กรณีตัวอย่าง CSR-DIW : กรณีตัวอย่างที่ 1 (ชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์)

บริษัทเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2538 โดยมีสถานประกอบการอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี มีพนักงานประมาณ 700 คน

นโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทฯ คือ

  1. บริษัทฯ ผู้บริหารและพนักงานทุกคน จะปฏิบัติตามแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในสิ่งที่เป็นผลกระทบจากบริษัท ฯ โดยยอมรับในการตรวจสอบ และพร้อมที่จะรับผิดชอบในการหามาตรการแก้ไขและป้องกันการเกิดซ้ำ
  2. บริษัทฯ ผู้บริหารและพนักงานทุกคน พร้อมที่จะสื่อสารนโยบาย การตัดสินใจ และการดำเนินกิจกรรมที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน และมีการทบทวนอย่างต่อเนื่องให้เหมาะสมกับสภาวการณ์
  3. บริษัทฯ ผู้บริหารและพนักงานทุกคน จะปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม บนพื้นฐานของ วินัย สามัคคี เสียสละคุณธรรม กตัญญู โดยคำนึงถึง คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นสำคัญ
  4. บริษัทฯ ผู้บริหารและพนักงานทุกคน จะเคารพต่อผลประโยชน์และความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กรโดยคำนึงถึงสิทธิและผลประโยชน์ทางกฎหมาย และพิจารณาผลกระทบจากการตัดสินใจดำเนินกิจกรรมของบริษัท เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีร่วมกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  5. บริษัทฯ ผู้บริหารและพนักงานทุกคน จะยอมรับในการปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อกำหนด กฎข้อบังคับ โดยจัดให้มีการทบทวนความสอดคล้องและดำเนินกิจกรรมอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย
  6. บริษัทฯ ผู้บริหารและพนักงานทุกคนจะปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพในสิทธิ ความเท่าเทียมกัน และสามารถเสนอแนะปรับปรุงนโยบาย การดำเนินธุรกิจ ความเปลี่ยนแปลงของสังคม และความเป็นไปของมาตรฐานสากลเพื่อ ให้เกิดความสอดคล้องและเหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจ

การดำเนินงานตามหัวข้อหลักของมาตรฐาน CSR-DIW 2552

บริษัทฯ มีการดำเนินงานตามหัวข้อหลักของมาตรฐาน CSR-DIW 2552 ที่โดดเด่นในด้านการปฏิบัติด้านแรงงาน และสิทธิมนุษยชน โดยมีการดำเนิน
งาน ดังนี้

