โอกาสใหม่ของสังคมสูงวัยกับมาตรฐานสากล

Share

2.1 ISO Standards SUPPORT AGEING SOCIETIESโลกของเรากำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉมหน้าในหลายด้านรวมทั้งด้านประชากรศาสตร์ซึ่งในหลายพื้นที่ของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมสูงวัย และมีผลกระทบต่อสังคมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รูปแบบการจ้างงาน

ไอเอสโอตระหนักถึงความสำคัญของสังคมสูงวัย  และได้ศึกษาวิจัยในเรื่องนี้โดยเน้นถึงแนวโน้มทั่วโลกในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์เพื่ออนาคตที่ดีกว่า เมื่อพิจารณาจากข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้แล้ว ไอเอสโอจึงสะท้อนถึงขอบเขตที่เป็นไปได้สำหรับงานด้านมาตรฐาน  ซึ่งผู้เชี่ยวชาญของไอเอสโอจะมาช่วยเปิดเผยแนวโน้มสำคัญระดับโลกดังรายละเอียดต่อไปนี้  (ผู้เชี่ยวชาญของไอเอสโอได้แก่ บริทตา เบอร์จ ประธานคณะกรรมการวิชาการไอเอสโอ ISO/TC 314, Aging societies และแอนน์ ลิฟวิงสโตน ผู้แทนคณะกรรมการวิชาการไอเอสโอด้านสังคมสูงวัยซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มงานด้านการสื่อสาร)

แนวโน้มประชากรสูงวัยทั่วโลก
ปรากฏการณ์ระดับโลกที่เห็นได้ชัด คือ ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศต่างๆ กำลังก้าวสู่สังคมสูงวัย และแนวโน้มยังคงเป็นเช่นเดิม  ระหว่างปี 2558 (ค.ศ.2015) ถึง 2593 (ค.ศ.2050) คาดว่าสัดส่วนของประชากรโลกที่มีอายุมากกว่า 60 ปีจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจาก 12% เป็น 22% ในขณะที่ยุโรปเป็นภูมิภาคแรกที่มีประชากรสูงอายุอย่างรวดเร็ว และการเติบโตของจำนวนผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมาจากประเทศกำลังพัฒนาในช่วงกลางศตวรรษ

การสูงวัยของประชากรโลกเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ดี เช่น การเสียชีวิตของเด็กที่ลดลง การเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น และการเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อที่ลดลง เป็นต้น ในหลายประเทศ ประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นพร้อมกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าในด้านหนึ่งจะหมายถึงว่าประชากรส่วนใหญ่กำลังเข้าสู่วัยเกษียณ แต่อีกด้านหนึ่งก็หมายถึงคนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงโอกาสและงานที่ดีขึ้น จุดเชื่อมต่อระหว่างแนวโน้มทั้งสองนี้ก่อให้เกิดความท้าทายที่มีลักษณะพิเศษ

ความท้าทายทางเศรษฐกิจ
ผู้สูงอายุมีความสำคัญต่อครอบครัว ชุมชน และสังคม  อย่างไรก็ตาม การมีประชากรผู้เกษียณอายุเป็นจำนวนมากโดยมีสัดส่วนที่ไม่สมดุลอาจก่อให้เกิดความท้าทายทางเศรษฐกิจ เช่น ต่อระบบสาธารณะ เป็นต้น แต่การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์นี้ก็ได้นำไปสู่การเกิดภาพใหม่เกี่ยวกับธรรมชาติของงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการฝึกอบรมและทักษะ

ทั้งนี้ เนื่องจากคนวัยทำงานที่กำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยยังคงมีสุขภาพที่ดีและนายจ้างก็ตระหนักถึงคุณค่าเฉพาะด้านที่มีอยู่ของคนเหล่านั้น ผู้คนในวัยนี้จึงยังคงเป็นส่วนหนึ่งของแรงงานที่มีคุณค่าและมีความกระตือรือร้นในการทำงานต่อไปอีกยาวนาน ผู้คนจำนวนมากจึงยังคงอยู่ในตลาดแรงงานนานขึ้น  ทำให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในสังคม

เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าจำนวนคนที่ก้าวสู่วัยทำงานจะลดลงอย่างมากในปีต่อๆ ไป หลายประเทศก็กำลังเผชิญกับอัตราส่วนการพึ่งพาอาศัยกันที่ลดลง  ซึ่งหมายถึงความไม่สมดุลของขนาดของประชากรในวัยทำงานกับขนาดของประชากรที่เกษียณอายุ สิ่งนี้จึงสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจให้กับผู้ใหญ่วัยทำงานมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มด้านประชากรศาสตร์เหล่านี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในการจัดการด้านสุขภาพและการดูแลสังคม และการออกแบบสภาพแวดล้อมที่ “เป็นมิตรกับวัย” มากขึ้น  ดังนั้น จึงต้องมีการเพิ่มมาตรฐานสากลให้มากขึ้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาและการใช้งานนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงแนวทางสำหรับสถานที่ทำงานที่ครอบคลุมมากขึ้นรวมถึงเครื่องมือตรวจสอบสุขภาพใหม่ๆ ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตได้อย่างกระตือรือร้นและได้รับการเติมเต็มชีวิตให้สมบูรณ์ขึ้น ตลอดจนมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ

องค์กรต้องตอบสนองคนวัยทำงานหลายช่วงอายุ
ในขณะที่ประเทศต่างๆ กำลังต่อสู้กับปัญหาประชากรสูงอายุ คนรุ่นใหม่ก็กำลังเข้ามาเปลี่ยนโฉมโลกแห่งการทำงานซึ่งบางแห่งมีพนักงานถึงห้าชั่วอายุคน และความต้องการและความคาดหวังก็เปลี่ยนไปเมื่อระบบเก่าใช้การไม่ได้อีกต่อไป

มีคนหนุ่มสาวจากทั่วทุกมุมโลกใช้ชีวิตแบบออนไลน์ทั้งเรียนและทำงานมากขึ้นเรื่อย ๆ และสามารถติดต่อเชื่อมโยงถึงกันมากกว่าในอดีต โดยทั่วไป คนหนุ่มสาวจะถูกมองว่ามีส่วนร่วมทางการเมืองแม้กระทั่งก่อนเข้าทำงานจากการแสดงความคิดเห็นที่หนักแน่นเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความยุติธรรมทางสังคม เป็นต้น

ในขณะที่คนรุ่นใหม่มีการศึกษา มีอุดมการณ์ และเข้าใจเทคโนโลยีได้เข้าไปอยู่ในตลาดแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบริบทของเศรษฐกิจที่สั่นสะเทือนจากวิกฤตการณ์ที่ต่อเนื่องกัน พวกเขาก็มีศักยภาพที่จะช่วยขับเคลื่อนโลกแห่งการทำงานไปสู่อนาคตที่ดีกว่าสำหรับทุกคนซึ่งนายจ้างต้องตอบสนองต่อความต้องการ ความชอบ และนิสัยที่เปลี่ยนแปลงไปของแรงงานข้ามรุ่นกลุ่มใหม่นี้เพื่อเพิ่มทักษะและศักยภาพของพนักงานทุกคน

มาตรฐานเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
แนวโน้มจากรุ่นสู่รุ่นและการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ที่กล่าวมานั้นเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสที่สำคัญสำหรับสังคมโดยรวม คณะกรรมการวิชาการไอเอสโอ ISO/TC 314, Ageing societies ซึ่งมุ่งเน้นไปที่สังคมสูงวัย จึงได้ให้สนใจไปที่ความต้องการมาตรฐานใหม่ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ เช่น สถานที่ทำงานที่เป็นมิตรต่อผู้สูงวัย มาตรฐานการออกแบบสากล ชุมชนที่ให้ความสำคัญกับผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อม ความเชื่อมโยงทางสังคม และชุมชนหลายรุ่น แต่ท้ายที่สุด ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมก็จะต้องอาศัยคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่วัยหนุ่มสาวไปจนถึงผู้สูงวัย ดังนั้น คนทุกวัยจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดมาตรฐานในขณะนี้

ปัจจุบัน ไอเอสโอกำลังก้าวนำเทรนด์สังคมสูงวัยเพื่อให้ทั่วโลกมีแนวทางนำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องไปใช้ในอนาคต โดยคณะกรรมการวิชาการไอเอสโอดังกล่าวได้ทำการพัฒนามาตรฐานรวม 7 ประเภท ได้แก่บริการดูแลชุมชนและในบ้าน  การใช้เทคโนโลยีและการให้ความช่วยเหลือ  การดูแลรักษา การจัดการข้อมูลแบบบูรณาการ การวางแผนอนาคต  การช่วยเหลือชุมชน และมาตรฐานอาคาร

ที่มา: 1. https://www.iso.org/contents/news/2022/08/embracing-the-silver-society.html
2. https://committee.iso.org/home/tc314

 849 ผู้เข้าชมทั้งหมด