โลกคาดหวังอะไรจากการประชุม COP 29

Share

ผ่านไปเกือบ 6 เดือนแล้วสำหรับการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ COP ครั้งที่ 28 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2566 ณ เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยมุ่งประเด็นไปที่มาตรการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียสก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

ส่วนการประชุม COP ครั้งที่ 29 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 22 พฤศจิกายน 2568 ณ เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน จะเป็นการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาฯ เพื่อบรรลุกรอบความโปร่งใสที่ได้รับการปรับปรุงครั้งแรกและเป้าหมายใหม่เชิงปริมาณด้านการเงิน

เตรียมพร้อมก่อนการประชุม COP 29
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 (ค.ศ.2024)  ประธาน COP 28 ของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ประธาน COP 29 ของประเทศอาเซอร์ไบจาน และประธานาธิบดี COP 30 ของประเทศบราซิล ได้ส่งจดหมายถึงฝ่ายต่างๆ ซึ่งฝ่ายประธานทรอยก้า (COP Presidencies Troika)  ได้สรุปแผนงานสู่ภารกิจ 1.5 องศาเซลเซียส (Roadmap to Mission 1.5 °C) เพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญและเอื้ออำนวยให้สภาพแวดล้อมระหว่างประเทศเกิดการกระตุ้นให้ก้าวสู่เป้าหมายสูงสุดของการมีส่วนร่วมที่กำหนดในระดับประเทศในรอบถัดไปโดยมีมุมมองที่จะยกระดับการดำเนินการและการนำไปปฏิบัติในทศวรรษที่สำคัญนี้ และรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสไว้ให้ได้

นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 3 – 13 มิถุนายน 2567 ที่เมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี นักการทูตได้มาพบปะกันเพื่อพยายามผลักดันประเด็นที่ยากที่สุดในการเจรจาเรื่องสภาพภูมิอากาศซึ่งคือเรื่องของการเงินที่ต้องระดมทุนจากประเทศร่ำรวยสำหรับพลังงานสะอาดและการปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งเรื่องของการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสภาพภูมิอากาศระดับประเทศ  ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้นำทางการเมืองสามารถสนับสนุนข้อตกลงต่าง ๆ ได้ในการประชุมสุดยอด COP 29 ที่กำลังจะมาถึงในเดือนพฤศจิกายนนี้

ส่วนไอเอสโอก็ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อ COP 29 เช่นกัน คือเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2567 ที่สำนักงานใหญ่ของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส  ซิลวิโอ ดูลินสกี้ รองเลขาธิการไอเอสโอได้เข้าร่วมประชุมเสวนาเรื่องการเปลี่ยนแปลงพลังงานระดับสูงซึ่ง IEA ได้จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีสำหรับการประชุม COP 29 ในการขับเคลื่อนการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ

ทั่วโลกจับตา COP 29
การเจรจาล่วงหน้าพร้อมแผนงานสู่ภารกิจ 1.5 องศาเซลเซียสซึ่งสรุปเส้นทางข้างหน้าสำหรับ COP 29 ในบากู ทำให้เป็นที่คาดหวังว่าช่วงนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความสำเร็จของการประชุมนี้ขึ้นอยู่กับการบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่มุ่งสู่เป้าหมายสูงสุดและการกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศ  ทั่วโลกต่างจับจ้องไปที่เดือนพฤศจิกายนในปีนี้ซึ่งผู้นำโลกจะมีโอกาสเปลี่ยนเป้าหมายสูงสุดให้เป็นการกระทำที่เป็นรูปธรรมโดยรักษาเป้าหมายอุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียสไว้ไม่ให้เกินเอื้อม

ไอเอสโอกับการเร่งดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ
ไอเอสโอมีวิสัยทัศน์และกรอบการดำเนินงานในการเร่งดำเนินการเพื่อคาดการณ์ แก้ไขและป้องกันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่ตามมา รวมทั้งเชื่อมโยงเรื่องดังกล่าวเข้ากับมาตรการการปรับตัวให้กับการดำเนินงานของธุรกิจและองค์กรต่าง ๆ และกลยุทธ์ด้านการจัดการ ดังจะเห็นได้ว่าไอเอสโอได้พัฒนามาตรฐานหลายฉบับที่ช่วยในเรื่องดังกล่าว เช่น ISO 14080 –  Greenhouse gas management and related activities – Framework and principles for methodologies on climate actions, ISO 14090 – Adaptation to climate change – Principles, requirements and guidelines, ISO 14091 – Adaptation to climate change — Guidelines on vulnerability, impacts and risk assessment, ISO/AWI 14060 Net Zero Aligned Organizations, IWA 42 – Net zero guidelines ซึ่งในการพัฒนามาตรฐานของไอเอสโอนั้นอยู่บนพื้นฐานของความเห็นพ้องต้องกันของผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกโดยมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ทำให้เหมาะสมกับการใช้งานที่เป็นไปตามความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ทั้งนี้ มาตรฐานดังกล่าว อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของคณะกรรมการจัดการก๊าซเรือนกระจกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ISO/TC207/SC7 ซึ่งทำหน้าที่พัฒนามาตรฐานการจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อสนับสนุนความสามารถในการดำเนินการอย่างยั่งยืน

COP 29 กับการปกป้องโลก
ประชาคมโลกกำลังอยู่ระหว่างหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ความสำเร็จของ COP 29 ขึ้นอยู่กับการรักษาข้อผูกพันทางการเงินที่สำคัญและการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างเข้มแข็ง รวมทั้งการสนับสนุนของไอเอสโอซึ่งมีกรอบการดำเนินงานในการขับเคลื่อนการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศอย่างมีเป้าหมาย การปกป้องโลกด้วยภารกิจ 1.5 องศาเซลเซียสในครั้งนี้จะสำเร็จลุล่วงลงไปได้ก็ด้วยความร่วมมือและการสนับสนุนของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเสนอโอกาสสำคัญในการเปลี่ยนแปลงกระแสของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการประชุม COP 29

องค์กรของท่านสามารถมีส่วนร่วมในด้านความยั่งยืนเพื่ออนาคตที่ดีของลูกหลานของเรา  หากสนใจองค์ความรู้หรือริการทวนสอบด้านความยั่งยืนของ MASCI สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายทวนสอบด้านความยั่งยืน โทรศัพท์ 026171723 – 36  หรือ Email: VVD@masci.or.th 

ที่มา: 1. https://www.iso.org/events/cop28.html
2.
https://www.bangkokbiznews.com/environment/1129252
       3. https://shorturl.at/Kq3Mo  

 4,547 ผู้เข้าชมทั้งหมด