มาตรฐาน ISO 13482 สร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยให้หุ่นยนต์ผู้ช่วยมนุษย์

Share

ตามที่ได้เคยนำเสนอบทความเรื่อง “มาตรฐานความปลอดภัยสำหรับหุ่นยนต์ดูแลมนุษย์” โดยแนะนำให้รู้จักกับมาตรฐาน ISO 13482: 2014 Robots and robotic devices — Safety requirements for personal care robots หรือมาตรฐานด้านหุ่นยนต์และอุปกรณ์หุ่นยนต์ – ข้อกำหนดด้านความปลอดภัยสำหรับหุ่นยนต์ที่ใช้ในการดูแลมนุษย์ (อยู่ในกลุ่มมาตรฐานด้านอุปกรณ์การแพทย์) ซึ่ง ISO 13482 ประกอบด้วยข้อกำหนดเฉพาะทางและแนวทางในการออกแบบ ตัวชี้วัดการป้องกัน และข้อมูลสำหรับการใช้หุ่นยนต์ดูแลมนุษย์ ซึ่งหุ่นยนต์ดูแลมนุษย์ โดยทั่วไปมี 3 ประเภท ได้แก่

  • หุ่นยนต์เคลื่อนที่ (Mobile servant robot) มีลักษณะเป็นหุ่นยนต์ที่เคลื่อนที่ได้อิสระในการทำงานตามที่สั่งการและช่วยการติดต่อทางกายภาพกับมนุษย์ เช่น หุ่นยนต์มัคคุเทศก์ หุ่นยนต์ทำความสะอาด
  • หุ่นยนต์ที่ทำงานทางกายภาพ (Physical assistant robot) มีลักษณะไว้สวมใส่กับมนุษย์หรือผูกติดกับมนุษย์ เพื่อช่วยสนับสนุนหรือเพิ่มความสามารถทางกายภาพ ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะทางกายภาพของบุคคล ตัวอย่างเช่น ชุดที่ทำขึ้นเพื่อสวมใส่สำหรับการฟื้นฟูสภาพร่างกายของผู้ที่กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • หุ่นยนต์ที่ช่วยในการเดินทาง (Person carrier robot) เป็นหุ่นยนต์ที่มีลักษณะเป็นอุปกรณ์ที่มีที่นั่งหรือวางเท้า ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการขนส่งมนุษย์ไปยังสถานที่ต่างๆ ด้วยตนเอง หรือมีอิสระในการเคลื่อนไหว

ทั้งนี้ ISO 13482 เป็นข้อกำหนดที่พัฒนาขึ้นเพื่อควบคุมความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่อาจเกิดเนื่องจากมีการใช้หุ่นยนต์และตอบโต้กับมนุษย์อย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมผู้สูงวัยเริ่มปรากฏอย่างเห็นได้ชัดในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศญี่ปุ่น และยุโรป ซึ่งหุ่นยนต์ได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือผู้สูงวัยเป็นอย่างมาก เช่น การพาผู้สูงวัยออกไปเดินเล่นหรือช็อปปิ้ง  นอกจากนี้ หุ่นยนต์ยังสามารถจดจำอารมณ์ของผู้สูงวัย และเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อีกด้วย ถึงแม้ว่าหุ่นยนต์ผู้ช่วยเหลือดูแลนี้จะยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์และแพทย์ต่างก็ทำนายว่าเทคโนโลยีหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์ชั้นสูงจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้และสามารถช่วยเหลือผู้สูงวัยได้อย่างเต็มรูปแบบ

ตัวอย่างของหุ่นยนต์ที่นำมาใช้ในปัจจุบัน เช่น โรมีโอเป็นหุ่นยนต์ที่หน้าตาคล้ายมนุษย์ มีความสูง 140 เซนติเมตร ได้รับการออกแบบมาเพื่อสำรวจงานวิจัยเพื่อใช้ช่วยเหลือผู้สูงวัยและคนที่สูญเสียความสามารถในการใช้ชีวิตของตนเอง

