มอก.9999 เพื่อสมดุล มั่นคง ยั่งยืน และความสุข

Share

กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม (มอก.9999 เล่ม 1-2556) เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งกำหนดหลักการและแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการบูรณาการระบบการจัดการขององค์กรให้สมดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ความมั่นคง เติบโตได้อย่างยั่งยืนและมีความสุขในทุกภาคส่วนขององค์กร

มอก.9999 เล่ม 1 – 2556 เป็นมาตรฐานแนวทางที่องค์กรและอุตสาหกรรมทุกประเภทสามารถน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงหรือการดำเนินธุรกิจแบบทางสายกลางไปใช้ เพื่อให้เกิดความสมดุล มั่นคง ยั่งยืน และมีความสุข ทั้งในระดับองค์กรและระดับบุคคล รวมทั้งชีวิตครอบครัว ธุรกิจ และชุมชน โดยมีองค์ประกอบสำคัญของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง “3 ห่วง 2 เงื่อนไข” ( 3 ห่วง: ความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน, 2 เงือนไข: ความรู้ และคุณธรรม) ซึ่งเป็นพื้นฐานจิตใจหรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงาน ผนวกกับหลักการของระบบการจัดการ และวงจร PDCA (Plan-Do-Check-Act)

สาระสำคัญของ มอก.9999
มอก.9999 ประกอบด้วย บทนิยาม หลักการ แนวทางเกี่ยวกับองค์ประกอบของเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม และแนวทางการบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมทั่วทั้งองค์กร โดยมีหลักการของมาตรฐานคือ การมีส่วนร่วมของบุคลากร การเคารพต่อผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย การบริหารแบบองค์รวม และการบริหารเชิงระบบ

ในการนำมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมไปปฏิบัติ องค์กรควรพิจารณาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ความรู้ และคุณธรรม

แนวทางการบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมทั่วทั้งองค์กร
ผู้บริหารระดับสูงควรมีบทบาทในการนำองค์กร ประพฤติตนเป็นแบบอย่าง และกำหนดทิศทางองค์กร ทำให้มั่นใจว่าบุคลากรในองค์กรมีความสามัคคีและมีส่วนร่วม จัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นอย่างเพียงพอ มีการใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ องค์กรมีการปฏิบัติตามกฎหมาย และดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสและมีจริยธรรม ให้ความสำคัญกับการแบ่งปัน และการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งวัฒนธรรมควบคู่กับการดำเนินธุรกิจ และมีการทบทวนการดำเนินงานตามช่วงเวลาที่กำหนด เป็นต้น

ประโยชน์ของ มอก.9999
การบูรณาการมอก.9999 เข้ากับกระบวนการดำเนินธุรกิจช่วยให้มีภูมิคุ้มกันตนเอง เช่น ในช่วงที่เศรษฐกิจมีความผันผวน เกิดผลกระทบค่าเงิน ผลกระทบต้นทุนที่สูงขึ้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทั้งการเมือง และกฎระเบียบต่าง ๆ

การนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ จะช่วยให้องค์กรมีความเตรียมพร้อมทั้งบุคลากร และองค์กร รวมถึงการลงทุนที่ไม่ควรเกินความสามารถขององค์กร ทำให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ช่วยให้องค์กรสามารถประคองกิจการอยู่รอดภายใต้สภาวะการแข่งขันที่สูง  ตลอดจนช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้ทุกสภาวะ นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยให้บุคลากรสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตเพื่อให้เกิดความสุขที่แท้จริงในตนเองโดยองค์กรให้การสนับสนุนและแบ่งปันทรัพยากรที่จำเป็นด้วย

“มอก.9999” ขอรับการทวนสอบได้
แม้ว่า มอก.9999 จะไม่ใช่มาตรฐานระบบการจัดการ และไม่มีจุดมุ่งหมายให้นำไปใช้เพื่อการรับรอง แต่องค์กรและอุตสาหกรรมทุกประเภทสามารถนำไปปรับใช้และขอรับการทวนสอบได้ เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม มีความมั่นคง เติบโตได้อย่างยั่งยืน และมีความสุข พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก รวมทั้งความไม่แน่นอน อันแสดงให้เห็นความสามารถในการบริหารองค์กรที่สะท้อนถึงการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้อย่างสม่ำเสมอ

ท่านที่สนใจองค์ความรู้หรือบริการทวนสอบตามมาตรฐาน มอก.9999 สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายทวนสอบด้านความยั่งยืน โทรศัพท์ 026171723 – 36  หรือ Email: 2SD@masci.or.th

ที่มา: https://www.masci.or.th/service/cert-iso-tis9999/

 730 ผู้เข้าชมทั้งหมด