ISO 22000 : 2018

1. ชื่อมาตรฐาน
(ภาษาอังกฤษ) ISO 22000: 2018 Food safety management systems — Requirements for any organization in the food chaince for use

2. การประกาศใช้เมื่อ
ISO : 18 June 2018

3. หน่วยงานเจ้าของมาตรฐาน (ผู้ประกาศใช้)
ISO : International Organization for Standardization (ISO/TC 34 Food Products)

4. ประเภทมาตรฐาน
ISO 22000 เป็นมาตรฐานระบบการจัดการ สามารถขอการรับรองจากหน่วยรับรองระบบ (Certification Body) ที่ให้บริการได้

5. ขอบเขตและการนำมาตรฐานไปใช้
ISO 22000 เป็นมาตรฐานระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องการควบคุมด้านสุขลักษณะที่ดีในการผลิต และการควบคุมด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ เช่น ยา เครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์ที่สามารถสัมผัสกับอาหารโดยตรง

6. สาระสำคัญของมาตรฐาน
มาตรฐาน ISO 22000 จะครอบคลุมทั้งข้อกำหนดของ GMP, HACCP และข้อกำหนดสำหรับระบบการจัดการในองค์กร มาตรฐานดังกล่าวเน้นที่ผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาการจัดการความปลอดภัยของ อาหารให้มีความชัดเจน โดยจะเป็นที่รวมของข้อกำหนดในมาตรฐานต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อประกันความปลอดภัยของสินค้าตลอดเส้นทางห่วงโซ่อาหาร โดยเน้นที่การสื่อสารร่วมกันระบบการจัดการและการควบคุมอันตราย มีวัตถุประสงค์เพื่อประกันว่ามีการกำหนดรายละเอียดการตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยของอาหารอย่างถูกต้องเหมาะสม และมีกระบวนการควบคุมตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพในทุกขั้นตอน โดยอาศัยข้อมูลจากการสื่อสารระหว่างผู้มีส่วนร่วมในห่วงโซ่อาหารทุกราย ให้ข้อมูลและหลักฐานตามความต้องการของลูกค้าและตัวแทนจำหน่ายในด้านความเป็น ไปได้ ความจำเป็น และผลกระทบที่มีต่อผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายโดยอาศัยข้อมูลจากการสื่อสารระหว่าง ลูกค้าและตัวแทนจำหน่าย

ข้อกำหนดของมาตรฐาน ข้อกำหนดของ ISO 22000 ประกอบด้วยข้อกำหนด 10 ข้อ และภาคผนวก 3 ส่วน ซึ่งข้อกำหนดมีดังนี้

