ISO 37001:2016

1.ชื่อมาตรฐาน
(ภาษาอังกฤษ) Anti-bribery management systems – Requirements with guidance for use
2.การประกาศใช้
13/10/2016
3.หน่วยงานเจ้าของมาตรฐาน
International Organization for Standardization (ISO)
4.ประเภทมาตรฐาน
ISO 37001 เป็นมาตรฐานระบบการจัดการประเภทความรับผิดชอบต่อสังคม
5.ขอบเขตและการนำมาตรฐานไปใช้
มาตรฐานนี้ กล่าวถึงข้อกำหนดและแนวทางในการจัดทำ การนำไปปฏิบัติ การรักษาไว้ และการปรับปรุงแนวทางระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบน โดยองค์กรสามารถจัดทำระบบที่เป็นอิสระหรือบูรณาการร่วมกับระบบการจัดการเดิมที่มีอยู่ได้ ซึ่งมาตรฐานฉบับนี้ ได้มุ่งเน้นถึงความเสี่ยงในการติดสินบนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร ดังนี้
ก) การติดสินบนในภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร
ข) การติดสินบนโดยองค์กร
ค) การติดสินบนโดยบุคลากรขององค์กร ที่กระทำการในนามองค์กร หรือเพื่อผลประโยชน์องค์กร
ง) การติดสินบนโดยคู่ค้าทางธุรกิจ ที่กระทำการในนามองค์กร หรือเพื่อผลประโยชน์องค์กร
จ) การติดสินบนขององค์กร
ฉ) การติดสินบนของบุคลากรขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมขององค์กร
ช) การติดสินบนของคู่ค้าทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมขององค์กร
ซ) การติดสินบนทั้งทางตรงและทางอ้อม (เช่น การจ่ายหรือรับสินบน หรือโดยบุคคลที่สาม)
การติดสินบน เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทั้งที่เป็นตัวเงินหรือไม่ใช่ตัวเงิน และสามารถเกิดขึ้นได้ทุกสถานที่ ทุกมูลค่าไม่ว่ามากหรือน้อย
มาตรฐานนี้ประยุกต์ใช้กับการติดสินบนเท่านั้น ซึ่งข้อกำหนดและแนวทางระบบการจัดการ ออกแบบมาเพื่อช่วยองค์กรในการป้องปรามและตรวจจับการติดสินบน และเป็นไปตามกฎหมายการต่อต้านการติดสินบนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร
ข้อกำหนดของมาตรฐาน เป็นข้อกำหนดทั่วไปและมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับองค์กร (หรือส่วนใดส่วนหนึ่งในองค์กร) โดยไม่คำนึงถึงประเภท ขนาด กิจกรรม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรขอบข่ายของการนำข้อกำหนดไปใช้

6. สาระสำคัญของมาตรฐาน
ในมาตรฐาน ISO 37001 อ้างอิงการใช้โครงสร้าง High Level Structure ตาม ANNEX SL ของ ISO/IEC Directives, Part 1

ISO 37001

1. Scope

2. Normative references

3. Terms and definitions

4. Context of the organization

5. Leadership

6. Planning

7. Support

8. Operation

9. Performance of evaluation

10. Improvement

มาตรฐานนี้ กล่าวถึงขอบข่าย เอกสารอ้างอิง คำศัพท์และนิยาม และข้อกำหนดของมาตรฐาน ISO 37001 ซึ่งได้แก่
ข้อ 4 บริบทองค์กร Context of the organization)

องค์กรควรพิจารณาประเด็นทั้งจากภายในองค์กรและภายนอกองค์กรที่สัมพันธ์กับเป้าประสงค์และมีผลกระทบต่อความสามารถขององค์กรที่จะทำให้บรรลุถึงผลลัพธ์ที่ต้องการของการจัดทำมาตรฐานแนวทางระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบน
เข้าใจความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย
ชี้บ่งความเสี่ยงการติดสินบนโดยคาดการณ์อย่างสมเหตุสมผล เพื่อให้องค์กรมองภาพรวมของประเภทความเสี่ยงการติดสินบนที่องค์กรต้องเผชิญอยู่ รวมถึง ทำการประเมินและจัดลำดับความสำคัญความเสี่ยงที่ชี้บ่งนั้น

ข้อ 5 บทบาทของผู้นำ (Leadership)

ผู้บริหารระดับสูงควรแสดงความเป็นผู้นำและความมุ่งมั่น ด้วยการให้ความสำคัญต่อระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบน
มีการจัดทำนโยบายการต่อต้านการติดสินบน ซึ่งนโยบายดังกล่าว มีความเหมาะสมกับจุดประสงค์ขององค์กร รวมถึงมีความสอดคล้องกับกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการติดสินบนที่นำมาประยุกต์ใช้ในองค์กร
องค์กรต้องกำหนดบทบาท อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบ ทั้งผู้บริหารระดับสูง ผู้จัดการในทุกระดับ รวมถึง หน่วยงานกำกับดูแล (ถ้ามี) โดยผู้บริหารระดับสูง และบุคลากรต่างๆ ทั้งหมด ควรมีความรับผิดชอบสำหรับการทำความเข้าใจ ความสอดคล้องกัน และการประยุกต์ใช้ ระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบนที่ตนเองเกี่ยวข้องตามบทบาทหน้าที่ในองค์กร

ข้อ 6 การวางแผน (Planning)

