ไอเอสโอกับมาตรฐานเพื่อรับมือกับสภาพภูมิอากาศ

Share

โลกกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ของการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ในขณะเดียวกัน วิกฤตด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ยังคงเป็นภัยคุกคามระยะยาวที่ใหญ่ที่สุดที่มนุษยชาติต้องเผชิญด้วย ทั้งนี้ เป็นการวิเคราะห์จากรายงาน Global Risks Report 2022 ซึ่งสภาพอากาศสุดขั้วเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถูกมองว่าเป็นภัยระยะสั้นที่ร้ายแรงที่สุดและเป็นความเสี่ยงระยะสั้นที่ร้ายแรงที่สุดเป็นอันดับสอง ตามมาด้วยเรื่องการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอันดับสาม

จากข้อมูลของ National Oceanic and Atmospheric Administration  ระบุว่าอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 1 องศาเซลเซียสตั้งแต่ก่อนยุคอุตสาหกรรม ความร้อนสะสมอันมหาศาลนี้ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำแข็งละลาย พายุใหญ่ ภัยแล้ง คลื่นความร้อน และไฟป่าที่รุนแรงซึ่งเกิดขึ้นแล้วเป็นระยะๆ รวมทั้งเมื่อปี 2564 (ค.ศ.2021)

นอกจากนี้ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ยังได้เปิดเผยรายงานที่ระบุอย่างชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อโลกเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ สภาพภูมิอากาศสุดขั้วที่ร้อนจัด ฝนตกหนัก ภัยแล้ง ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นจะมีความรุนแรงและบ่อยขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความมั่นคงด้านอาหาร และคาดว่าโลกร้อนจะทำให้ผู้คนกว่า 183 ล้านคนในประเทศที่มีรายได้ต่ำ อดอยากและขาดสารอาหารภายในปี 2593

เมื่อเผชิญกับความเป็นจริงเช่นนี้  จึงเป็นการสนับสนุนให้รัฐบาลคิดอย่างกว้างขวางขึ้นและสร้างนโยบายที่กำหนดวาระการดำเนินการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศสำหรับปีต่อ ๆ ไป ซึ่ง “มาตรฐาน” จะเป็นส่วนหนึ่งของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีการประสานงานกันมากขึ้นกว่าเดิม

หลักการประเมินความพร้อมสำหรับ Climate Change

ทีม Climate Sense ของประเทศอังกฤษมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาขีดความสามารถสำหรับการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทำงานของ Climate Sense ครอบคลุมในระดับระหว่างประเทศทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา โดยมีการให้คำปรึกษา การฝึกอบรม และตัวชี้วัดสำหรับการเปลี่ยนแปลงเชิงองค์กรและเชิงระบบ

ทีมงานดังกล่าวมีการพัฒนากระบวนการและเครื่องมือซอฟต์แวร์ที่อิงตามความเสี่ยงเพื่อประเมินว่าองค์กรที่ปรับตัวนั้นจะเป็นอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการกำหนดเป้าหมายไปยังช่องว่างที่เหลืออยู่โดยมีกรอบการทำงานที่เรียกว่า Capacity Diagnosis & Development (CaDD)  ซึ่งได้รับการนำไปใช้อย่างกว้างขวางในระดับสากลและเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการวัดและพัฒนาความสามารถในการปรับตัวขององค์กรและระบบขององค์กรได้ดี

