ISO 20121: 2012

1. ชื่อมาตรฐาน
(ภาษาอังกฤษ) ISO 20121: 2012 Event sustainability management systems — Requirements with guidance for use

2. วันที่ประกาศใช้
ISO : 15 June 2012

3. หน่วยงานเจ้าของมาตรฐาน
ISO : International Organization for Standardization (Technical Management Board: TMB)

4. ประเภทมาตรฐาน
ISO 20121 เป็นมาตรฐานระบบการจัดการ สามารถขอการรับรองจากหน่วยรับรองระบบ (Certification Body / 3rd party) ที่ให้บริการได้ หรือองค์กรสามารถแสดงตน (Self declare/ 1st party) ว่าดำเนินการสอดคล้องตามมาตรฐาน หรือเป็นการทวนสอบโดยผู้ที่มีส่วนได้เสีย (2nd party)

5. ขอบข่ายการนำไปใช้
สามารถใช้ได้กับองค์กรทุกประเภท ทุกขนาดที่ต้องการ

สร้าง ประยุกต์ใช้ บำรุงรักษา และปรับปรุงระบบการจัดการงานอีเว้นต์ (Event) (เช่น งานประชุม สัมมนา นิทรรศการ) อย่างยั่งยืน
ให้มั่นใจว่ามีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กร

ผู้ที่เกี่ยวข้องและได้รับประโยชน์จากการนำมาตรฐานไปใช้ คือ ผู้ที่อยู่ในโซ่อุปทาน เช่น ผู้ดำเนินการ (Event Organizer) เจ้าของงาน เจ้าหน้าที่ ผู้จัดอาหาร ผู้ก่อสร้าง ผู้เข้าร่วมงาน เป็นต้น

6. ประโยชน์ที่ได้รับจากการนำมาตรฐานไปใช้
ผู้ที่มีเกี่ยวข้องและได้รับประโยชน์จากการนำมาตรฐานไปใช้ คือ ผู้ที่อยู่ในโซ่อุปทาน เช่น ผู้ดำเนินการ (Event Organizer) เจ้าของงาน เจ้าหน้าที่ ผู้จัดอาหาร ผู้ก่อสร้าง ผู้เข้าร่วมงาน เป็นต้น ส่วนองค์กรที่นำมาตรฐานนี้ไปประยุกต์ใช้จะได้ประโยชน์ คือ

สามารถระบุได้ถึงการประหยัดต้นทุนการดำเนินงาน
พัฒนาภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของการจัดงานอีเว้นท์
ทราบถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีการติดตามและการควบคุมผลกระทบ ด้วยการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ตลอดห่วงโซ่อุปทาน
มั่นใจได้ว่าองค์กรมีความตระหนักและปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านการจัดการงานอีเว้นท์
ขยายฐานลูกค้าและผู้สนับสนุนต่อกิจกรรม/งานอีเว้นท์

7. สาระสำคัญของมาตรฐาน

ISO 20121 ระบุข้อกำหนดสำหรับการนำไปปฏิบัติ ได้แก่

การทำความเข้าใจต่อความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย กำหนดขอบข่ายของการจัดทำระบบการจัดการงานอีเว้นท์อย่างยั่งยืน (Event sustainability management systems: ESMS) โดยต้องระบุหลักการการพัฒนาอย่างยั่งยืน (governing principles) และถ้อยแถลงเกี่ยวกับเป้าหมายและคุณค่าขององค์กร
ภาวะผู้นำ กล่าวถึง บทบาทของผู้นำและการแสดงความมุ่งมั่น การกำหนดนโยบาย การกำหนดบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ และอำนาจหน้าที่ของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
การวางแผน กล่าวถึง การระบุความเสี่ยงและโอกาสที่มีผลต่อ ESMS ประเมินและระบุวิธีการจัดการปัจจัยที่จะส่งผลต่อ ESMS การระบุถึงกฎหมาย/กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและดำเนินการให้มีข้อมูลที่ทันสมัย และการระบุวัตถุประสงค์และแนวทางดำเนินการเพื่อให้บรรลุผล
การสนับสนุน กล่าวถึง การจัดการทรัพยากรที่จำเป็นอย่างเพียงพอต่อ ESMS การระบุความสามารถของบุคลากรที่ต้องการสำหรับ ESMS และต้องมั่นใจได้ว่าบุคคลเหล่านั้นมีคุณสมบัติเพียงพอตามที่ระบุ การสร้างความตระหนักให้แก่คนที่ทำงานภายใต้การควบคุมขององค์กร การจัดการด้านการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร การจัดการระบบเอกสาร
การนำไปปฏิบัติ กล่าวถึง การวางแผนการดำเนินการและการควบคุม การจัดการกับกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่มีการแก้ไข การจัดการในห่วงโซ่อุปทาน
การประเมินผลการดำเนินงาน กล่าวถึง การประเมินผลการดำเนินงานกับหลักการการพัฒนาอย่างยั่งยืน การติดตาม การวัด การวิเคราะห์ และการประเมินผล การตรวจติดตามภายใน การทบทวนของฝ่ายบริหาร
การปรับปรุง กล่าวถึง การจัดการกับความไม่สอดคล้องและการแก้ไข และการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

8. แหล่งข้อมูลอ้างอิง

http://www.iso.org/iso/catalogue_detail?csnumber=54552
Sustainable events with ISO 20121 (Brochure)

ปรับปรุงข้อมูลเมื่อเดือนมีนาคม 2556