จอร์จ ดิแอส จากมหาวิทยาลัยโคอิมบรา ประเทศโปรตุเกส กล่าวว่าการศึกษาของทางยุโรปแสดงให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายด้านการดูแลผู้สูงวัยในระดับประเทศและในยุโรปเริ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สหภาพยุโรปจึงมุ่งมั่นที่จะกระตุ้นให้เกิดความสามารถในการดำเนินการอย่างยั่งยืนโดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ซึ่งผู้สูงวัยรายหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการวิจัยกล่าวว่าหุ่นยนต์ที่เข้ามาดูแลช่วยเหลือนั้นทำให้กิจกรรมในชีวิตประจำวันมีความสะดวกสบาย การมีชีวิตอยู่คนเดียวโดยมีหุ่นยนต์ช่วยเหลือในบ้านนั้น ทำให้รู้สึกปลอดภัยและผ่อนคลายมากขึ้น

โรดอล์ฟ เจลิน ผู้อำนวยการของศูนย์นวัตกรรมวิจัยของบริษัทที่ผลิตหุ่นยนต์โรมีโอกล่าวว่า หุ่นยนต์ตัวหนึ่งสามารถช่วยเหลือคนได้ใน 3 ด้าน คือ ทำให้ลูกค้ามีความมั่นใจว่าปลอดภัยเมื่ออยู่ที่บ้าน ทำให้สามารถเชื่อมต่อกับผู้ให้ความช่วยเหลือได้ และทำงานที่ต้องทำในชีวิตประจำวันเมื่ออยู่ในบ้าน
นอกจากนี้ ยังมีโครงการ Iron Hand ซึ่งกำลังพัฒนาและทดสอบถุงมือหุ่นยนต์เพื่อใช้หยิบจับสำหรับผู้สูงวัยที่สูญเสียความสามารถในการใช้มือในชีวิตประจำวันอย่างการหยิบขวดน้ำหรือการเตรียมอาหาร ซึ่งบริษัท โฮโคม่า เป็นหนึ่งในบริษัทที่เกี่ยวข้องในโครงการดังกล่าวที่ร่วมบุกเบิกพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อการบำบัดให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวร่างกายหรืออวัยวะได้ดีขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ยอมรับว่าพยาบาลที่เป็นมนุษย์หรือสมาชิกในครอบครัวนั้นดีกว่าแต่ในสังคมเช่นนี้ แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะจ้างพยาบาลหรือขอให้สมาชิกในครอบครัวมาดูแลผู้สูงวัย ดังนั้น การมีหุ่นยนต์ผู้ช่วยเหลือจึงเป็นทางออกที่ดีกว่า ปลอดภัยกว่าปล่อยให้ผู้สูงวัยอยู่ที่บ้านคนเดียว
หุ่นยนต์ยังช่วยในเรื่องของแรงงานที่กำลังมีแนวโน้มจะขาดแคลน เช่นที่สนามบินฮาเนดะที่โตเกียวก็มีการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ไซเบอร์ดีนของญี่ปุ่นเพื่อช่วยในเรื่องการทำงาน ของพนักงานที่ต้องใช้ร่างกายส่วนล่างเคลื่อนไหวโดยติดตั้งอุปกรณ์ชิ้นส่วนของหุ่นยนต์เข้าไปด้วย (เช่น ยกของหนักๆ อย่างกระเป๋า)

จะเห็นได้ว่าหุ่นยนต์ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน และยังมีการนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมและบริการมากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ที่ต้องกานนำหุ่นยนต์มาใช้ หรือผู้ผลิตหุ่นยนต์สำหรับให้บริการ ควรต้องให้ความสำคัญในเรื่องของมาตรฐานทางเทคนิคและมาตรฐานด้านความปลอดภัยสำหรับการใช้งาน โดยอ้างอิงตามกฎระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานสากล เช่น ISO 13482 นี้ เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีคุณภาพและความปลอดภัยในการใช้งาน

อ่านบทความย้อนหลังได้ที่ https://intelligence.masci.or.th/upload_images/file/Robot%20standard.pdf

ที่มา:https://www.iso.org/news/Ref2169.htm

 2,272 ผู้เข้าชมทั้งหมด