กรณีตัวอย่าง CSR-DIW : กรณีตัวอย่างที่ 2 (ผลิต คัด แต่งผักและผลไม้ใส่ถาดพลาสติก)

บริษัทเป็นผู้ผลิต คัด แต่งผักและผลไม้ใส่ถาดพลาสติก โดยมีสถานประกอบการอยู่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม มีพนักงานประมาณ 500 คน

นโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทฯ คือ “เราจะเป็นผู้นำทางด้านการเกษตรที่ยั่งยืน สร้างเสริมให้เกิดผลประโยชน์ที่เป็นธรรมแก่เกษตรกร ผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม สังคมส่วนรวม พนักงานของบริษัทและทุกส่วนที่ร่วมอยู่ในขบวนการผลิตรวมทั้งบริษัทเอง เราจะทำการผลิตอาหารที่ปลอดภัยตามหลักมาตรฐานสากล ซื่อสัตย์ต่อคู่ค้า ปฏิบัติตามกฎหมาย โปร่งใส มีจริยธรรม เคารพสิทธิมนุษยชน สร้างความมั่นคงทางสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างต่อเนื่อง”

การดำเนินงานตามหัวข้อหลักของมาตรฐาน CSR-DIW 2552

บริษัทฯ มีการดำเนินงานตามหัวข้อหลักของมาตรฐาน CSR-DIW 2552 ที่โดดเด่นในด้านผู้บริโภค และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน โดยมีการดำเนินงาน ดังนี้

  • ด้านผู้บริโภค
    • บริษัทฯ มีการดำเนินงานที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ข้อมูลที่เป็นจริง และมีการปฏิบัติตามสัญญาอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นการแสดงข้อมูลของสินค้าที่ฉลากบนบรรจุภัณฑ์ เช่น ข้อมูลการเก็บรักษา ราคา วันหมดอายุ ฯลฯ การชดเชยผลิตภัณฑ์และการบริการ โดยการให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงและชัดเจน ด้วยการประกันคุณภาพสินค้า การเปิดเผยผลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการ
    • บริษัทฯ มีการดำเนินการเพื่อปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยการดำเนินการตามมาตรฐานคุณภาพและการควบคุมความปลอดภัยของสินค้าและแสดงต่อผู้บริโภค เช่น GMP, HACCP, BRC Standard, Global GAP, Organic Farming ฯลฯ
    • บริษัทฯ มีการส่งเสริมการบริโภคอย่างยั่งยืน โดยการคัดสรรสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และดูแลในกระบวนการเพราะปลูกให้เป็นแบบเกษตรอินทรีย์โดยดูแลตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพืช การใช้สารอินทรีย์ในการบำรุง การดูแลรักษา และการเก็บเกี่ยว และการใช้กล่องกระดาษบรรจุที่สามารถรีไซเคิลได้
    • บริษัทฯ มีการปกป้องข้อมูลของลูกค้าและป้องกันการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เช่น จัดเก็บข้อมูลลูกค้าเฉพาะที่จำเป็น นำระบบสารสนเทศมาใช้เพื่อการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล การสำรวจความพึงพอใจของลูกค้าที่บอกวัตถุประสงค์ชัดเจน
  • การมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน
    • บริษัทฯ มีการดำเนินงานที่มีส่วนร่วมกับชุมชน เช่น การจัดตั้ง “มูลนิธิเพื่อน” เพื่อช่วยเหลือเกษตรให้มีความอยู่ดีกินดี การส่งเสริมร่วมกับจังหวัดสระแก้ว ให้เกษตรกรที่สระแก้วซึ่งยากจนปลูกมันสำปะหลังไม่ได้ราคา โดยบริษัทฯ เข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกหน่อไม้ฝรั่งเพื่อเพิ่มรายได้ และมีการประกันราคาและตลาดรับซื้อแน่นอน (Contract farming)
    • ในการประกันราคารับซื้อนี้ บริษัทฯ จะรับซื้อในราคาขั้นต่ำที่ประกันไว้ โดยพิจารณาจากคุณภาพของสินค้าเป็นหลัก แม้ว่าบางครั้งราคาตลาดจะต่ำกว่าราคาประกันที่ให้เกษตรกร และในกรณีที่ราคาตลาดสูงกว่าราคาประกัน บริษัทฯ ก็จะรับซื้อเท่ากับราคาตลาด ซึ่งทำให้เกษตรกรเกิดความพึงพอใจและเคารพต่อสัญญาที่ทำร่วมกัน
    • บริษัทฯ มีการส่งเสริมด้านการศึกษาและวัฒนธรรม เช่น การให้ทุนการศึกษา หรือสนับสนุนอุปกรณ์การศึกษาโรงเรียนวัดดอนทอง วัดบ่อน้ำจืด และบุตรของพนักงาน การเข้าศึกษาดูงาน เช่น เกษตรในพี้นที่ นอกพื้นที่ นักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตร การร่วมกิจกรรมประเพณี เช่น กิจกรรมลอยกระทง ประกวดกระทงชุดแต่งกายท้องถิ่น การสร้างพระประธานที่กาญจนบุรี (พื้นที่ใกล้ Contract Farm) ช่วยเหลืองบประมาณทำถนนเข้าวัดดอนทอง และการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยการใช้ตะกร้าจากกลุ่ม โอทอปบางเลน
    • บริษัทฯ มีการสร้างงานและการพัฒนาทักษะให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ที่เป็น Contract farming ในบริเวณใกล้เคียง การรอบรมเพื่อสร้างรายได้เสริมนอกฤดูเก็บเกี่ยว การเปิดโรงกรีดข้าวโพด การประสานความร่วมมือและให้ข้อมูลกับเกษตรอำเภอ เกษตรตำบล เกษตรจังหวัด เพื่อเป็นสื่อกลางในการเป็น Contract farming และการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีโดยการส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรทำปุ๋ยชีวภาพ
    • บริษัทฯ มีการดำเนินการลงทุนด้านสังคม ให้ทุนการศึกษาโรงเรียนวัดดอนทอง ภาคเหนือ (เด็กชาวดอย) ทุกปี โครงการอาหารกลางวันที่วัดสระแก้ว มูลนิธิเพื่อน การสร้างป้อมตำรวจในพื้นที่ ผู้บริหารเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่เกษตร นักศึกษา เกษตรกรต่างประเทศ โครงการร่วมกับ FAO (Food and Agriculture Organization of the United Nations) ในการเลี้ยงดูคนชราในท้องถิ่นทุกเดือน

