สร้างอนาคตเมืองที่ไร้คาร์บอนด้วยมาตรฐานไอเอสโอ

Share

ข้อมูลของสภาเศรษฐกิจโลก หรือ WEF (World Economic Forum) ระบุว่าประชากรโลกมากกว่าครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่กันอย่างเบียดเสียดในเมืองซึ่งมีส่วนที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 70% และการที่จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เมืองต่างๆ จำเป็นต้องมีแนวทางในการทำให้คาร์บอนเป็นศูนย์

แนวทางที่จะทำได้คือ  การทำให้ระบบต่างๆ ของเมืองมีประสิทธิภาพอย่างเป็นระบบ เช่น การใช้พลังงานสะอาด การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอัจฉริยะ การสร้างอาคารและโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งใช้ทรัพยากรน้ำ ของเสีย และวัสดุอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

ไอเอสโอมีมาตรฐานอยู่นับพันฉบับที่ช่วยให้ผู้นำของเมืองต่างๆ สามารถดูแลใส่ใจตามคำแนะนำของสภาเศรษฐกิจโลกและทำให้เมืองสะอาดสะอ้านขึ้น ผู้คนมีสุขภาพที่ดีขึ้นและมีความยั่งยืนมากขึ้นภายใต้กรอบการดำเนินงานที่ต้องต่อสู้ด้วยปฏิบัติการของปัจเจกชนที่ช่วยให้มีการสร้างสภาพแวดล้อมในเมืองที่ตอบสนองความต้องการของพลเมืองในปัจจุบันพร้อมทั้งลงทุนเพื่ออนาคตที่ดีขึ้นสำหรับตัวเราเองและโลกของเรา

เริ่มต้นด้วยแนวทางแบบองค์รวมเชิงระบบ
การมีความเข้าใจที่ชัดเจนว่าเมืองที่ยั่งยืนคืออะไรเป็นสิ่งที่มีความหมายและยังเป็นเรื่องที่เมืองจำเป็นต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษเพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่เมืองแห่งความยั่งยืนได้

มาตรฐาน ISO 37101, Sustainable development in communities – Management system for sustainable development – Requirements with guidance for use ได้จัดเตรียมกรอบการดำเนินงานโดยรวมสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในชุมชนซึ่งช่วยให้เมืองกำหนดวัตถุประสงค์และจัดเตรียมกลยุทธ์ให้พร้อมสำหรับการบรรลุเป้าหมายของเมือง มาตรฐานระบบการจัดการนี้ครอบคลุมทุกสิ่งที่เมืองต้องให้ความสำคัญโดยผู้นำของเมือง เช่น การใช้ทรัพยากรอย่างมีความรับผิดชอบ การจัดการสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่และสุขภาพของพลเมือง การปกครอง  เป็นต้น

มาตรฐาน ISO 37101 ได้รับการสนับสนุนโดยมาตรฐานอื่นๆ อีกหลายมาตรฐานในเรื่องต่างๆ เช่น คำศัพท์ (ISO 37100) และตัวชี้วัดหลักสำหรับการวัดสมรรถนะของบริการของเมือง (ISO 37120) เป็นต้น

ผู้เชี่ยวชาญในคณะกรรมการไอเอสโอที่พัฒนามาตรฐานนี้ได้พัฒนาเอกสารแนวทางสำหรับโครงสร้างชุมชนอัจฉริยะ รวมทั้งมุมมองที่สำคัญเช่น การขนส่งอย่างมาตรฐาน ISO 37161, Smart community infrastructures – Guidance on smart transportation for energy saving in transportation services ซึ่งจัดเตรียมแนวทางสำหรับอุตสาหกรรมขนส่ง รัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลแห่งชาติพร้อมด้วยคำแนะนำวิธีการลดพลังงานที่ใช้ในการขนส่งสำหรับผู้โดยสาร การขนส่ง และบริการไปรษณีย์

เศรษฐกิจหมุนเวียนคืออนาคตของโลก
การเปลี่ยนแปลงจากสังคมที่ทิ้งขว้างสิ่งของเหลือใช้กลายมาเป็นการให้ความสำคัญกับสิ่งของทุกอย่างซึ่งสามารถนำไปใช้ซ้ำหรือแปรรูปได้อีก  คืออนาคตที่ยั่งยืนซึ่งมีการอนุรักษ์ทรัพยากรอันมีค่ายิ่งของโลกเอาไว้ และเป็นที่รู้จักกันในชื่อของ “เศรษฐกิจหมุนเวียน”

จากข้อมูลของสภาเศรษฐกิจโลก หรือ WEF (World Economic Forum) ระบุว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนคือโอกาสที่มีมูลค่านับล้านล้านเหรียญสหรัฐซึ่งสามารถสร้างงานและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ ไอเอสโอจึงตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของอนาคตที่ยั่งยืนและได้แต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 80 ประเทศเพื่อร่วมกันพัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน

