การปฏิวัติเทคโนโลยีการดูแลสุขภาพกับอนาคตของการแพทย์

Share

เวโรนิกา เอ็ดเวิร์ดส์  ซีอีโอของอินเจเนซิส (InGenesis Inc.) ได้นำเสนอบทความเรื่อง “Tech-enabled healthcare: How innovations are shaping the future of medicine” ซึ่งนำเสนอมุมมองของนวัตกรรมการใช้เทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพที่เป็นตัวกำหนดอนาคตของการแพทย์ดังต่อไปนี้

สุขภาพของคนเราเป็นปัจจัยสำคัญในการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ถือได้ว่าสุขภาพเป็นทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดของคนเรา หากคนคนหนึ่งเกิดวิกฤตสุขภาพขึ้นมาแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ไม่เพียงแต่จะส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของตนเองเท่านั้น  แต่ยังส่งผลกระทบต่อครอบครัว เพื่อนฝูง และสังคมอีกด้วย ดังที่เราได้เห็นการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในระดับโลกซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบการดูแลสุขภาพที่นำไปสู่จุดแตกหักถึงขั้นที่ทำให้อุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ เกิดการหยุดชะงัก และขัดขวางการพัฒนาอันแสดงให้เห็นถึงความสำคัญสูงสุดในการปกป้องสุขภาพให้กับผู้คนทั่วโลก
การระบาดใหญ่ช่วยผลักดันนวัตกรรมระดับโลก
แม้จะมีผลกระทบด้านลบ แต่การระบาดใหญ่ได้ช่วยพลิกฟื้นแรงผลักดันให้เกิดนวัตกรรมระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสาขาการแพทย์ ตั้งแต่การตัดต่อยีน การวินิจฉัยที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ ไปจนถึงอุปกรณ์ทางการดูแลสุขภาพที่ใช้เทคโนโลยีสวมใส่ (Wearable Technology in healthcare) และการเติบโตอย่างรวดเร็วของการดูแลสุขภาพทางไกล ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่หลากหลายในปัจจุบันได้ให้ประโยชน์มากมายแก่ผู้ป่วยและผู้ให้บริการ อย่างไรก็ตาม จะต้องดำเนินการอย่างถูกต้องโดยบุคลากรหลักเท่านั้น
การปฏิวัติเทคโนโลยีในการดูแลสุขภาพ
อันที่จริงแล้ว การระบาดใหญ่ของ COVID-19 ไม่ได้เป็นจุดกำเนิดของการปฏิวัติเทคโนโลยีในการดูแลสุขภาพ แต่ความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้เริ่มต้นมาก่อนปี 2020 (2563) แล้ว โดยได้รับแรงกระตุ้นจากเมกะเทรนด์สำคัญหลายประการ เช่น การสูงวัยของประชากรโลก จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ คาดว่าจำนวนผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะเพิ่มมากกว่า 2 เท่าในอีก 25 ปีข้างหน้า โดยสูงขึ้นถึง 1.6 พันล้านคนในปี 2593 (ค.ศ.2050) ซึ่งเทียบเท่ากับ 1 ใน 6 ของประชากรทั่วโลก และจำนวนผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปจะมีอัตราเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าเดิม

ปรากฏการณ์การสูงวัยมีศักยภาพที่จะส่งผลกระทบมากกว่าโรคระบาด เนื่องจากผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะใช้ทรัพยากรด้านการดูแลสุขภาพมากกว่า  ในสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปคิดเป็น 17 % ของประชากร แต่คิดเป็น 37 % ของความต้องการด้านการดูแลสุขภาพส่วนบุคคลในปี 2563 (ค.ศ.2020) และในปี 2562 ประชากรสูงวัยต้องการแพทย์จำนวน 280,700 คนสำหรับการรักษาพยาบาล แต่ตัวเลขเช่นนี้จะต้องเพิ่มมากกว่า 400,000 คนภายในปี 2034 (ค.ศ.2577)

เมื่อพิจารณาจากภาพรวมทั่วโลกแล้ว สถานการณ์การขาดแคลนผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพตกอยู่ในสภาพที่เลวร้ายกว่าเดิม โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่าเกิดปัญหาการขาดแคลนแพทย์ พยาบาล และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอื่นๆ ทั่วโลกถึง 4.3 ล้านคน นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงนี้ยังอาจส่งผลต่อแนวทางการจัดลำดับความสำคัญของการดูแลรักษาอีกด้วย ตัวอย่างเช่น เราอาจต้องการแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปมากกว่าแพทย์เฉพาะทาง เนื่องจากผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคที่เกิดขึ้นร่วมกันและต้องการการดูแลจากแพทย์ทั่วไปมากกว่า

อนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ก็มีอายุมากขึ้นเช่นกัน เมื่อปี 2562 (ค.ศ.2019) แพทย์มากกว่า 1 ใน 3 ในประเทศ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและพัฒนา) มีอายุ 55 ปีขึ้นไป จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพอย่างละเอียดถี่ถ้วนและการเตรียมความพร้อมด้านการมีส่วนร่วมของบุคลากรรุ่นใหม่อย่างเข้มแข็ง

ความจำเป็นของนวัตกรรม
จากหนังสือเรื่อง Deep Medicine  ของเอริค โทโพล (Eric Topol)  ทำให้เรารู้ว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีจะช่วยถมช่องว่างของการดูแลสุขภาพดังกล่าวได้โดยได้โดยไม่ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล  ในหนังสือของเขาเกี่ยวกับการใช้เอไอในการดูแลสุขภาพ แนะนำว่าเทคโนโลยีนี้สามารถใช้เป็นส่วนเสริมที่สำคัญในการช่วยเหลือแพทย์ในการส่งมอบบริการด้านการดูแลสุขภาพอย่างหลากหลาย และสามารถทำหน้าที่ในการจัดการกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ได้

ทั้งนี้ เนื่องจากแพทย์ได้ทำงานควบคู่ไปกับเอไอและเทคโนโลยีอื่น ๆ มาหลายปีแล้วซึ่งหากได้รับการพัฒนาและใช้อย่างมีความรับผิดชอบ เทคโนโลยีก็จะสามารถส่งเสริมการดูแลสุขภาพทางไกลต่อไปได้  ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยด้านเภสัชกรรมและโรคภัย หรือการแพทย์แม่นยำ (Precision medicine)  ซึ่งนำไปสู่การดูแลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น

ความจำเป็นของมาตรฐาน
แม้ว่านวัตกรรมทางเทคโนโลยีจะน่าดึงดูดใจ แต่สิ่งสำคัญคือต้องคำนึงถึงคุณภาพของการดูแลผู้ป่วย  ซึ่งเอไออาจนำไปสู่การดูแลส่วนบุคคลมากขึ้นในแง่ที่ว่าแพทย์สามารถออกแบบการรักษาที่เหมาะกับผู้ป่วยและส่งมอบการรักษาได้อย่างแม่นยำมากขึ้น แต่เราต้องระมัดระวังสำหรับวิธีการดูแลส่วนบุคคล  เพราะไม่ว่าการดูแลสุขภาพด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงจะเป็นอย่างไร การดูแลสุขภาพที่ดีที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุดก็คือการปฏิบัติที่ต้องอาศัยการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีบนพื้นฐานของการดูแลเอาใจใส่และความต้องการผู้ป่วยแต่ละราย

ในการดูแลรักษาสุขภาพ มีการนำเทคโนโลยีไปใช้และพัฒนาอย่างรวดเร็วในทุกสาขาและทุกระดับ แต่สิ่งที่จำเป็นมากกว่าในขณะนี้คือแพลตฟอร์มคุณภาพที่อุตสาหกรรมสามารถรวบรวมวิธีการ กระบวนการ เครื่องมือตรวจสอบประสิทธิภาพ กลไกความรับผิดชอบ และเครื่องมือลดความเสี่ยงที่ดี  ซึ่งอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพสามารถนำมาตรฐานไอเอสโอไปใช้เป็นพื้นฐานสำหรับความก้าวหน้าในอนาคต

สุดท้าย เวโรนิกา เอ็ดเวิร์ดส์  ได้ให้ความเห็นว่าหากองค์กรขนาดใหญ่และผู้นำทางความคิด ไม่ว่าจะเป็นองค์การอนามัยโลก รัฐบาลระดับชาติ หรือผู้นำในอุตสาหกรรม สามารถรวบรวมแนวคิดเหล่านี้และนำไปต่อยอดได้ เราก็จะสามารถก้าวไปสู่ยุคใหม่ซึ่งทั่วโลกสามารถดูแลสุขภาพได้อย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ท่านที่สนใจองค์ความรู้หรือบริการรับรองตามมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพสำหรับเครื่องมือแพทย์ (ISO 13485) สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายรับรองระบบ โทรศัพท์ 026171723 – 36  หรือ Email: SCD@masci.or.th 

ที่มา: https://www.iso.org/contents/news/Thought%20leadership/tech-enabled-healthcare-how-inno.html

 1,060 ผู้เข้าชมทั้งหมด