ISO 30401: 2018

1. ชื่อมาตรฐาน
ภาษาอังกฤษ : Knowledge management systems — Requirements
ภาษาไทย : มาตรฐานระบบการจัดการองค์ความรู้ – ข้อกำหนด

2. การประกาศใช้
ISO : เดือนพฤศจิกายน 2018

3. หน่วยงานเจ้าของมาตรฐาน
ISO : International Organization for Standardization (ISO)

4. ประเภทมาตรฐาน
ISO 30401 เป็นมาตรฐานระบบการจัดการที่สามารถขอการรับรองได้

5. ขอบเขตและการนำมาตรฐานไปใช้
มาตรฐานฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นแนวทางสำหรับองค์กรที่ดำเนินการจัดการความรู้และต้องการให้การจัดการความรู้เป็นระบบ สามารถสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับองค์กร โดยอาศัยเครื่องมือการจัดการความรู้ และเป็นพื้นฐานสำหรับการตรวจสอบรับรองประเมินผลและรับรององค์กรที่มีความสามารถด้านการจัดการความรู้โดยผ่านหน่วยงานตรวจสอบภายในและภายนอกที่เป็นที่ยอมรับ
มาตรฐานนี้ประกอบด้วยข้อกำหนดและแนวทางนำไปประยุกต์ใช้สำหรับหน่วยงานทุกประเภท ทุกขนาด

6. ประโยชน์ของการนำมาตรฐานไปใช้
– ทำให้การจัดการองค์ความรู้ขององค์กรที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เป้าหมายจะชัดเจนมากขึ้นและสนับสนุนเป้าหมายองค์กร ทำให้ง่ายต่อการที่ผู้บริหารจะสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจในบุคลากรทุกระดับ
– ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานต่างๆ ทั่วทั้งองค์กร
– ระบบการจัดการองค์ความรู้จะมีความต่อเนื่องและยั่งยืน ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารหรือทีมงาน

7. สาระสำคัญของมาตรฐาน
องค์ประกอบของมาตรฐาน ประกอบด้วย บทนำ ข้อกำหนด และภาคผนวก โดยสาระสำคัญของมาตรฐาน มีดังนี้
หลักการ (Principle)
หลักการระบบการจัดการความรู้ตาม ISO 30401:2018 มีหลักการ 8 ข้อ ดังนี้
1) ธรรมชาติของความรู้: ความรู้ไม่สามารถจับต้องได้และมีความซับซ้อน ความรู้ถูกสร้างโดยคน
2) คุณค่า: ความรู้เป็นทรัพยากรที่สำคัญและมีมูลค่าสำหรับองค์กรเพื่อให้องค์กรบรรลุตามวัตถุประสงค์ขององค์กร
3) การมุ่งเน้น: การจัดการความรู้ตอบสนองเป้าหมาย กลยุทธ์ และความต้องการขององค์กร
4) การปรับใช้: ไม่มีวิธีการจัดการความรู้ใดที่เหมาะสมกับทุกองค์กร วิธีการจัดการความรู้ขึ้นอยู่กับบริบทองค์กร องค์กรอาจต้องพัฒนาวิธีการจัดการความรู้ของตนเองให้สอดคล้องกับบริบทองค์กร
5) ความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน: การจัดการความรู้ควรร่วมการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน การใช้เนื้อหา กระบวนการและเทคโนโลยี
6) สภาพแวดล้อม: ความรู้ไม่ได้ถูกจัดการโดยตรง ดังนั้นการจัดการความรู้จะต้องไปมุ่งเน้นการจัดการสภาพแวดล้อมการทำงาน และการดูแลวงจรชีวิตของความรู้
7) วัฒนธรรมองค์กร: วัฒนธรรมองค์กรมีผลต่อประสิทธิภาพการจัดการความรู้เป็นอย่างมาก วัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่เอื้อต่อการคิด การแสดงความเห็น การทำงานจะส่งผลต่อการจัดการความรู้โดยตรง
8) จุดเน้นย้ำ: การจัดการความรู้ควรต้องค่อยๆ ทำทีละช่วง แบ่งการดำเนินงานเป็นระยะหรือเฟส ให้สอดคล้องกับระบบการเรียนรู้ขององค์กร

