Search มาตรฐานและกฎระเบียบ

Strategic Energy Plan

ประเทศเกี่ยวข้อง
ญี่ปุ่น
สาขาอุตสาหกรรมสินค้า
อุตสาหกรรมพลังงาน
วันที่บังคับใช้
เมษายน 2014
มาตรฐานประเภท
บังคับ
ขอบข่าย

พลังงานใหม่

สรุปรายละเอียดสำคัญ

แผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของญี่ปุ่นกำหนดให้มีการใช้แหล่งพลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดการปล่อยมลพิษในการผลิตไฟฟ้าประมาณร้อยละ 70 ด้วยวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเป็นเท่าตัว พร้อมๆ กับการพัฒนาเทคโนโลยีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดย

  1. ยึดหลักพื้นฐานของนโยบายพลังงาน 3E+S ซึ่งได้แก่ Energy Security, Economic Efficiency, Environment และ Safety และปรับปรุงนโยบายพลังงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์พลังงานโลก โดยเป็นนโยบายที่ส่งเสริมการแข่งขันของญี่ปุ่นและตลาดพลังงานของญี่ปุ่น
  2. สร้างโครงสร้างอุปสงค์-อุปทานด้านพลังงานของญี่ปุ่นที่มีความหลากหลายและยืดหยุ่น และเพิ่มอัตราการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานด้วยการพัฒนาและนำทรัพยากรในประเทศมาใช้ เพื่อลดผลกระทบจากต่างประเทศ
  3. แหล่งพลังงานที่ญี่ปุ่นเห็นว่าน่าสนใจ ได้แก่ พลังงานทดแทน (แสงอาทิตย์ ลม ใต้พิภพ น้ำ และชีวมวล) พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LP) นอกจากนี้ ในอนาคต ญี่ปุ่นยังพิจารณาที่จะใช้พลังงานแบบผสม (Energy Mix) ซึ่งรวมถึงการพิจารณาเปิดใช้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์และการเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน

ญี่ปุ่นตระหนักว่า โครงสร้างพลังงานที่มีต้นทุนต่ำและมั่นคง จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ โครงสร้างพลังงานต้องสนับสนุนสังคมสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อน ขณะเดียวกันความเสี่ยงจากโครงสร้างพลังงานเริ่มมีมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเหตุการณ์ใดๆที่กระทบต่อพลังงานจะมีผลกระทบอย่างมหาศาลกับสังคมด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ญี่ปุ่นอยู่ในภาวะที่โครงสร้างพลังงานไฟฟ้าขึ้นอยู่กับเชื้อเพลิงฟอสซิลจากต่างประเทศมากกว่าในช่วงที่มีภาวะขาดแคลนน้ำมันเสียอีก ซึ่งอาจส่งผลให้ต้นทุนพลังงานสูงขึ้น พร้อมทั้งก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น และสุดท้ายจะไปส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของญี่ปุ่น รวมถึงความพยายามจะต่อสู้กับภาวะโลกร้อนในระดับสากล ญี่ปุ่นต้องมีนโยบายพลังงานที่ใช้ได้จริง โดยต้องระดมศักยภาพทั้งหมดที่มี เพื่อให้บรรลุความสำเร็จและเอาชนะข้อจำกัดทั้งมวลอย่างครบวงจร ทั้งการอนุรักษ์พลังงาน เร่งการใช้พลังงานหมุนเวียน การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ พัฒนาเทคโนโลยีแผงพลังงานแสงอาทิตย์ พัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือก ลดปริมาณและความปัญหาการเก็บกากกัมมันตรังสี ในขณะเดียวกัน จะต้องนำความคิดเห็นและข้อวิตกกังวลของประชากรมากำหนดนโยบายพลังงาน และยังต้องร่วมกับนานาประเทศในความพยายามแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน

สำหรับแนวทางการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหิน: หัวข้อสำคัญหัวข้อหนึ่งแผนยุทธศาสตร์พลังงานฉบับที่ 4 นี้ ระบุแนวทางการพัฒนาเชื้อเพลิงถ่านหิน ว่า ญี่ปุ่นให้ความสำคัญในเรื่องของการสร้างความสมดุลย์ของแหล่งพลังงาน ที่จะต้องมีแหล่งเชื้อเพลิงราคาไม่แพงและมีเสถียรภาพในการผลิตไฟฟ้าฐาน(base-load) เพื่อรักษาระดับกำลังผลิตสำรองตามมาตรฐานความมั่นคงและสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยจะต้องไม่พึ่งพิงเชื้อเพลิงชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป โดยกลยุทธ์สำคัญประการหนึ่งคือ การใช้เชื้อเพลิงถ่านหินผลิตไฟฟ้า ซึ่งยอมรับว่าถ่านหินยังมีปัญหาในเรื่องของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งก๊าซเป็นเรือนกระจก แต่ถ่านหินก็เป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตไฟฟ้าฐาน เนื่องจากมีแหล่งเชื้อเพลิงกระจายอยู่ทั่วโลก ทำให้มีความเสี่ยงในเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศน้อย ราคาต่อหน่วยต่ำสุดในบรรดาเชื้อเพลิงฟอสซิล การใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าจึงต้องพยายามลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงดังนั้น ทิศทางนโยบายของการใช้ถ่านหินของญี่ปุ่น จึงเน้นส่งเสริมการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่หมดอายุลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างชัดเจน เช่น เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด IGCC (Integrated Gasification Combined Cycle: IGCC คือ การผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีที่เปลี่ยนสถานะถ่านหินให้เป็นก๊าซ (Coal Gasification) เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมกังหันก๊าซ (Gas Fired Combined Cycle Plant) โดยกระบวนการเริ่มจากการนำ ถ่านหินไปผสมกับไอน้ำและออกซิเจน โดยใช้แรงดันและอุณหภูมิสูงจนเกิดปฏิกริยาทางเคมีจะได้ก๊าซที่มีส่วนประกอบของคาร์บอนมอนอกไซด์ และไฮโดรเจน ก๊าซที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงนี้ จะผ่านขั้นตอนในการทำให้สะอาด โดยการสกัดฝุ่นละออง กำมะถัน และไนโตรเจนออกไปก่อนที่จะนำไปเผาไหม้ผ่านเครื่องกังหันก๊าซ เพื่อหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า นอกจากนี้ ความร้อนหรือก๊าซเสียที่ออกมาจากเครื่องกังหันก๊าซ จะนำไปใช้ให้ความร้อนแก่หม้อกำเนิดไอน้ำ เพื่อหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้อีกทอดหนึ่ง)

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีแผนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน(CCS) ให้แล้วเสร็จภายในปี 2020 พร้อมทั้งพัฒนาโรงไฟฟ้าแบบ CCS-ready โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ มาตรการนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม ยิ่งไปกว่านั้น ญี่ปุ่นจะพัฒนาเทคโนโลยีนี้ในเชิงพาณิชย์เพื่อการส่งออกและช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับสากลด้วย

และในส่วนของนโยบายอุปสงค์-อุปทานด้านพลังงานในแผนยุทธศาสตร์ฯ สาระสำคัญ ได้แก่

  1. การส่งเสริมนโยบายพลังงานที่ครบวงจรเพื่อรักษาแหล่งพลังงาน เช่น การส่งเสริมการทูตเชิงทรัพยากร (resource diplomacy) ที่หลากหลายกับประเทศส่งออกทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ประเทศผู้ผลิต LNG รายใหม่ ๆ เช่น ปาปัวนิวกินี (จะเริ่มส่งออก LNG ไปญี่ปุ่นเร็ว ๆ นี้) ออสเตรเลีย รัสเซีย โมซัมบิก สหรัฐฯ และแคนาดา / การสร้างโครงสร้างอุปสงค์-อุปทานต่อ LNG ที่มั่นคงและยืดหยุ่นโดยมียุทธศาสตร์ในระยะยาวที่จะให้ญี่ปุ่นเป็นศูนย์กลางของตลาด LNG ในเอเชีย / พัฒนาทรัพยากรใต้ทะเลของญี่ปุ่น เช่น methane hydrate และโลหะหายาก
  2. สร้างสังคมประหยัดพลังงาน เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานในแต่ละสาขา ได้แก่ ที่อยู่อาศัย การพาณิชย์ ขนส่งและอุตสาหกรรม
  3. การเร่งการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในระยะกลางและยาว โดยจะมีการจัดตั้งการประชุม รมต. ที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานทดแทน เพื่อหารือเรื่องนโยบาย และส่งเสริมการใช้ในระดับที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาการใช้ Energy Mix อนาคต ตลอดจนการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและการทำ R&D โดยมีแผนสำคัญ ได้แก่ (1) การส่งเสริมมาตรการเพิ่มการใช้พลังงานลมและใต้พิภพ เช่น การส่งเสริมโครงการใช้เทคโนโลยีกังหันลมแบบลอยน้ำใน จ.ฟุคุชิมะ และ จ.นากาซากิ นำร่อง และนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในเชิงพาณิชย์ในปี ค.ศ. 2018 / ลดความเสี่ยงในการใช้พลังงานใต้พิภพและให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน (2) ส่งเสริมระบบพลังงานที่ใช้พลังงานทดแทน เช่น การใช้พลังงานชีวมวลไม้ (Woody Biomass) พลังงานน้ำขนาดเล็กและกลาง พลังงานแสดงอาทิตย์ และพลังงานความร้อนที่ได้จากพลังงานทดแทน (3) ใช้มาตรการ FIT (Feed-in tariff) เพื่อควบคุมการใช้พลังงานทดแทนอย่างเต็มที่ และลดภาระค่าใช้จ่าย และ (4) การให้ จ.ฟุคุชิมะ เป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนแห่งใหม่ โดยจะมีการจัดตั้งศูนย์วิจัยพลังงานทดแทนในจังหวัดฯ

แหล่งข้อมูล