ไอเอสโอกับมาตรฐานฟาร์มอัจฉริยะ

Share

ในขณะที่การปฏิวัติข้อมูลกำลังเกิดขึ้นในภาคเกษตรกรรม ก็มีการนำข้อมูลที่แม่นยำไปใช้งานการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างผลผลิตทางการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยซึ่งก็หมายถึงการทำฟาร์มอัจฉริยะนั่นเอง  เกษตรกรจึงไม่อาจมองข้ามศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงของการทำฟาร์มอัจฉริยะได้  และจำเป็นต้องเตรียมรับมือกับความท้าทายอันซับซ้อนที่โลกของเรากำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้ด้วย

ความท้าทายอันซับซ้อนที่ภาคเกษตรกรรมกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันมีหลายด้าน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์  เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  และสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ซับซ้อนมากขึ้น เกษตรกรจึงจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างผลกำไร ความยั่งยืน และความเป็นอิสระในขณะเดียวกันก็ต้องจัดการกับปัญหาเหล่านั้นให้ได้ซึ่งการทำฟาร์มอัจฉริยะถือว่าเป็นทางออกที่ดี

การทำฟาร์มอัจฉริยะเป็นการตัดสินใจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและมีหลักการในห่วงโซ่มูลค่าทางการเกษตรและอาหารที่เกิดขึ้นเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพหลายวัตถุประสงค์ในบริบทของความผันผวนทั่วโลก ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน  รวมทั้งความคลุมเครือ

การทำฟาร์มอัจฉริยะมีประเด็นหลัก 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก การตัดสินใจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล  เกษตรกรจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลจริงและแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อการตัดสินใจอย่างถูกต้องด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและการมีข้อมูลที่แม่นยำซึ่งในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้มีต้นทุนสูง  ประการที่สอง ผู้เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ   ผู้เกี่ยวข้องมีหลายฝ่ายตั้งแต่เกษตรกร  ซัพพลายเออร์ ผู้บริโภค ไปจนถึงหน่วยงานภาครัฐซึ่งต้องทำงานร่วมกัน และต้องศึกษาหาความรู้และพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพของตนเองให้สามารถก้าวทันประเด็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  ประการที่สาม สภาพแวดล้อมที่คาดเดาไม่ได้  มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นราคา ทรัพยากร หรือสภาพอากาศ  ทำให้การทำฟาร์มอัจฉริยะมีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก

การทำฟาร์มอัจฉริยะที่ประสบความสำเร็จจึงเกี่ยวข้องกับประเด็นที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ ข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน และคุณภาพของข้อมูล  สำหรับข้อมูลที่เป็นมาตรฐานเป็นการแบ่งปันข้อมูลข้ามห่วงโซ่อาหารอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งต้องมีรูปแบบที่ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายสามารถเข้าใจได้ตรงกัน ส่วนคุณภาพของข้อมูลหมายความว่าข้อมูลนั้นจะต้องค้นหาได้ เข้าถึงได้  แบ่งปันได้ สามารถทำงานร่วมกันได้  นำกลับมาใช้ใหม่ได้ และเชื่อถือได้

ด้วยเหตุนี้ ไอเอสโอจึงได้ผลักดันการดำเนินงานในระดับต่าง ๆ เพื่อก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ ในการทำฟาร์มอัจฉริยะดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยได้สร้างกลุ่มที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์เกี่ยวกับการทำฟาร์มอัจฉริยะ (SAG-SF) ซึ่งมีการจัดทำโรดแมปเกี่ยวกับการทำฟาร์มอัจฉริยะ มีการศึกษาและทำความเข้าใจเป็นอย่างดีถึงบริบทและสภาพแวดล้อมด้านฟาร์มอัจฉริยะ อาหารเกษตร และบริบทในการจัดการกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ตลอดจนมีการประสานความร่วมมือกับคณะกรรมการวิชาการของไอเอสโอที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนามาตรฐานเกี่ยวกับการทำฟาร์มอัจฉริยะ  ทำให้ไอเอสโอมีมาตรฐานเกี่ยวกับการทำฟาร์มอัจฉริยะเป็นจำนวนมากซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยตอบโจทย์ความท้าทายของการทำฟาร์มอัจฉริยะเท่านั้น แต่ยังสามารถตอบสนอง SDGs ขององค์การสหประชาชาติด้วย เช่น การสร้างความมั่นใจในการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน  (SDGs 12: Responsible Consumption and Production) ปฏิบัติการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (SDGs 13: Climate Action) และการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกการดำเนินงานที่มาจากความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs 17: Partnership for Goals)

ผู้สนใจองค์ความรู้หรือบริการด้านรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายรับรองระบบ โทรศัพท์ 026171723 – 36  หรือ Email: SCD@masci.or.th 

ที่มา:   

1. https://www.iso.org/files/live/sites/isoorg/files/store/en/PUB100412.pdf
2. https://shorturl.at/GMX6G

 1,054 ผู้เข้าชมทั้งหมด