ภาพวงจร Plan-Do-Check-Act แบบ 2 ระดับ

ข้อ 1 ขอบข่าย (Scope) เป็นการนำมาตรฐานไปใช้ในองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อาหารเพื่อทำผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย และกล่าวถึงคุณสมบัติขององค์กรที่เป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานนี้
ข้อ 2 เอกสารอ้างอิง (Normative reference) ไม่มีมาตรฐานอ้างอิง
ข้อ 3 คำศัพท์และบทนิยาม (Terms and definitions) ประกอบด้วยคำนิยามที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานฉบับนี้ และ Food safety food chain การประเมินอันตราย และจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม เป็นต้น
ข้อ 4 บริบทองค์กร
– มีความเข้าใจในองค์กรและบริบทขององค์กร โดยพิจารณาปัจจัยภายนอกและภายในที่เกี่ยวข้องกับจุดประสงค์ขององค์กร และมีผลกระทบต่อความสามารถขององค์กรในการบรรลุผลลัพธ์ตามที่ต้องการของระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร
– เข้าใจถึงความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย
– กำหนดขอบเขตของการนำระบบการจัดการจัดไปประยุกต์ใช้ โดยต้องพิจารณาถึงองค์กร บริบทองค์กร และความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย
– กำหนดกระบวนการที่จำเป็นและความสัมพันธ์ของแต่ละกระบวนการภายใต้ขอบเขตระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร
ข้อ 5 ภาวะผู้นำ
– ผู้บริหารต้องแสดงบทบาทภาวะผู้นำและความมุ่งมั่นในการนำระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร ไปใช้ในองค์กรและการปรับปรุงการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
– กำหนดนโยบายของระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหารและสื่อสารนโยบาย
– การกำหนดบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ และอำนาจหน้าที่ในองค์กร ทั้งระดับบริหาร หัวหน้าทีม และบุคลากรในทีม
ข้อ 6 การวางแผน
– การวางแผนระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร เพื่อจัดการความเสี่ยงและโอกาสที่ต้องได้รับการจัดการ เพื่อให้ระบบการจัดการด้านบริการบรรลุผลลัพธ์ที่มุ่งหวัง ป้องกันหรือลดผลกระทบที่ไม่ต้องการ และให้มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
– กำหนดวัตถุประสงค์และแผนงานของระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร
ข้อ 7 การสนับสนุน
– องค์กรต้องจัดเตรียมทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร เช่น บุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน สภาพแวดล้อมในการทำงาน องค์ประกอบที่พัฒนาขึ้นจากภายนอกของระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร และการควบคุมกระบวนการ ผลิตภัณฑ์หรือการบริการที่จัดหาจากภายนอก
– การจัดการเอกสารสารสนเทศตามข้อกำหนด การควบคุม และจัดทำเอกสารสารสนเทศให้ทันสมัย
– การบำรุงรักษาองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร
ข้อ 8 การดำเนินการ
– องค์กรต้องมีการวางแผนและควบคุมกระบวนการที่จำเป็นภายใต้ระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่กำหนดไว้
– การดำเนินการโปรแกรมพื้นฐานด้านสุขลักษณะ (Prerequisite Programmes: PRPs) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการป้องกันและ/หรือการลดการปนเปื้อนต่างๆ โดยรวมถึงอันตรายต่อความปลอดภัยของอาหาร
– ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ต้องสามารถระบุวัตถุดิบที่เข้ามาจากผู้ขายและเส้นทางกระจายขั้นต้นของผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายได้
– การเตรียมการและตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน
– กำหนดกระบวนการและดำเนินการควบคุมความเป็นอันตราย
– การปรับปรุงข้อมูลที่ระบุใน PRSs และแผนควบคุมอันตราย
– การควบคุมการเฝ้าติดตามและการวัด PRSs
– การทวนสอบที่เกี่ยวกับ PSPs และแผนควบคุมอันตราย
– การควบคุมผลิตภัณฑ์และกระบวนการที่ที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด
ข้อ 9 การประเมินสมรรถนะ
– การเฝ้าระวัง การวัด การวิเคราะห์ และการประเมิน เพื่อให้มั่นใจถึงความถูกต้องของผลลัพธ์
– การตรวจประเมินภายใน
– การทบทวนของฝ่ายบริหาร
– การรายงานที่เกี่ยวข้องกับบริการ
ข้อ 10 การปรับปรุง
– องค์กรต้องปฏิบัติการแก้ไขเมื่อเกิดความไม่เป็นไปตามข้อกำหนด
– การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาระบบบริหารงานคุณภาพที่เหมาะสม เพียงพอ และเกิดประสิทธิผล

7. ประโยชน์ที่ได้รับ
– เกิดผลดีต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค
– ลดการสูญเสียในด้านเศรษฐกิจเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
– มีการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยของอาหารอย่างมีระบบ และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และประหยัดค่าใช้จ่าย
– ลดการกีดกันทางการค้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาด
– เกิดภาพพจน์ที่ดีต่อองค์กร และผลิตภัณฑ์
– เป็นระบบคุณภาพด้านความปลอดภัยของอาหารที่สามารถขอการรับรองได้

8. แหล่งข้อมูลและเอกสารอ้างอิง
– https://www.iso.org/standard/65464.html
– http://www.nfi.or.th/foodsafety/upload/qs/pdf/ISO_22000%20-%202.pdf
– https://www.isotoyou2.com/index.php/blog-food-safety/120-iso22000-2018-gap-assessment

ปรับปรุงข้อมูลเมื่อเดือนกันยายน 2562