ไอเอสโอช่วยแก้ปัญหาได้ในโลกแห่งความเป็นจริง

Share

ก่อนที่จะมีไอเอสโอหรือองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน ได้มีปัญหาเกี่ยวข้องกับมาตรฐานอยู่มากมาย แต่ไอเอสโอก็ได้ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกมิติในโลกแห่งความเป็นจริงโดยมีผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมารวมตัวกันเพื่อตกลงหาข้อสรุปเกี่ยวกับวิธีการที่ดีที่สุดในการดำเนินการต่างๆ ตั้งแต่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ไปจนถึงการจัดการกระบวนการ

ไอเอสโอในฐานะหนึ่งในองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่ใช่ภาครัฐที่เก่าแก่ที่สุด ได้ช่วยเปิดทางในการทำให้เกิดการค้าและความร่วมมือระหว่างผู้คนและบริษัทต่างๆ ทั่วโลกตั้งแต่ปี 2489 (ค.ศ.1946) เป็นต้นมา โดยการนำมาตรฐานสากลของไอเอสโอไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้มีส่วนช่วยให้ผู้คนใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น ปลอดภัยขึ้น และดีขึ้น

ผลงานของไอเอสโอ
ไอเอสโอได้พัฒนามาตรฐานสากลมากกว่า 25,459 มาตรฐาน ครอบคลุมเกือบทุกด้านของเทคโนโลยี การจัดการ และการผลิตและทั้งหมดรวมอยู่ในแค็ตตาล็อกมาตรฐานไอเอสโอที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสาขาต่าง ๆ ทั่วโลกสามารถนำไปใช้งานได้

สมาชิกที่เป็นตัวแทนของไอเอสโอในประเทศต่าง ๆ  ส่วนใหญ่เป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศนั้น ๆ ซึ่งสามารถเป็นทำหน้าที่สมาชิกได้เพียงหนึ่งแห่งต่อหนึ่งประเทศเท่านั้น สำหรับประเทศไทย สมาชิกของไอเอสโอคือสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)  ซึ่งเป็นสมาชิกประเภท “สมาชิกสมบูรณ์” (Member body) โดยทำหน้าที่เป็นตัวแทนด้านการมาตรฐานของประเทศ  ส่วนสมาชิกอีก  2 ประเภท ได้แก่ สมาชิกโต้ตอบ (Correspondent member) ซึ่งเป็นหน่วยงานของประเทศที่ยังไม่มีกิจกรรมด้านการมาตรฐานหรือยังไม่มีการจัดตั้งสถาบันมาตรฐานเป็นการเฉพาะ และสมาชิกรับข่าวสาร (Subscriber member) ซึ่งเป็นหน่วยงานในประเทศที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจต่ำ สมาชิกประเภทนี้จะจ่ายค่าบำรุงสมาชิกในอัตราที่ได้รับการลดหย่อน ปัจจุบัน ไอเอสโอมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 172 ประเทศ

หลักการสำคัญในการทำงานของไอเอสโอ
ปัจจุบัน ไอเอสโอมีคณะกรรมการวิชาการและคณะอนุกรรมการวิชาการที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลและพัฒนามาตรฐาน จำนวน 839 คณะ และมีแนวทางการทำงานที่ยึดมั่นในหลักการสำคัญ 6 ประการ ดังต่อไปนี้

  1. การนำความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาใช้ในการพัฒนามาตรฐาน ไอเอสโอยึดมั่นในกระบวนการพัฒนามาตรฐานที่เป็นไปตามฉันทามติหรือความเห็นพ้องต้องกัน (Consensus) ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่าความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะได้รับการพิจารณาเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย
  2. การขับเคลื่อนด้วยคุณค่าของการนำมาตรฐานไปใช้งาน ไอเอสโอให้คุณค่าของการนำมาตรฐานไปใช้เพื่อให้ทุกชีวิตได้รับความสะดวกสบายขึ้น มีความปลอดภัยมากขึ้น และดีขึ้นกว่าเดิม
  3. ความเป็นอิสระในการพัฒนามาตรฐาน ไอเอสโอมีความสามารถในการดำเนินงานและมีความเป็นกลางโดยปราศจากการมีอิทธิพลของหน่วยงานใด ๆ ซึ่งรายได้จากการขายเอกสารมาตรฐาน ทำให้ไอเอสโอมีเงินทุนในการพัฒนาองค์กรอย่างเป็นอิสระ
  4. ความสามารถในการนำมาตรฐานไปประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดี มาตรฐานทุกฉบับของไอเอสโอสามารถระบุแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดให้กับองค์กรที่นำไปใช้งานสำหรับความท้าทายระดับโลก
  5. ความมีส่วนร่วมในวงกว้างทั่วโลก สมาชิกไอเอสโอจากทุกภูมิภาคทั่วโลกได้เสนอชื่อผู้เชี่ยวชาญและลงคะแนนเสียงร่างมาตรฐานทุกฉบับ โดยมีสำนักเลขาธิการกลางช่วยประสานงานและอำนวยความสะดวกในการมีส่วนร่วมในวงกว้างในระดับโลก

ไอเอสโอช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทั่วโลก
การสร้างกรอบการทำงานที่แข็งแกร่งสำหรับภาคอุตสาหกรรมและทุกภาคส่วนของไอเอสโอ ได้ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือ และยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนทั่วโลกซึ่งทำให้ทุกภาคส่วนสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัย โดยความมุ่งมั่นของไอเอสโอในการพัฒนามาตรฐานได้ขับเคลื่อนด้วยความเห็นพ้องต้องกัน การมุ่งเน้นคุณค่า และความเป็นกลางซึ่งเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการพัฒนามาตรฐานและมุ่งสู่ความยั่งยืนต่อไป

ท่านที่สนใจองค์ความรู้หรือบริการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการต่าง ๆ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายรับรองระบบ โทรศัพท์ 026171723 – 36  หรือ Email: SCD@masci.or.th

ที่มา:

1. https://www.tisi.go.th/website/interstandard/iso
2.
https://www.iso.org/about

 4,094 ผู้เข้าชมทั้งหมด