มาตรฐานที่คณะกรรมการดังกล่าวกำลังพัฒนาอยู่ก็คือ มาตรฐาน ISO 59004, Circular economy – Framework and principles for implementation ซึ่งให้กรอบการทำงานและหลักการสำหรับการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ มาตรฐาน ISO 59010, Circular economy – Guidelines on business models and value chains ซึ่งให้แนวทางโมเดลธุรกิจและห่วงโซ่คุณค่า รวมทั้ง ISO/TR 59031, Circular economy – Performance-based approach – Analysis of cases studies ซึ่งเป็นรายงานวิชาการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่ค้นหาแนวทางเชิงสมรรถนะด้วยการวิเคราะห์กรณีศึกษา

การจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ
การที่องค์กรมีระบบการจัดการพลังงานที่เตรียมพร้อมอยู่เสมอ อย่างมาตรฐาน ISO 50001, Energy management systems – Requirements with guidance for use จะช่วยให้องค์กรและหน่วยงานต่างๆ สามารถบรรลุประสิทธิผลและรู้ว่าควรปรับปรุงในส่วนใดบ้าง

ส่วนมาตรฐาน ISO 17742, Energy efficiency and savings calculation for countries, regions and cities มีเป้าหมายสำหรับชุมชนโดยเฉพาะและจัดเตรียมวิธีการที่ใช้ตัวชี้วัดเป็นพื้นฐานสำหรับการคำนวณการประหยัดพลังงานซึ่งนำมาพิจารณาสำหรับผู้ใช้งานขั้นสุดท้าย เช่น บ้านเรือน อุตสาหกรรม บริการ เกษตรกรรม และการขนส่ง เป็นต้น

มาตรฐานเพื่อความยั่งยืนสำหรับการใช้พลังงานอาคาร
ขณะที่ประชากรโลกกำลังเพิ่มมากขึ้น ความต้องการในการใช้พลังงานก็มีมากขึ้นตามไปด้วย มีข้อมูลระบุว่าเมื่อปี 2562 (ค.ศ.2019) ภาคส่วนพลังงานทั่วโลกมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28% ซึ่งในด้านอาคารและการก่อสร้างเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพเป็นอย่างมากในการปรับปรุงประสิทธิภาพและการบรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์

คณะอนุกรรมการวิชาการของไอเอสโอ SC 17, Sustainability in buildings and civil engineering works กำลังพัฒนามาตรฐานอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยสร้างโอกาสในการสนับสนุนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในทุกแง่มุมของการค้าด้านอาคาร รวมถึงมาตรฐาน ISO 15392, Sustainability in buildings and civil engineering works – General principles และมาตรฐานชุด ISO 16745 ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ทำให้การวัดและการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอาคารเป็นเรื่องง่ายขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมอาคารและอุตสาหกรรมก่อสร้าง

เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่เน้นระบบ บริการ และกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองอันมีระบบที่เชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่อ  ช่วยให้หลายสิ่งหลายอย่างในเมืองเป็นไปได้นับตั้งแต่การปรับปรุงการใช้พลังงานไปจนถึงการลดปัญหาจราจรติดขัด

แม้ว่าเรื่องเหล่านี้จะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก แต่ชุดมาตรฐานใหม่ก็มีส่วนทำให้เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นเพราะมีการให้มุมมองของภาพรวมที่ชัดเจนว่าระบบต่างๆ มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร ดังนั้น ผู้นำของเมืองจึงสามารถระบุได้ว่าควรจะปรับปรุงส่วนใดเพื่อความมีประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับมาตรฐาน ISO/IEC 30145-3, Information technology – Smart City ICT reference framework – Part 3: Smart city engineering framework เน้นเรื่องกรอบการทำงานของวิศวกรรมเมืองอัจฉริยะจากมุมมองด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ประกอบด้วยระบบวิศวกรรมทั้งแนวตั้งและแนวนอนซึ่งให้ภาพที่ชัดเจนสำหรับเทคนิคที่แตกต่างกันและองค์ประกอบที่จำเป็นสำหรับกระบวนการธุรกิจเมืองอัจฉริยะ

ไอเอสโอได้ร่วมกับไออีซีพัฒนาชุดมาตรฐานใหม่นี้ซึ่งจะรวมถึงมาตรฐาน ISO/IEC 30145-1, Information technology – Smart City ICT reference framework – Part 1: Smart city business process framework, และ ISO/IEC 30145-2, Information technology – Smart City ICT reference framework – Part 2: Smart city knowledge management framework ด้วย

ผู้สนใจมาตรฐานดังกล่าวสามารถศึกษาได้จากห้องสมุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หรือสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ ISO Store

ที่มา :

  1. https://www.iso.org/news/ref2627.html
  2. https://www.weforum.org/agenda/2021/01/cities-climate-decarbonize-integrated/

 507 ผู้เข้าชมทั้งหมด