ISO 14001:2015 / มอก.14001-2559

1. ชื่อมาตรฐาน
(ภาษาอังกฤษ) ISO 14001:2015 Environmental Management System: Requirements

2. การประกาศใช้
15 กันยายน 2015

3. หน่วยงานเจ้าของมาตรฐาน
ISO : International Organization for Standardization (TC 207/SC 1 Environmental management systems)

4. ประเภทมาตรฐาน
ISO 14001 เป็นมาตรฐานระบบการจัดการ สามารถขอการรับรองจากหน่วยรับรองระบบ (Certification Body) ที่ให้บริการได้

5. ขอบเขตและการนำมาตรฐานไปใช้
ISO 14001:2015 มุ่งให้องค์กรมีการบูรณาการการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารกลยุทธ์ตามปกติขององค์กร การนำไปประยุกต์ใช้ช่วยให้องค์กรบรรลุผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยครอบคลุมการเพิ่มสมรรถนะการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม การเป็นไปตามข้อบังคับผูกพันที่เกี่ยวข้อง และการบรรลุวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งช่วยสร้างคุณค่าให้เกิดกับสิ่งแวดล้อม องค์กร และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง
มาตรฐานนี้สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกองค์กร ทุกขนาด โดยปรับใช้กับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ และบริการซึ่งองค์กรพิจารณาแล้วว่าสามารถควบคุมได้หรือมีผลต่อองค์กรโดยพิจารณาในมุมมองวงจรชีวิต (Life cycle) เช่น การพิจารณาการได้มาซึ่งวัตถุดิบที่องค์กรใช้ การออกแบบ การผลิต การขนส่ง การใช้ผลิตภัณฑ์ การให้บริการ การบำบัดหรือการกำจัดเมื่อผลิตภัณฑ์นั้นหมดอายุการใช้งาน เป็นต้น

6. สาระสำคัญของมาตรฐาน
ในมาตรฐาน ISO 14001: 2015 ใช้โครงสร้างใหม่ ประกอบด้วย ข้อกำหนด 10 ข้อ ที่เรียกว่า High Level Structure ตาม ANNEX SL

มาตรฐานนี้ กล่าวถึงขอบข่าย บทนิยาม และข้อกำหนดของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยสาระสำคัญ ดังนี้

ข้อ 4 บริบทองค์กร

มีความเข้าใจในองค์กรและบริบทขององค์กร โดยพิจารณาปัจจัยภายนอกและภายในที่เกี่ยวข้องกับจุดประสงค์ขององค์กร และมีผลกระทบต่อความสามารถขององค์กรในการบรรลุผลลัพธ์ตามที่คาดหวังไว้
เข้าใจถึงความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย
กำหนดขอบเขตและขอบข่ายของการนำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมไปประยุกต์ใช้ โดยต้องพิจารณาถึงองค์กร บริบทองค์กร และความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย

ข้อ 5 ความเป็นผู้นำ

ผู้บริหารต้องกำหนดนโยบาย วัตถุประสงค์ เป้าหมาย ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์องค์กร การกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ และอำนาจหน้าที่ในองค์กร และการจัดสรรทรัพยากร
ผู้บริหารต้องส่งเสริมให้มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

ข้อ 6 การวางแผน

วางแผนการปฏิบัติ โดยพิจารณาถึงบริบทองค์กร และความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย และให้มีการระบุความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ข้อบังคับผูกมัด ประเด็นหลักที่ได้จากการพิจารณาบริบทองค์กร และความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมบรรลุผลลัพธ์ที่มุ่งหวัง ป้องกันหรือลดผลกระทบที่ไม่ต้องการ และให้มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
การระบุปัญหาด้านสิ่งแวดล้อโดยพิจารณามุมมองด้านวงจรชีวิตที่สามารถควบคุมและที่สามารถมีอิทธิพลต่อองค์กร
การระบุและเข้าถึงข้อบังคับผูกมัดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมและนำไปปฏิบัติ
กำหนดและสื่อสารวัตถุประสงค์และแผนงานไปยังหน่วยงานต่างๆ ในองค์กร

ข้อ 7 การสนับสนุน

องค์กรต้องจัดเตรียมทรัพยากรที่จำเป็น
องค์กรต้องกำหนดคุณสมบัติของบุคลากรที่รับผิดชอบ และจัดให้มีการพัฒนาทักษะและความรู้ความสามารถที่จำเป็นต่อการดำเนินงาน
การสร้างความตระหนักให้แก่บุคลากรในด้านนโยบาย การมีส่วนร่วม บทบาทหน้าที่ และสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อระบบ
การสื่อสารภายในและภายนอกองค์กร
การจัดเก็บเอกสารสารสนเทศตามข้อกำหนด การควบคุม และจัดทำเอกสารสารสนเทศให้ทันสมัย

ข้อ 8 การดำเนินการ

องค์กรต้องมีการวางแผนและควบคุมการดำเนินงาน โดยกำหนดเกณฑ์ควบคุมของกระบวนการและดำเนินการควบคุมให้เป็นไปตามเกณฑ์นั้น
การควบคุมกระบวนการโดยพิจารณาในมุมมองด้านวงจรชีวิตตั้งแต่การได้มาของวัตถุดิบ การออกแบบและพัฒนา การขนส่ง การใช้ผลิตภัณฑ์/บริการ การบำบัด/กำจัดเมื่อผลิตภัณฑ์นั้นหมดอายุการใช้งาน
การเตียมการและตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน

ข้อ 9 การประเมินสมรรถนะ

การเฝ้าระวัง การวัด การวิเคราะห์ และการประเมินสมรรถนะการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม และการประเมินความสอดคล้อง
การตรวจประเมินภายใน
การทบทวนฝ่ายบริหาร

ข้อ 10 การปรับปรุง

องค์กรต้องปฏิบัติการแก้ไขเมื่อเกิดความไม่เป็นไปตามข้อกำหนด
การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

7. ประโยชน์จากการจัดทำมาตรฐาน
การนำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 มาใช้จะก่อให้เกิดประโยชน์หลายด้าน ได้แก่

ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับกิจกรรมการดำเนินงาน ผลิตภัณฑ์ และบริการที่เกี่ยวข้องขององค์กร
สนองความต้องการของลูกค้ารวมถึงผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากในปัจจุบันให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น
ลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบและพลังงาน และการบำบัดมลพิษ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า
เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาลูกค้า ผู้บริโภค ภาครัฐ และผู้มีส่วนได้เสียอื่น
เพิ่มโอกาสทางธุรกิจและลดปัญหาการค้าระหว่างประเทศ

8. แหล่งข้อมูลและเอกสารอ้างอิง

http://www.iso.org/iso/catalogue_detail?csnumber=60857
เอกสารประกอบการบรรยายการฝึกอบรมหลักสูตร Transition to ISO 14001:2015, สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ

ปรับปรุงข้อมูลเมื่อเดือนเมษายน 2559