ผลลัพธ์จากการดำเนินงานตามมาตรฐาน CSR-DIW 2552

การดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมในด้านอื่นๆ ของบริษัทฯ ยังแรงงานไทยมีอีกหลายกิจกรรม เช่น ด้านแรงงาน บริษัทฯ มีการดำเนินงานตามมาตรฐานแรงงานไทย และการจัดหาสวัสดิการให้แก่พนักงาน นอกเหนือจากประกันสังคมแล้วยังมีการประกันสุขภาพแบบกลุ่มให้กับพนักงาน การให้พนักงานผู้หญิงที่ตั้งครรภ์สามารถลางานก่อนคลอดได้ 1 เดือน โดยยังได้รับค่าจ้างบางส่วน และการส่งเสริมการจัดตั้งสหกรณ์ที่ขายสินค้าราคาถูกให้กับพนักงาน

ผลลัพธ์ในภาพรวมของการดำเนินงานตามมาตรฐาน CSR-DIW 2552 พบว่า บริษัทฯ มีการดำเนินธุรกิจอย่างให้ความสำคัญต่อสังคมอยู่แล้ว ดังนั้น มาตรฐาน CSR-DIW 2552 จึงมีส่วนช่วยให้การบริหารจัดการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมมีความชัดเจนขึ้น โดยมีประเมินถึงผลกระทบก่อนการดำเนินกิจกรรม มีการวางแผนงาน ติดตามและวัดผล เพื่อให้ทราบถึงผลที่เกิดขึ้นและประเมินผลได้

ในมุมมองด้านเศรษฐกิจ ผลที่เห็นชัดเจนจากการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัทฯ จึงได้มีการจัดกิจกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงงานและการจัดการขยะ ซึ่งบริษัทฯ ได้มีการจัดทำโครงการลดขยะจากถุงพลาสติกในโรงงาน โดยการส่งเสริมให้พนักงานใช่ปิ่นโตแทนการใช้ถุงพลาสติกในการใส่อาหาร ซึ่งทำให้ลดปริมาณปริมาณการใช้ถุงพลาสติกได้ขยะในโรงงาน และแม่ค้าที่ขายอาหารหน้าโรงงานก็สามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกที่ใส่อาหารให้ลูกค้าได้

ผลกระทบด้านการตลาด พบว่า ในปัจจุบัน ผู้บริโภคมีการคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการผลิตและบริโภคสินค้า ดังนั้น ประเด็นด้านความรับผิดชอบต่อสังคมจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของผู้บริโภค ซึ่งการได้รับการมาตรฐาน CSR-DIW 2552 ทำให้บริษัทฯ สามารถแสดงตนได้อย่างน่าเชื่อถือและอ้างอิงได้

ในด้านสังคม พบว่า เกิดการปรับปรับปรุงและพัฒนาความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตดีขึ้น คนในพื้นที่มีอาชีพที่มั่นคงไม่ต้องเดินทางออกนอกพื้นที่เพื่อหางานทำส่งผลให้ครอบครัวอบอุ่น

ผลด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า สิ่งแวดล้อมบริเวณรอบโรงงานไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากบริษัทฯ มีการจัดการกับเศษขยะที่ดี โดยแยกประเภทขยะและจัดการด้วยวิธีต่างกัน ทำให้มีซากเหลือทิ้งน้อยมาก และมีการปลดปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมน้อยเช่นกัน