มีการวางแผน และดำเนินการจัดการกับความเสี่ยงและโอกาสที่จะเกิด บูรณาการและนำการปฏิบัติการเข้าไปในกระบวนการต่างๆ ภายใต้ระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบน และมีการประเมินประสิทธิผลของการปฏิบัติการต่างๆ เหล่านี้
จัดทำวัตถุประสงค์การต่อต้านการติดสินบนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการและทุกระดับ โดยวัตถุประสงค์ควรสอดคล้องกับนโยบายการต่อต้านการติดสินบน และสามารถวัดได้ (ถ้าเป็นไปได้) รวมถึง ควรมีการปรับปรุงให้ทันสมัยตามความเหมาะสม

ข้อ 7 การสนับสนุน (Support)

ควรกำหนดและจัดให้มีทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการจัดทำ นำไปปฏิบัติ รักษาไว้ และปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรทุกคนในตำแหน่งที่มีความเสี่ยงต่อการติดสินบน และบุคลากรที่ว่าจ้างในงานดูแลความสอดคล้องการต่อต้านการติดสินบน องค์กรควรมีการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ สำหรับบุคลากรก่อนรับเข้าทำงาน และบุคลากรที่โอนย้าย หรือเลื่อนตำแหน่งโดยองค์กร รวมถึง มีการทบทวนเป็นระยะๆ สำหรับระบบการจ่ายค่าตอบแทน ทั้งในส่วนของการให้เงินรางวัลพิเศษ เป้าหมายการปฏิบัติงาน และสิ่งจูงใจอื่นๆ
จัดให้มีการประชุมหรือสัมมนาภายในองค์กรเพื่อให้ความรู้เรื่องการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนแก่บุคลากร
จัดทำคู่มือหรือประมวลจริยธรรมเกี่ยวกับการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน และให้ความรู้แก่บุคลากร
กำหนดช่องทางวิธีการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบนทั้งภายในและภายนอก

ข้อ 8 การนำไปปฏิบัติ (Operation)

มีการวางแผน นำไปปฏิบัติ เฝ้าระวัง และควบคุมกระบวนการ เพื่อให้บรรลุข้อกำหนดของระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบน และนำไปปฏิบัติตามแผนที่กำหนด
มีการประเมินธรรมชาติและขอบเขตของการต่อต้านการติดสินบนที่สัมพันธ์กับธุรกรรมเฉพาะ โครงการ กิจกรรม คู่ค้าทางธุรกิจ และบุคคล การประเมินนี้ควรรวมถึงการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะที่จำเป็นเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่เพียงพอที่จะประเมินความเสี่ยงการติดสินบน
มีการดำเนินการควบคุมทางการเงินที่จัดการความเสี่ยงการติดสินบน และมีการดำเนินการควบคุมการจัดซื้อ การดำเนินงาน การขาย การค้า และอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทางการเงินที่จัดการความเสี่ยงการติดสินบน
มีขั้นตอนปฏิบัติงานที่ออกแบบมาเพื่อใช้ป้องกันการเสนอ จัดเตรียม หรือรับของขวัญ การต้อนรับ การบริจาคและผลประโยชน์อื่นที่คล้ายกัน ที่การเสนอ จัดเตรียม หรือรับนั้นมีจุดประสงค์เพื่อการติดสินบน
มีช่องทางให้บุคคลสามารถรายงานความพยายามการติดสินบน ข้อสงสัย หรือการติดสินบนที่เกิดขึ้น หรือการละเมิด หรือจุดอ่อนของระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบน

ข้อ 9 การประเมินผลการปฏิบัติงาน (Performance evaluation)

มีการเฝ้าระวัง การวัดผล การวิเคราะห์ และการประเมิน
มีการทบทวนโดยผู้ดูแลความสอดคล้องการต่อต้านการติดสินบน เพื่อพิจารณาว่าระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบนยังคงมีความเพียงพอต่อการจัดการที่มีประสิทธิผลต่อความเสี่ยงที่องค์กรต้องเผชิญหรือไม่ และพิจารณาประสิทธิผลการปฏิบัติ
มีการตรวจประเมินภายในและการทบทวนฝ่ายบริหาร

ข้อ 10 การปรับปรุง (Improvement)

มีการดำเนินการกับความไม่สอดคล้องโดยทันทีและโปร่งใส
มีการดำเนินการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องอย่างเหมาะสม เพียงพอ และมีประสิทธิผล

7. ประโยชน์จากการจัดทำมาตรฐาน
การนำมาตรฐานระบบการบริหารจัดการ ISO 37001 มีส่วนช่วยสร้างประโยชน์ดังต่อไปนี้

เป็นการแสดงความรับผิดชอบเชิงรุกขององค์กร ในการสร้างวัฒนธรรมในเรื่องความถูกต้อง ความโปร่งใส การเปิดเผยและการปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกัน การปราบปรามการทุจริต การติดสินบน และการต่อต้านคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ

ช่วยให้องค์กรป้องกันและค้นหาการติดสินบนผ่านการกำหนดตัวชี้วัดที่ได้รับการออกแบบอย่างเหมาะสม ซึ่งองค์กรสามารถจัดทำระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบนที่เป็นอิสระ หรืออาจบูรณาการร่วมกับระบบการจัดการเดิมที่มีอยู่ได้

8. แหล่งข้อมูลและเอกสารอ้างอิง
https://www.iso.org/standard/65

ปรับปรุงข้อมูลเมื่อเดือนเมษายน 2560