชาญในคณะกรรมการวิชาการไอเอสโอ ISO/TC 207, Environmental management ซึ่งรับผิดชอบในการพัฒนามาตรฐานเกี่ยวกับพันธบัตรสีเขียวและสินเชื่อ ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความจำเป็นของการมีมาตรฐานสากลว่าทำให้เกิดความสอดคล้องกลมกลืน ความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใส และความไว้วางใจ

เฮย์เดน มอร์แกนจากกลุ่ม Green Investment Groupและผู้นำในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 322, Sustainable finance กล่าวว่า เพื่อหลีกเลี่ยงการเบี่ยงเบนประเด็นความสนใจจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปเป็นการประหยัดทรัพยากรเพียงอย่างเดียว (กรีนวอชชิ่ง) โลกของเราจำเป็นต้องมี “มาตรฐาน”   สำหรับการพัฒนางานมาตรฐานในกลุ่มนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อบูรณาการหลักการด้านความยั่งยืนเข้ากับกิจกรรมด้านการเงิน ซึ่งหากปราศจากมาตรฐานแล้ว ก็อาจเกิดการเบี่ยงเบนประเด็นความสนใจหรือพูดเกินจริงมากไปในการรับรองด้านสิ่งแวดล้อม

แล้วพันธบัตรสีเขียวคืออะไรกันแน่  “พันธบัตรสีเขียว” เกิดขึ้นมาเกือบ 15 ปีแล้ว และตั้งแต่นั้นมา ก็มีมาตรฐานการค้า คำแนะนำและกฎเกณฑ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมายและหลากหลาย โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคง และยิ่งไปกว่านั้น ก็คือเพื่อต่อสู้กับ “กรีนวอชชิ่ง” แม้ว่าตลาดที่เพิ่งเริ่มต้นจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ปัจจุบัน เราต้องการมาตรฐานไอเอสโอเพื่อให้มีโครงสร้าง ความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือด้วยแผนการรับรองที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะช่วยปลดล็อกด้านการเงินเป็นจำนวนหลายล้านล้านดอลลาร์ที่มีความจำเป็นสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน

ชิเดลเลอร์  กล่าวว่า มาตรฐาน ISO 14030 มีจุดมุ่งหมายคือการให้ความชัดเจนและอธิบายสิ่งที่จำเป็นในการพิจารณาคุณสมบัติและความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้สีเขียว ตลอดจนกลไกการรายงานที่แข็งแกร่ง เพื่อให้นักลงทุนตัดสินใจอย่างมีข้อมูล นอกจากนี้ การรับแนวคิดจากภาคการเงินมาใช้ก็มีความสำคัญต่อความสำเร็จของมาตรฐานดังกล่าวซึ่งคณะทำงานได้รับข้อมูลสนับสนุนเป็นอย่างดี ทำให้สามารถพัฒนามาตรฐานที่สอดคล้องกับมาตรฐานพันธบัตรสีเชียวและสามารถนำหลักการของสินเชื่อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ด้วย

นักลงทุนจำนวนมากเริ่มตระหนักดีว่าหากความหลากหลายทางชีวภาพต้องประสบกับปัญหา ผลตอบแทนของพวกเขาก็จะพบกับปัญหาเช่นกัน ดังนั้น การวัดผลและการแก้ไขปัญหาจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น เมื่อช่วงต้นปี 2563 (ค.ศ.2020) ไอเอสโอได้จัดตั้งคณะกรรมการวิชาการ  ISO/TC 331, Biodiversity เพื่อรองรับความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตบนโลกด้วยมาตรฐานเฉพาะด้าน

แคโรไลน์ ลูเออรี ผู้จัดการคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 331 อธิบายว่าคณะกรรมการอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นระหว่างเศรษฐกิจและระบบนิเวศของเรา ความสัมพันธ์ที่ส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพไปพร้อมๆ กับการสร้างโอกาสสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน  โดยมีจุดมุ่งหมายคือการพัฒนาข้อกำหนด หลักการ กรอบงาน คำแนะนำและเครื่องมือสนับสนุน โดยดำเนินการในลักษณะองค์รวม เป็นอันหนึ่งอันเดียวเดียวกัน และเป็นสากล

ภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพจากทุกแหล่งกำลังมาถึงระดับวิกฤตอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลต่อทำงานของระบบนิเวศ อัตราการสูญพันธุ์ในปัจจุบันสูงกว่าระดับก่อนเกิดมนุษย์ถึงพันเท่า และเกิดการสูญเสียที่อยู่อาศัยจากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่คาดการณ์ไว้  รวมถึงการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์ที่ไม่ใช่ต้นกำเนิดพื้นเมืองอาจทำให้อัตราสูญพันธุ์สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่มาตรฐานไอเอสโอสำหรับความหลากหลายทางชีวภาพจะช่วยส่งเสริมให้องค์กรต่างๆ รวมทั้งรัฐบาลและภาคธุรกิจ รวมเอาประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพทั้งหมดไปไว้ในกลยุทธ์ การตัดสินใจ และการดำเนินการ โลกเรามีมาตรฐานและระเบียบวิธีระดับประเทศอยู่แล้วสำหรับการประเมินและจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ แต่หลักฐานบ่งชี้ว่าสิ่งเหล่านี้กระจัดกระจายออกไปและมีความแตกต่างกัน แม้ว่าจะมีกฎหมายและเครื่องมือสนับสนุน แต่ก็ยังมีแนวทางในระดับภูมิภาคและระดับชาติที่แตกต่างกันออกไปอยู่ดี ซึ่งลูเออร์ลีอธิบายว่า จุดนี้ มาตรฐานที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันจะช่วยได้เป็นอย่างมาก  องค์กรจำเป็นต้องมีความเข้าใจร่วมกันว่าความหลากหลายทางชีวภาพคืออะไร กรอบการทำงานที่เรียกร้องในการดำเนินการ วิธีการ เครื่องมือในการประเมินผลกระทบ ความคืบหน้า และตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม คืออะไร กล่าวโดยสรุป สิ่งที่เราต้องการคือแนวทางระดับโลกที่มีความสอดคล้องผสมผสานกัน  ซึ่งมาตรฐานในอนาคตจะรวมถึงข้อกำหนดและคำจำกัดความที่เป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อใช้ทั่วโลก วิธีการสำหรับการวิเคราะห์ผลกระทบ กรอบสำหรับการกำหนดกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการ เครื่องมือติดตาม รวมทั้งรายงานด้วย

การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นกลางทางคาร์บอนจะส่งผลกระทบต่อทุกแง่มุมของการผลิตสินค้า การให้บริการ การเคลื่อนไหวและการบริโภคของเรา รวมทั้งส่งผลต่อวิธีการทำงานของเราด้วย รายงานจากคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรประบุว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นกลางทางคาร์บอนจะทำให้เกิดสร้างงานมากกว่าหนึ่งล้านตำแหน่งภายในปี 2573  ซึ่งไอเอสโอกำลังทำงานเพื่อสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นด้วยการเร่งการเคลื่อนไหวไปสู่สังคมที่ปราศจากคาร์บอน ปฏิญญาลอนดอนแสดงถึงความมุ่งมั่นทางประวัติศาสตร์ของไอเอสโอในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านเรื่องของมาตรฐาน

บทบาทที่สำคัญสำหรับมาตรฐานนี้ได้รับการเน้นย้ำโดยผู้นำของ G20 และในการประชุม COP26 ซึ่งไอเอสโอก็พร้อมที่จะเปลี่ยนความมุ่งมั่นไปสู่การปฏิบัติ การเปลี่ยนแปลงนี้ได้เริ่มต้นขึ้นในชุมชนและบริษัทที่มองการณ์ไกลหลายแห่งแล้ว แต่ทั่วโลกยังคงต้องใช้เวลาและความพยายามร่วมกันต่อไปจนกว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายร่วมกันได้

ที่มา: https://www.iso.org/contents/news/2022/02/keeping-the-green-promise.html

 225 ผู้เข้าชมทั้งหมด