บอลด์วิน อาร์ แอนด์ เจ แบล็ค เป็นศูนย์กลางให้กับทีม Climate Sense ที่ทำงานให้กับสหภาพยุโรป โดยพัฒนาตารางสรุป Maturity เพื่อประเมินว่าองค์กรต่างๆ พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีเพียงใดซึ่งมีเมทริกซ์ 6 ระดับ ตั้งแต่ระดับที่ไม่ได้เตรียมตัวไปจนถึงการเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ หลักการของเมทริกซ์นี้และกระบวนการ CaDD ได้รวมอยู่ในมาตรฐาน ISO14090, Adaptation to climate change – Principles, requirements and guidelines ซึ่งใช้เสริมกับมาตรฐาน ISO14091, Adaptation to climate change – Guidelines on vulnerability, impacts and risk management เพื่อประเมินความเปราะบางของสภาพภูมิอากาศในระดับต่างๆ เนื่องจากโลกเราต้องเตรียมรับมือกับสภาพอากาศสุดขั้วทุกสภาพ เช่น ฝนที่ตกหนักมาก แต่ขณะเดียวกันก็ยังเกิดภัยแล้งด้วย

วอลเตอร์ คอล์เลนบอร์น ที่ปรึกษาด้านสภาพภูมิอากาศของบริษัท อเดลฟีฯ (adelphi) และผู้ประสานงานของคณะทำงานที่พัฒนามาตรฐาน ISO14091 อธิบายว่า การทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับสิ่งที่ยังไม่ได้ดำเนินการหรือ gap ขององค์กรเป็นส่วนสำคัญของการปรับตัว ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คณะทำงานจัดหาเครื่องมือเพื่อนำมาพิจารณาในการพัฒนามาตรฐานดังกล่าว

คอล์เลนบอร์นทำงานเกี่ยวกับการประเมิน gap ในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาเป็นเวลา 15 ปี และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการประเมิน gap ครั้งแรกของเยอรมนี ตั้งแต่นั้นมา เขาได้ทำงานเกี่ยวกับการประเมินดังกล่าวทั่วโลก และได้เขียนและสนับสนุนแนวทางที่ครอบคลุมในด้านนี้ เช่น แนวทางการประเมินสำหรับ UBA หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของเยอรมนี

จากนั้น UBA ได้เสนอมาตรฐานสากลฉบับใหม่สำหรับการประเมินความเปราะบาง ซึ่งนำไปสู่การพัฒนา ISO 14091 ซึ่งเป็นมาตรฐานเพื่อการปรับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับความเปราะบาง ผลกระทบ และการประเมินความเสี่ยง

คอล์เลนบอร์นกล่าวว่ามาตรฐานนี้เหมาะสมอย่างยิ่งกับ ISO 14090 และอธิบายว่าผลกระทบของสิ่งเร้าทางสภาพอากาศที่แตกต่างกัน เช่น อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน และความแห้งแล้ง สามารถนำไปสู่การพิจารณาในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และสังคมได้ เนื่องจากเราต้องเตรียมพร้อมสำหรับสภาพอากาศสุดขั้ว เช่น ฝนที่ตกหนัก รวมถึงภัยแล้งด้วย ซึ่งอาจหมายถึงการใช้หลักการ ‘เมืองฟองน้ำ’ (Sponge city) เช่น การรวบรวมน้ำในช่วงที่มีฝนตกชุก แล้วเก็บไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ความจริงก็คือ มีแนวทางมากมายในการปรับตัวและการประเมินความเสี่ยง และผู้คนก็รู้สึกหนักใจกับวิธีการทั้งหมดเหล่านี้ ดังนั้น ISO14091 ก็เหมือนกับมาตรฐานกรอบงาน ISO14090 ที่ช่วยสรุปและย่อแนวปฏิบัติและหลักการที่ดีที่สุดเอาไว้ใช้งาน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้โครงสร้างพื้นฐานของเราต้องปรับเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่ ไม่ว่าจะอย่างไร การปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีตราบเท่าที่เรามีเครื่องมือและกลไกในการกำหนดเป้าหมายที่จับต้องได้และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด  ซึ่งมาตรฐานไอเอสโอจะเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับแนวทางการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนโลกของเรานี้

ที่มา :   

1. https://www.iso.org/contents/news/2022/02/infrastructures-portuaires-cap-s.html
2.
https://www.thairath.co.th/news/foreign/2328465

 817 ผู้เข้าชมทั้งหมด