มาตรฐานสากลด้านการเกษตรอัจฉริยะ

Share

1.1 ISO and SMART AGRICULTUREวารสาร MASCIInnoversity ได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับฟาร์มอัจฉริยะมาแล้วหลายครั้ง เช่น  เรื่อง “ฟาร์มอัจฉริยะกับนวัตกรรมที่ยั่งยืน ตอนที่ 1” และ เรื่อง “ฟาร์มอัจฉริยะกับนวัตกรรมที่ยั่งยืน ตอนที่ 2” เป็นต้น กล่าวได้ว่าฟาร์มอัจฉริยะไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด  ไอเอสโอเชื่อว่าสิ่งนี้เปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ที่รอคอยการเติบโตอย่างอดทนสำหรับสภาวะที่เหมาะสม  และตระหนักดีว่าเกษตรกรรมเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการขจัดความหิวโหย ความยากจน หรือการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบัน มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีผสานกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากที่ดินและจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น  ทำให้เมล็ดพันธุ์แห่งฟาร์มอัจฉริยะเจริญเติบโตมากขึ้น ซึ่งไอเอสโอได้รวบรวมความคิดชั้นนำของโลกบางส่วนในด้านการเกษตรเพื่อทำให้การทำฟาร์มอัจฉริยะเป็นจริงในส่วนงานของไอเอสโอ คือ “Smart farming SAG” (Strategic Advisory Group) ที่จะให้ภาพรวมสถานะปัจจุบันของการทำฟาร์มอัจฉริยะและโอกาสสำหรับมาตรฐานโดยผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่ทำงานร่วมกันในคณะกรรมการวิชาการของไอเอสโอมากกว่า 30 คณะ

ทั้งนี้ ความท้าทายที่สำคัญหลายประการของการทำฟาร์มอัจฉริยะนั้นเกี่ยวข้องกับการทำงานร่วมกัน ความสามารถของระบบต่างๆ จากผู้ผลิตที่แตกต่างกัน เช่น รถแทรกเตอร์ โดรน และซอฟต์แวร์การจัดการฟาร์ม เป็นต้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและทำงานร่วมกัน

อันที่จริงแล้ว หัวข้อดังกล่าวมีความซับซ้อนและเป็นความท้าท้ายมาก  แต่ความโชคดีคือ นับตั้งแต่รูปแบบไฟล์ข้อมูลไปจนถึงชิปบัตรเครดิตไปจนถึงเครือข่ายพื้นที่ควบคุม สามารถทำงานร่วมกันทำได้โดยใช้ “มาตรฐาน”

ส่วนความท้าทายอื่นๆ ได้แก่ การทำฟาร์มอัจฉริยะที่มีเป้าหมายหลายอย่างมากขึ้น เช่น ความสามารถในการทำกำไร ความยั่งยืน และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ เป้าหมายเหล่านี้มักจะขัดแย้งกันเองและอาจหมายถึงสิ่งที่แตกต่างกันสำหรับผู้เพาะปลูกที่แตกต่างกันซึ่งขึ้นอยู่กับภูมิศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ และขนาดของการดำเนินงาน เป็นต้น

การทำฟาร์มอัจฉริยะสามารถให้ประโยชน์แก่เกษตรกรได้ทุกประเภทและทุกขนาด อย่างไรก็ตาม โซลูชันการทำฟาร์มอัจฉริยะต้องมีราคาที่จับต้องได้ ง่ายต่อการนำไปใช้ และนำคุณค่ามาสู่ผู้ใช้แต่ละราย เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยนำไปใช้ได้ รวมถึงการปฏิบัติการเชิงพาณิชย์ การเพาะปลูก และฟาร์มปศุสัตว์ ซึ่งปัจจุบัน ไอเอสโอกำลังสำรวจ ทำความเข้าใจ ค้นหาโอกาส และหาแนวทางเพื่อตอบโจทย์เหล่านี้ให้ได้จากการลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับเกษตรกรรายย่อยในประเทศต่าง ๆ

ไอเอสโอกำลังจะเริ่มต้นจากการพูดคุยกับเกษตรกรที่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีความท้าทายบางประการ ได้แก่ การปรับปัจจัยการผลิตพืชผลให้เหมาะสม โดยเฉพาะปุ๋ย เพื่อจัดการด้านค่าใช้จ่าย และการขาดวิธีการคาดคะเนผลผลิตที่แม่นยำซึ่งสามารถรองรับการขายและการตลาด  นอกจากนี้ ไอเอสโอจะเดินทางต่อไปยังตะวันออกกลางเพื่อสำรวจสิ่งที่เกษตรกรกำลังเผชิญหน้า ไม่ว่าจะเป็นการขาดความสามารถในการเข้าถึงตลาด การจัดหาเงินทุน หรือเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงอย่างการประกันพืชผล

หลังจากนั้น ไอเอสโอจะเดินทางต่อไปยังประเทศเยอรมนี ซึ่งอาจมีปัญหาด้านการเข้าถึงตลาดและการขนส่งสินค้าเข้าที่ดี บางคนไม่เต็มใจที่จะใช้เทคโนโลยีมากกว่านี้ และยังมีข้อกังวลประการหนึ่งคือ อาจมีการนำข้อมูลไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อผลประโยชน์ของเกษตรกร และไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้

จากความท้าทายที่กล่าวมาทั้งหมดนี้  เมล็ดพันธุ์แห่งฟาร์มอัจฉริยะกำลังจะเติบโตมากขึ้นภายใต้สภาวะที่เหมาะสม  เริ่มจากการที่ไอเอสโอกำลังรวบรวมข้อมูลและผู้เชี่ยวชาญจากทั่วทุกมุมโลกเพื่อระบุโอกาสในการพัฒนามาตรฐานที่ช่วยให้ผู้คนทำงานร่วมกับอุปกรณ์การเกษตรและซอฟต์แวร์ได้ดีขึ้น (นอกเหนือจากมาตรฐานด้านการเกษตรจำนวนนับหมื่นฉบับที่ได้เผยแพร่ไปแล้ว)  โดยใช้ข้อมูลขับเคลื่อนการทำฟาร์มอัจฉริยะที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และผู้ใช้งานอื่น ๆ อย่างแท้จริง

ที่มา: 1. https://www.iso.org/contents/news/2022/11/ISO-smart-farming-series-1.html
2. https://www.iso.org/news/ref2796.html

 824 ผู้เข้าชมทั้งหมด