มอก. 18001:2554 / BS OHSAS 18001:2007

1.ชื่อมาตรฐาน
(ภาษาไทย) มอก.18001-2554 ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
(ภาษาอังกฤษ) BS OHSAS 18001 : 2007 Occupational Health and Safety Management System (OHSMS)

2.การประกาศใช้
มอก. : วันที่ 1 กันยายน 2554
BS OHSAS : July 2007

3.หน่วยงานเจ้าของมาตรฐาน
มอก. : สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
BS OHSAS : British Standards Institution (BSI)

4.ประเภทมาตรฐาน
มอก. 18001 และ BS OHSAS 18001 เป็นมาตรฐานระบบการจัดการ สามารถขอการรับรองจากหน่วยรับรองระบบ (Certification Body) ที่ให้บริการได้

5.ขอบเขตและการนำมาตรฐานไปใช้
มาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย: มอก.18001-2554 กำหนดขึ้นโดยอ้างอิง Guide to Occupational Health and Safety Management System, ISO 9001 และ ISO 14001 อาศัยหลักของระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเข้ากับระบบการจัดการขององค์กร โดยมีเป้าหมายเพื่อลดและควบคุมความเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และช่วยในการปรับปรุงสมรรถนะด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยขององค์กร โดยเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของธุรกิจให้เกิดความปลอดภัยและส่งเสริมภาพพจน์ด้านความรับผิดชอบขององค์กรที่มีต่อพนักงานและสังคม

มาตรฐาน มอก. 18001 และ BS OHSAS 18001 ได้กำหนดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดระบบการตรวจประเมินและการรับรองความสอดคล้องของระบบการจัดการ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับองค์กรทุกประเภท
นอกจากนี้ ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มอก. 18001 และ BS OHSAS 18001 ยังได้รับการพัฒนาให้มีความสอดคล้องกับ ISO 9001 และ ISO 14001 เพื่อให้สามารถบูรณาการเป็นระบบการจัดการเดียวกัน อีกทั้งให้องค์กรนำไปใช้ร่วมกับระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่ได้ดำเนินการอยู่แล้วในองค์กร

6.สาระสำคัญของมาตรฐาน
โครงสร้างของมาตรฐาน ประกอบด้วยข้อ 1 ขอบข่าย ข้อ 2 การนำไปใช้ ข้อ 3 บทนิยาม ข้อ 4 ข้อกำหนดของระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ซึ่งประกอบด้วย

ข้อกำหนดทั่วไป โดยองค์กรต้องจัดทำระบบการจัดการเป็นลายลักษณ์อักษร นำไปปฏิบัติ รักษาไว้ และพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
นโยบายอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต้องกำหนดนโยบาย จัดทำเป็นเอกสารและลงนามกำกับ เผยแพร่ให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบและเข้าใจ
การวางแผน ประกอบด้วย การชี้บ่งอันตรายและการประเมินความเสี่ยง การชี้บ่งและติดตามกฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างทันสมัย และการกำหนดวัตถุประสงค์และแผนงาน
การนำไปใช้และการปฏิบัติ ประกอบด้วย ทรัพยากร บทบาท อำนาจหน้าที่ และภาระรับผิดชอบ ความสามารถ การฝึกอบรม และการมีจิตสำนึก การสื่อสาร การมีส่วนร่วม และการปรึกษา การควบคุมเอกสาร การควบคุมการปฏิบัติงาน และการเตรียมความพร้อมและการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน
การตรวจสอบและการแก้ไข โดยต้องมีการติดตามตรวจสอบและวัดผลการดำเนินการ การประเมินผลการปฏิบัติ มีการสอบสวนอุบัติการณ์ ความไม่สอดคล้องตามข้อกำหนด การปฏิบัติการแก้ไขและการปฏิบัติการป้องกัน รวมถึงการจัดทำและจัดเก็บบันทึก และการตรวจประเมินภายใน
การทบทวนการจัดการ โดยผู้บริหารระดับสูงต้องทบทวนระบบฯ ตามช่วงเวลาที่กำหนด เพื่อการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

7.ประโยชน์ในการนำมาตรฐานไปปฏิบัติ

ช่วยลดต้นทุนในระยะยาว เนื่องจากสามารถควบคุมและลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นต่อบุคลากร และทรัพย์สิน อาจรวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
เกิดสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี พนักงานมีความปลอดภัยในการทำงาน
สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กร
มีการพัฒนาบุคลากรให้มีการวางแผน การทำงานร่วมกัน การพัฒนาความรู้เกี่ยวกับระบบการจัดการ การเฝ้าระวังและตรวจสอบ รวมถึงการแก้ไขข้อบกพร่องและการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานมากขึ้น
ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

8.แหล่งข้อมูลและเอกสารอ้างอิง

http://www.bsigroup.com/en-GB/ohsas-18001-occupational-health-and-safety/
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2554/E/099/11.PDF
http://medinfo2.psu.ac.th/healthpromotion/images/stories/New%20folder/_.18001.pdf
http://www.stou.ac.th/schools/shs/booklet/book55_2/frommag.htm

ปรับปรุงข้อมูลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555