ข้อกำหนด
แบ่งเป็น ข้อกำหนดทั่วไป ข้อ 1-3 และ ข้อกำหนดและแนวทางปฏิบัติ ข้อ 4-10 และภาคผนวก

ข้อ 1 ขอบข่าย (Scope) กล่าวถึง ขอบข่ายของมาตรฐานที่ประกอบด้วยข้อกำหนดและแนวทางในการจัดทำ ประยุกต์ใช้ บำรุงรักษา ทบทวน และปรับปรุงระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพสำหรับการจัดการความรู้ในองค์กร
ข้อ 2 เอกสารอ้างอิง (Normative references) เอกสารฉบับนี้ไม่มีการอ้างอิงเอกสารใดๆ
ข้อ 3 คำศัพท์และบทนิยาม (Terms and definitions) กล่าวถึง คำศัพท์และบทนิยาม และตัวย่อ ที่ปรากฏในมาตรฐานฉบับนี้ จำนวน 30 รายการ
ข้อ 4 บริบทองค์กร
• มีความเข้าใจในองค์กรและบริบทขององค์กร โดยพิจารณาปัจจัยภายนอกและภายในที่เกี่ยวข้องกับจุดประสงค์ขององค์กร และมีผลกระทบต่อความสามารถขององค์กรในการบรรลุผลลัพธ์ตามที่คาดหวังไว้
• เข้าใจถึงความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย
• กำหนดขอบเขตของการนำระบบการจัดการองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ โดยต้องพิจารณาถึงองค์กร บริบทองค์กร และความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย และกิจกรรมที่เกี่ยวกับการทำงานตามแผนหรือดำเนินการ การถ่ายทอด/แปลงองค์ความรู้ เครื่องมือการจัดการความรู้
• ส่งเสริมวัฒนธรรมการจัดการองค์ความรู้ ทั่วทั้งองค์กร
ข้อ 5 ความเป็นผู้นำ
• ผู้บริหารต้องแสดงภาวะผู้นำและมีความมุ่งมั่นต่อการดำเนินงานของระบบการจัดการองค์ความรู้
• ผู้บริหารต้องกำหนดนโยบายด้านการจัดการองค์ความรู้ ที่เหมาะสมกับเป้าหมายองค์กร กำหนดกรอบและหลักในการกำหนด ทบทวนและการบรรลุวัตถุประสงค์
• ผู้บริหารต้องกำหนดผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน
ข้อ 6 การวางแผน
• การระบุความเสี่ยงและโอกาส ที่จะมีผลกระทบต่อองค์กรและระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย การชี้บ่งอันตรายและการประเมินความเสี่ยง การชี้บ่งและติดตามกฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างทันสมัย
• การกำหนดวัตถุประสงค์การจัดการความรู้และการวางแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
ข้อ 7 การสนับสนุน
• ทรัพยากร
• ความสามารถ และสมรรถนะ
• ความตระหนัก
• การสื่อสาร
• เอกสารสารสนเทศ
ข้อ 8 การดำเนินงาน
• การวางแผนและควบคุมการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนด และดำเนินการตามที่กำหนด
• การควบคุมการเปลี่ยนแปลงที่วางแผนไว้และทบทวนผลของการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้ตั้งใจกระทำเพื่อบรรเทาผลกระทบใด ๆ ตามความจำเป็น
ข้อ 9 การประเมินผลการดำเนินงาน
• การติดตาม วัดผล วิเคราะห์ และประเมินผลการดำเนินงาน
• การตรวจประเมินภายใน
• การทบทวนของฝ่ายบริหาร
ข้อ 10 การปรับปรุง
• การจัดการกับความไม่สอดคล้องตามข้อกำหนด และการดำเนินการแก้ไข
• การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
ภาคผนวก
• ภาคผนวก A : สเปกตรัมความรู้ – ช่วงของการจัดการความรู้
• ภาคผนวก B : ความสัมพันธ์ระหว่างการจัดการความรู้และสาขาใกล้เคียง
• ภาคผนวก C : วัฒนธรรมการจัดการองค์ความรู้

8. แหล่งข้อมูลอ้างอิง
– https://www.iso.org/standard/68683.html
– https://www.nstda.or.th/th/nstda-knowledge/knowledge-management/12481-iso-30401

ปรับปรุงข้อมูลเมื่อเดือนกันยายน 25ุ62