ISO 45001: 2018

1. ชื่อมาตรฐาน
(ภาษาอังกฤษ) ISO 45001: 2018: Occupational Health and Safety Management Systems
(ภาษาไทย)

2. การประกาศใช้
ISO : 12 March 2018

3. หน่วยงานเจ้าของมาตรฐาน
ISO : International Organization for Standardization (ISO)

4. ประเภทมาตรฐาน
ISO 45001 เป็นมาตรฐานระบบการจัดการ สามารถขอการรับรองจากหน่วยรับรองระบบ (Certification Body) ที่ให้บริการได้

5. ขอบเขตและการนำมาตรฐานไปใช้
ISO 45001 เป็นมาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (OH&S) สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับองค์กรทุกประเภท ทุกขนาด โดยมุ่งหวังให้มีการปรับปรุงผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินงานขององค์กรเป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยขององค์กร โดยเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของธุรกิจให้เกิดความปลอดภัย และส่งเสริมภาพพจน์ด้านความรับผิดชอบขององค์กรที่มีต่อพนักงานและสังคม และสามารถบูรณาการกับระบบการจัดการอื่นๆ ได้

6. สาระสำคัญของมาตรฐาน
ความตั้งใจของมาตรฐาน ISO 45001 เพื่อให้องค์กรสามารถปรับปรุงสมรรถนะเพื่อป้องกันการบาดเจ็บ และความเจ็บป่วยต่อคนงานและจัดเตรียมสถานที่ทำงานที่ปลอดภัยและมีสุขลักษณะที่ดี
โครงสร้างของมาตรฐานประกอบด้วยข้อกำหนดที่เป็นข้อมูลทั่วไป ประกอบด้วย ข้อ 1 ขอบข่าย ข้อ 2 เอกสารอ้างอิง ข้อ 3 คำจำกัดความและคำศัพท์ และข้อกำหนดที่เป็นข้อปฏิบัติ ตั้งแต่ข้อ 4 – ข้อ 10
ข้อ 4 บริบทองค์กร
– มีความเข้าใจในองค์กรและบริบทขององค์กร โดยพิจารณาปัจจัยภายนอกและภายในที่เกี่ยวข้องกับจุดประสงค์ขององค์กร และมีผลกระทบต่อความสามารถขององค์กรในการบรรลุผลลัพธ์ตามที่คาดหวังไว้
– เข้าใจถึงความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย
– กำหนดขอบเขตของการนำระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยไปประยุกต์ใช้ โดยต้องพิจารณาถึงองค์กร บริบทองค์กร และความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย และกิจกรรมที่เกี่ยวกับการทำงานตามแผนหรือดำเนินการ
– กำหนดกระบวนการที่จำเป็นและความสัมพันธ์ของแต่ละกระบวนการภายใต้ขอบเขตระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
ข้อ 5 ความเป็นผู้นำและการมีส่วนร่วมของพนักงาน
– ผู้บริหารต้องแสดงภาวะผู้นำและมีความมุ่งมั่นต่อการดำเนินงานของระบบการจัดการ
อาชีวอนามัยและความปลอดภัย

– ผู้บริหารต้องกำหนดนโยบายด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย นำไปปฏิบัติ และรักษาไว้
– ผู้บริหารต้องกำหนดผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน
– การให้คำปรึกษาหารือ การสร้างความผูกพันของคณะกรรมการสุขภาพและความปลอดภัย และตัวแทนคนงาน และการมีส่วนร่วมของคนงาน
ข้อ 6 การวางแผน
– การระบุความเสี่ยงและโอกาส ที่จะมีผลกระทบต่อองค์กรและระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย การชี้บ่งอันตรายและการประเมินความเสี่ยง การชี้บ่งและติดตามกฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างทันสมัย
– การกำหนดวัตถุประสงค์และแผนงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
ข้อ 7 การสนับสนุน
– ทรัพยากร
– ความสามารถ และสมรรถนะ
– ความตระหนัก
– การสื่อสาร
– เอกสารสารสนเทศ
ข้อ 8 การดำเนินงาน
– การวางแผนและควบคุมการดำเนินงาน
– การเตรียมความพร้อมและการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน
ข้อ 9 การประเมินผลการดำเนินงาน
– การติดตาม วัดผล วิเคราะห์ และประเมินผลการดำเนินงาน
– การตรวจประเมินภายใน
– การทบทวนของฝ่ายบริหาร
ข้อ 10 การปรับปรุง
– อุบัติการณ์ ความไม่สอดคล้องตามข้อกำหนด และการดำเนินการแก้ไข
– การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

7. ประโยชน์ในการนำมาตรฐานไปปฏิบัติ
1) เพิ่มสมรรถนะด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยขององค์กรเพิ่มขึ้น
2) ส่งเสริมชื่อเสียงขององค์กรในการเป็นสถานที่ทำงานที่ปลอดภัย และสามารถเกิดประโยชน์โดยตรง เช่น
– สามารถปฏิบัติได้สอดคล้องตามกฎหมาย
– ลดต้นทุนที่เกิดจากอุบัติการณ์ เวลาที่เสียไปเพราะต้องหยุดกระบวนการ ค่าประกันภัย
– ลดอัตราการขาดงานและการลาออกของลูกจ้าง
3) สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กร และได้รับการยอมรับจากภายในและภายนอกองค์กร
4) มีการพัฒนาบุคลากรให้มีการวางแผนการทำงานร่วมกันการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับระบบการจัดการ การเฝ้าระวังและตรวจสอบรวมถึงการแก้ไขข้อบกพร่องและการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานมากขึ้น
5) ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

8. แหล่งข้อมูลและเอกสารอ้างอิง

https://www.iso.org/standard/63787.html
https://www.iso.org/files/live/sites/isoorg/files/store/en/PUB100427.pdf
www.tisi.go.th/iso45001

ปรับปรุงข้อมูลเมื่อเดือนมิถุนายน 2561