มอก. 9999

1. ชื่อมาตรฐาน
(ภาษาไทย) มอก.9999 เล่ม 1- 2556 มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม (Guidance on Sufficiency Economy for Industries)

2. วันที่ประกาศใช้
วันที่ 4 เมษายน 2556

3. หน่วยงานเจ้าของมาตรฐาน
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม

4. ประเภทมาตรฐาน
มอก.9999 ไม่ใช่มาตรฐานระบบการจัดการ และไม่มีจุดมุ่งหมายให้นำไปใช้เพื่อการรับรอง

5. ขอบข่ายการนำไปใช้
สำหรับองค์กรภาคอุตสาหกรรมทุกประเภท ขนาด และที่ตั้ง เพื่อ

ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรและองค์กร ให้มีการบริหารจัดการและการดำเนินงาน โดยยึดหลักการของมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม มีความมั่นคง เติบโตได้อย่างยั่งยืน และมีความสุข พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก รวมทั้งความไม่แน่นอน
แสดงให้เห็นความสามารถในการบริหารองค์กรที่สะท้อนถึงการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้อย่างสม่ำเสมอ

6. ประโยชน์ที่ได้รับจากการนำมาตรฐานไปใช้

ช่วยให้ผู้ประกอบการมีภูมิคุ้มกันตัวเอง ในช่วงที่เศรษฐกิจมีความผันผวน ทั้งเรื่องของผลกระทบค่าเงิน ผลกระทบต้นทุนที่สูงขึ้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทั้งการเมือง และกฎระเบียบต่าง ๆ เป็นต้น เพราะการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะช่วยให้องค์กรมีความเตรียมพร้อมทั้งบุคลากร และองค์กร รวมถึงการลงทุนที่ไม่ควรเกินความสามารถของผู้ประกอบการอีกด้วย
ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถประคองกิจการอยู่รอดภายใต้สภาวะการแข่งขันที่สูง
ช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้ทุกสภาวะ (โดยเฉพาะช่วงที่ต้นทุนการผลิตสินค้ามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่ม)

7. สาระสำคัญของมาตรฐาน
มอก.9999 ประกอบด้วย บทนิยาม หลักการ แนวทางเกี่ยวกับองค์ประกอบของเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม และแนวทางการบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมทั่วทั้งองค์กร

ภาพรวมของมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม

หลักการของมาตรฐาน

การมีส่วนร่วมของบุคลากร
การเคารพต่อผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย
การบริหารแบบองค์รวม
การบริหารเชิงระบบ

แนวทางเกี่ยวกับองค์ประกอบของเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม

ในการนำมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมไปปฏิบัติ องค์กรควรพิจารณาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ความรู้ คุณธรรม

แนวทางการบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมทั่วทั้งองค์กร

ผู้บริหารระดับสูงควรมีบทบาทในการนำองค์กร ประพฤติตนเป็นแบบอย่าง และกำหนดทิศทางองค์กร ทำให้มั่นใจว่าบุคลากรในองค์กรมีความสามัคคีและมีส่วนร่วม จัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นอย่างเพียงพอ มีการใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ องค์กรมีการปฏิบัติตามกฎหมาย และดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสและมีจริยธรรม ให้ความสำคัญกับการแบ่งปัน และการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งวัฒนธรรมควบคู่กับการดำเนินธุรกิจ และมีการทบทวนการดำเนินงานตามช่วงเวลาที่กำหนด
การวางแผน โดยองค์กรควรมีการวางแผนเพื่อนำไปปฏิบัติ กำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบที่ชัดเจน มีการติดตามเฝ้าระวัง การวัดผลและการทบทวน และการปรับปรุง ตามความเหมาะสม
การนำไปปฏิบัติ โดยองค์กรควรควบคุมการดำเนินงานด้านต่างๆ ได้แก่ บุคลากร เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้เป็นไปตามกลยุทธ์ วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ และนโยบายด้านเศรษฐกิจพอเพียงที่กำหนดไว้ องค์กรควรมีการกำหนดช่องทางและวิธีการในการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กรเกี่ยวกับการดำเนินการ ประสิทธิผล และผลลัพธ์ของการนำไปปฏิบัติ ตามความเหมาะสม
การติดตามเฝ้าระวัง การวัดผล และการทบทวน โดยองค์กรควรกำหนดวิธีการและติดตามเฝ้าระวัง และทบทวนผลการดำเนินงาน ตามช่วงเวลาที่กำหนด
การปรับปรุง โดยองค์กรควรปรับปรุง พัฒนา และขยายผลการดำเนินงานตามมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม อย่างเป็นขั้นตอนและต่อเนื่อง ผ่านนโยบาย กลยุทธ์ วัตถุประสงค์ การติดตามเฝ้าระวัง การวัดผลและการทบทวนผลการดำเนินงาน การป้องกันและการแก้ไข หรือการมีส่วนร่วมของบุคลากรและเครือข่าย

ภาคผนวก

หลักการทรงงาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

8. แหล่งข้อมูลอ้างอิง

www.ratchakitcha.soc.go.th
สรุปประเด็นข่าวสำคัญ : ประจำวันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 โดยสำนักวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ปรับปรุงข้อมูลเมื่อเดือนมีนาคม 2556