แนะนำมาตรฐานใหม่ไอเอสโอในกลุ่ม “เศรษฐกิจหมุนเวียน”

Share

“เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) ได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาในฐานะแบบจำลองทางเศรษฐกิจที่สามารถเข้ามาแทนที่เศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) ในขณะเดียวกันก็ช่วยจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ได้ เช่น การเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางสังคม และการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวโดยมีข้อเสนอแนะที่ชัดเจนว่าสามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องมือนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้

ไอเอสโอหรือองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐานตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน จึงได้พัฒนากลุ่มมาตรฐาน ISO 59000 ขึ้นมาเพื่อเป็นกรอบแนวคิดสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ทำให้ทุกภาคส่วนเข้าใจตรงกันและนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล

ไอเอสโอโดยคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 232 Circular economy ได้ออกแบบมาตรฐานดังกล่าวในเชิงนิเวศน์โดยคำนึงถึงการใช้วัสดุ พลังงาน และทรัพยากรอื่น ๆ อย่างยั่งยืนในทุกขั้นตอนของกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยมีหลักการที่ครอบคลุม และพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ทรัพยากรและพลังงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอากาศ น้ำ และดิน ตลอดจนมลพิษที่เกิดจากเสียง การสั่นสะเทือน รังสี สนามแม่เหล็กไฟฟ้า และผลกระทบทางกายภาพอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับประเด็นของวัสดุเหลือทิ้งที่ผลิตในระหว่างกระบวนการผลิตและการรีไซเคิล ชุดข้อกำหนดการออกแบบสำหรับความทนทานของผลิตภัณฑ์ การนำกลับมาใช้ใหม่ ความสามารถในการอัปเกรด และความสามารถในการซ่อมแซม และสำหรับการรีไซเคิลของอุปกรณ์ต่างๆ เช่น จอแสดงผลอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องทำความเย็นเชิงพาณิชย์ เครื่องซักผ้า และเครื่องดูดฝุ่น

กลุ่มมาตรฐาน ISO 59000 ได้แก่ ISO 59004, ISO 59010, ISO 59014, ISO 59020, ISO/TR 59031, ISO 59032 และ ISO 59040

ISO 59004 – Circular economy – Vocabulary, principles and guidance for implementation ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ประกอบด้วยการกำหนดคำศัพท์และแนวคิดที่สำคัญ การสรุปวิสัยทัศน์สำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียน การชี้แจงหลักการสำคัญ และเสนอแนวทางปฏิบัติสำหรับขั้นตอนการดำเนินการที่นำไปสู่ความยั่งยืนซึ่งช่วยอำนวยความสะดกวกในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ทรัพยากรหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ISO 59010 – Circular economy – Guidance on the transition of business models and value networks ให้แนวทางสำหรับการเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจและเครือข่ายคุณค่าของเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีผลบังคับใช้กับองค์กรใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ

ISO 59014 – Environmental management and circular economy – Sustainability and traceability of the recovery of secondary materials – Principles, requirements and guidance ให้แนวปฏิบัติในการรีไซเคิลอย่างมีความรับผิดชอบเพื่อให้การฟื้นฟูทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถตรวจสอบย้อนกลับวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ (อยู่ระหว่างการพัฒนา)

ISO 59020 – Circular economy – Measuring and assessing circularity performance ให้กรอบการทำงานสำหรับกำหนดประสิทธิผลของการดำเนินการเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นเพื่อให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่ลดการใช้ทรัพยากรให้เหลือน้อยที่สุด และทำให้ทรัพยากรเกิดการหมุนเวียนซึ่งมีส่วนส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน

ISO/TR 59031 – Circular economy – Performance-based approach – Analysis of cases studies เป็นรายงานทางวิชาการที่ให้แนวทางในการบรรลุเศรษฐกิจหมุนเวียนขององค์กรซึ่งทำให้มีการใช้ทรัพยากรได้นานขึ้นโดยมีการวิเคราะห์กรณีศึกษาเป็นตัวอย่างในทางปฏิบัติ (อยู่ระหว่างการพัฒนา)

ISO/TR 59032 – Circular economy – Review of existing value networks เป็นรายงานที่วิชาการที่ใช้ทบทวนคุณลักษณะและโครงสร้างของเครือข่ายคุณค่าที่มีอยู่แล้วเพื่อเป็นตัวอย่างในการเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน และเป็นเอกสารที่ใช้ประกอบกับ ISO 59010 โดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครือข่ายคุณค่า

ISO 59040 – Circular economy – Product circularity data sheet ให้วิธีการทั่วไปในการปรับปรุงความถูกต้องและความครบถ้วนของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยอิงจากการใช้เอกสารข้อมูลการหมุนเวียนผลิตภัณฑ์เมื่อจัดหาผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังให้คำแนะนำสำหรับคำจำกัดความและการแบ่งปันเอกสารข้อมูลการหมุนเวียนของผลิตภัณฑ์โดยพิจารณาจากประเภท เนื้อหา และรูปแบบข้อมูล (อยู่ระหว่างการพัฒนา)

การนำมาตรฐานในกลุ่ม ISO 59000 ไปใช้ ทำให้ธุรกิจและองค์กรมีข้อได้เปรียบที่สำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน กรอบการทำงานตามมาตรฐานดังกล่าวไม่เพียงแต่ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของทรัพยากรและลดของเสียเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญในการบรรเทาและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย ซึ่งนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยืนต่อไป

สำหรับท่านที่สนใจองค์ความรู้หรือบริการด้านความยั่งยืนของ MASCI รวมทั้งการตรวจสอบย้อนกลับการรีไซเคิลพลาสติก และการประเมินความคล้องและส่วนผสมรีไซเคิล สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายทวนสอบด้านความยั่งยืน  Email: VVD@masci.or.th  หรือ โทรศัพท์ 026171723 – 36

ที่มา:

1. https://shorturl.at/0qbMv
2.
https://www.iso.org/insights/circular-economy-building-trust

 1,597 ผู้เข้าชมทั้งหมด