มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนช่วยให้โลกดีขึ้น

Share

หนึ่งในปัญหาสำคัญที่สุดในยุคนี้คือวิกฤตสภาพภูมิอากาศ  ไม่ว่าเราจะอยู่ได้ภาคส่วนไหนก็ล้วนแล้วแต่ได้รับภัยคุกคามจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งทางตรงหรือทางอ้อมด้วยกันทั้งนั้น  และปฏิญญาลอนดอนที่ได้รับการอนุมัติเมื่อเดือนกันยายน 2564 (ค.ศ.2021) ก็ได้ทำให้ไอเอสโอมีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศโลกให้ได้ภายในปี 2593 โดยมาตรฐานของไอเอสโอมีส่วนสนับสนุนให้องค์กรต่างๆ ประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และวางแผนเพื่อการดำเนินการที่มีประสิทธิผล

“เศรษฐกิจหมุนเวียน” ถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินการด้านสภาพอากาศ รูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ไม่ยั่งยืนในปัจจุบันเป็นที่รู้กันว่าเป็นสาเหตุทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง ทรัพยากรเกิดการสูญเสีย และก่อให้เกิดของเสียมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เน้นย้ำถึงความไม่เท่าเทียมกันในประเทศต่างๆ ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องก้าวไปสู่โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น

การกำหนดนิยามใหม่ของเศรษฐกิจสามารถใช้หลักการของการออกแบบของเสียและมลพิษ และการรักษาผลิตภัณฑ์และวัสดุให้ใช้งานได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มาตรฐานความยั่งยืนซึ่งมุ่งเน้นเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนกำลังได้รับการพัฒนาในระดับประเทศและระดับสากลโดยองค์กรต่างๆ ทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย

มาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กร (มตช.2-2564) เป็นข้อกำหนดที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศใช้เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 และมีโครงสร้างของมาตรฐานเช่นเดียวกับมาตรฐานที่เป็นระบบการจัดการ เช่น ระบบการจัดการคุณภาพ ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เป็นต้น ซึ่งเป็นมาตรฐานที่องค์กรในประเทศไทยมีการประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายอยู่แล้ว  องค์กรสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย และสามารถใช้ประเมินความสอดคล้องด้วยตนเองหรือด้วยการขอรับการรับรองจากหน่วยงานภายนอกเช่น หน่วยรับรองระบบการจัดการ (CB)

สำหรับไอเอสโอ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 323, Circular Economy  ซึ่งกำลังดำเนินการพัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น การออกแบบเชิงนิเวศน์ซึ่งคำนึงถึงความยั่งยืน การใช้วัสดุ พลังงาน และทรัพยากรอื่นๆ ในทุกขั้นตอนของกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยมีหลักการที่ครอบคลุม และพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ทรัพยากรและพลังงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอากาศ น้ำ และดิน ตลอดจนมลพิษที่เกิดจากเสียง การสั่นสะเทือน รังสี สนามแม่เหล็กไฟฟ้า และผลกระทบทางกายภาพอื่นๆ  รวมทั้งประเด็นอื่นๆ ที่ต้องให้ความสำคัญด้วย ได้แก่ วัสดุเหลือทิ้งที่ผลิตในระหว่างกระบวนการผลิตและการรีไซเคิล (เช่น การใช้ซ้ำและการนำวัสดุหรือพลังงานกลับมาใช้ใหม่)

นอกจากนี้ ในการพัฒนามาตรฐานยังมีชุดข้อกำหนดการออกแบบสำหรับความทนทานของผลิตภัณฑ์ การนำกลับมาใช้ใหม่ ความสามารถในการอัปเกรด และความสามารถในการซ่อมแซม และสำหรับการรีไซเคิลของอุปกรณ์ต่างๆ ด้วย เช่น จอแสดงผลอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องทำความเย็นเชิงพาณิชย์ เครื่องซักผ้า และเครื่องดูดฝุ่น เป็นต้น

มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนมีประโยชน์ทั้งในระดับองค์กร  และระดับระหว่างประเทศ กล่าวคือ ทำให้ลดการพึ่งพาวัตถุดิบหรือวัสดุและพลังงานเนื่องจากมีการหมุนเวียนวัสดุให้อยู่ในวัฏจักรทั้งในท้องถิ่นและในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ช่วยลดความผันผวนของราคาสินค้าซึ่งเป็นความเสี่ยงหลักของธุรกิจที่ต้องพึ่งพาการนำเข้า ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ช่วยให้ระบบเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ดีขึ้น ช่วยรักษาต้นทุนธรรมชาติและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ยังช่วยปรับปรุงความสัมพันธ์กับลูกค้าด้วย

มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนช่วยให้โลกดีขึ้นได้ด้วยการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณของเสีย ส่งเสริมการรีไซเคิล ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก  ส่งเสริมการสร้างงานและเศรษฐกิจที่ดี สร้างโอกาสให้กับธุรกิจใหม่และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

ที่มา: https://www.iso.org/en/contents/news/2022/08/towards-a-circular-economy.html

 2,245 ผู้เข้าชมทั้งหมด