มตช. 2-2562 แนวทางการใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร

1. ชื่อมาตรฐาน

ภาษาอังกฤษ :  FRAMEWORK FOR IMPLEMENTING THE PRINCIPLES OF THE CIRCULAR ECONOMY IN ORGANIZATIONS – GUIDE

ภาษาไทย :  แนวทางการใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร

2. การประกาศใช้

20 ธันวาคม 2562

3. หน่วยงานเจ้าของมาตรฐาน

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

4. ประเภทมาตรฐาน

เป็นมาตรฐานแนวทางปฏิบัติ ไม่สามารถขอการรับรองได้ แต่สามารถขอรับการทวนสอบ (Verify) ได้ เพื่อแสดงความสอดคล้องของการนำมาตรฐานไปปฏิบัติ

5. ขอบเขตและการนำมาตรฐานไปใช้

มาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาตินี้ ระบุกรอบการดำเนินงานและข้อแนะนำในการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ในองค์กร ซึ่งข้อแนะนำนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้กับองค์กรใดๆ โดยไม่    คำนึงถึงสถานที่ตั้ง ขนาด กลุ่มประเภท และรูปแบบการดำเนินธุรกิจ

6. ประโยชน์ของการนำมาตรฐานไปใช้

เศรษฐกิจหมุนเวียน มีเป้าประสงค์เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโลกให้สามารถเติบโตได้ในระยะยาวและมีศักยภาพที่จะช่วยให้เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจพร้อมกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ตลอดจนสนับสนุนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงผลกระทบอาจที่เกิดขึ้นตามมา

  • ประโยชน์ระดับมหภาค

1) ลดการพึ่งพาการหาวัตถุดิบปฐมภูมิใหม่ๆ เนื่องจากมีการหมุนเวียนวัสดุให้อยู่ในวัฏจักรทั้งในท้องถิ่นและในเขตพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ช่วยลดความผันผวนของราคาสินค้าซึ่งเป็นความเสี่ยงหลักของธุรกิจที่ต้องพึ่งพาการนำเข้า และช่วยให้ระบบเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ดีขึ้น

2) ลดปัญหาด้านวัสดุและพลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัดและส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และทำให้องค์กรสามารถขยายการเจริญเติบโตต่อไปยังตลาดที่เกิดใหม่

3) รักษาต้นทุนธรรมชาติและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

  • ประโยชน์ระดับจุลภาค

1) ลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนสุทธิของการผลิต การได้มาและการใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการรูปแบบต่างๆ

2) สร้างนวัตกรรมและแหล่งรายได้ใหม่ ทั้งนี้ แหล่งรายได้ใหม่ดังกล่าว อาจมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการหรือการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากเดิม จึงควรมีการประเมินประโยชน์โดยรวมสุทธิ และควรระบุความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงสภาพตลาด

3) ปรับปรุงความสัมพันธ์กับลูกค้า องค์กรมีโอกาสที่จะสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้ามากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาฐานลูกค้า ความภักดีต่อแบรนด์ของสินค้า และจำนวนเข้าเยี่ยมชมหน้าร้านหรือหน้าเว็บไซต์

4) การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจขององค์กรที่ดีขึ้นจากการลดการพึ่งพาการนำเข้าหรือจัดหาวัตถุดิบปฐมภูมิใหม่ๆ และความท้าทายอื่นที่เกี่ยวข้อง

7.สาระสำคัญของมาตรฐาน

     มาตรฐานนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่

1) การอธิบายว่าเศรษฐกิจหมุนเวียน คืออะไร และทำไมถึงต้องเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติงานให้มีการหมุนเวียนและยั่งยืนมากขึ้น โดยหัวข้อที่ 3 มีจุดมุ่งหมายที่ช่วยให้องค์กรเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจ หมุนเวียนมากยิ่งขึ้น และมีความเกี่ยวข้องกับองค์กรอย่างไร

2) การอธิบายว่าองค์กรสามารถนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนไปดำเนินการในบริบทขององค์กรได้อย่างไร โดยส่วนนี้เป็นเนื้อหาหลักของมาตรฐาน  โดยแบ่งเป็น “หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน”“กรอบการดำเนินงาน” และ “ข้อแนะนำ”

3) หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนหัวข้อที่ 4 เป็นการสรุปหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งเป็นส่วนพื้นฐานสำหรับกรอบการดำเนินงาน และให้กรอบกลยุทธ์สำหรับการอ้างอิงในการตัดสินใจและการทำกิจกรรมที่สอดคล้องกับข้อแนะนำที่ให้ไว้

4) กรอบการดำเนินงานหัวข้อที่ 5 เป็นการกล่าวถึงกรอบการดำเนินงานสำหรับองค์กรที่ตั้งใจจะนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ และปรับเปลี่ยนไปสู่รูปแบบการดำเนินการให้เป็นแบบหมุนเวียนและยั่งยืนมากขึ้น

5) ข้อแนะนำ หัวข้อที่ 6 และหัวข้อที่ 7 ให้ข้อแนะนำที่เป็นส่วนสนับสนุนและมีจุดมุ่งหมายให้อ่านควบคู่ไปกับหัวข้อที่ 5 โดยส่วนนี้ให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับกลไกสนับสนุนและรูปแบบธุรกิจ ซึ่งช่วยสนับสนุนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินการให้เป็นแบบหมุนเวียนและยั่งยืนมากขึ้น รวมทั้งให้ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้พิจารณาเมื่อมีการใช้กรอบการดำเนินงานนี้

องค์ประกอบต่างๆ ในกรอบการดำเนินงานและข้อแนะนำนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นจากประสบการณ์และการเรียนรู้บทเรียนจากหลากหลายองค์กรทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่พยายามดำเนินการแบบหมุนเวียน ซึ่งมีหลายประเด็นที่สะท้อนว่า สิ่งใดควรเป็นพื้นฐานของแนวปฏิบัติธุรกิจแบบยั่งยืนที่ดี แต่ในมาตรฐานนี้ประเด็นเหล่านั้นจะถูกพิจารณาจากมุมมองของเศรษฐกิจหมุนเวียนเท่านั้น

6) ภาคผนวก ก การประเมินผลการดำเนินงานตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน

7) ภาคผนวก ข กลยุทธ์ที่มีศักยภาพในการออกแบบการหมุนเวียน และรายการตรวจสอบที่เกี่ยวข้อง

8.แหล่งข้อมูลอ้างอิง

–  http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/019/T_0008.PDF

–  http://carbonmarket.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=Y2VfaXM=

ปรับปรุงข้อมูลเมื่อเดือนมีนาคม 2564