  • การปฏิบัติด้านแรงงาน ประเด็นด้านการจ้างงานและความสัมพันธ์ในการจ้างงาน :
    • บริษัทฯ มีการจัดทำ “ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน” อาทิ การจ้างและบรรจุพนักงาน การพ้นสภาพการเป็นพนักงาน การเลิกจ้าง ค่าชดเชย และค่าชดเชยพิเศษ การทำงานล่วงเวลาและการทำงานวันหยุด ฯลฯ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการปฏิบัติต่อพนักงานทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน
    • บริษัทฯ มีดำเนินการตามกฎหมายต่างๆ ตามฐานะนายจ้าง เช่น การชำระภาษี การจัดตั้งกองทุนเงินทดแทน การจัดทำประกันสังคมให้แก่ลูกจ้าง และมีการปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น พรบ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ในเรื่องของ เวลาทำงานและวันหยุด ค่าตอบแทนในการทำงาน และการเลิกจ้าง ค่าชดเชย และค่าชดเชยพิเศษ
    • บริษัทฯ มีการกำหนดวันหยุดในวันสำคัญต่างๆ และมีการจัดกิจกรรม เพื่อให้พนักงานได้มีโอกาสในการร่วมกิจกรรมตามประเพณี เช่น การทำบุญตัดบาตรในวันสำคัญทางศาสนา
    • บริษัทฯ ยอมรับการรวมกลุ่มของพนักงาน และเปิดโอกาสให้ตัวแทนของพนักงานมีสามารถเข้าถึงผู้มีอำนาจในการตัดสินขององค์กร เช่น “คณะกรรมการอยู่ดีมีสุข” ที่มาจากการเลือกตั้งของพนักงาน ซึ่งมีหน้าที่เป็นตัวแทนพนักงานเพื่อดูแลเรื่องสภาพความเป็นอยู่ สวัสดิการ และผลตอบแทนของพนักงาน เป็นตัวกลางในการสื่อสารกับผู้บริหาร และประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานแก่พนักงาน
    • บริษัทฯ มีการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน เช่น การกำหนดนโยบายด้านความปลอดภัย คุณภาพชีวิตในการทำงานและสิ่งแวดล้อม การประเมินความเสี่ยงในการทำงานและการให้ความรู้แก่พนักงาน การติดตั้ง/จัดหาอุปกรณ์เพื่อป้องกันอันตรายในการทำงาน การปรับเปลี่ยนงานที่ไม่อันตรายแก่พนักงานหญิงตั้งครรภ์ และการจัดตรวจสุขภาพประจำปีและการรับคำปรึกษาจากแพทย์แก่พนักงาน
    • บริษัทฯ มีการดำเนินการพัฒนาและฝึกอบรมพนักงาน ทั้งในด้านทักษะสำหรับปฏิบัติงาน พฤติกรรม และจริยธรรม เช่น การจัดกิจกรรมลดละเลิกอบายมุข โดยรณรงค์ให้พนักงานที่สามารถลดละเลิกอบายมุขได้ให้มาลงชื่อแสดงตน โดยบริษัทจะจ่ายเงินให้รายชื่อละ 10 บาท เพื่อนำไปสมทบกับกองทุนของบริษัทที่จะนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมต่างๆ
  • ด้านสิทธิมนุษยชน
    • บริษัทฯ มีการประเมินและตรวจสอบสถานะขององค์กร เพื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นและจะเกิดในอนาคต โดยแสดงให้เห็นใน “คู่มือความรับผิดชอบต่อสังคมและจรรยาบรรณทางธุรกิจ (Code of Conduct)” หมวดที่ 2 การปฏิบัติภายใต้สิทธิและเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และมีการปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อให้สอดคล้องตามหลักการดังกล่าว พร้อมทั้งมีการจัดทำแผนงานและติดตามผล
    • บริษัทฯ มีจัดให้มีปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐาน (ค่าจ้าง สวัสดิการ ผลตอบแทน) ห้องพยาบาลซึ่งมีเจ้าหน้าที่และพยาบาลประจำห้อง มีแพทย์มาให้คำปรึกษาทุกเดือน และยารักษาโรคพื้นฐานในปริมาณที่เพียงพอ และความช่วยเหลือในกรณีต่างๆ เช่น การช่วยเหลือพนักงาน กรณีประสบความเดือดร้อนจากเหตุการณ์หรือภัยพิบัติต่างๆ และสวัสดิการกองทุนเงินกู้ฉุกเฉิน
    • บริษัทฯ มีการดำเนินการเพื่อประเมินและจัดการกับกิจกรรมของบริษัทฯ ที่อาจมีผลต่อสิ่งแวดล้อม เด็ก การคอรัปชั่น เช่น การตรวจวัดน้ำเสียทุกเดือน ซึ่งในแต่ละเดือนก็อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ทางนิคมฯ กำหนด ทำให้ไม่มีผลต่อชุมชน, การอนุญาตให้ลูกของพนักงานได้เข้ามาดูงานในโรงงาน โดยต้องอยู่ในความดูแลของผู้ปกครอง
    • บริษัทฯ มีการดำเนินการที่ระมัดระวังในด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การตรวจค้นพนักงานหญิงตามระเบียบต้องดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ผู้หญิงเช่นกัน การละเว้นการติดกล้องวงจรปิดในบริเวณที่เป็นพื้นที่ที่พนักงานจะทำกิจกรรมส่วนตัว เช่น ห้องน้ำ การจัดพื้นที่ห้องพักผ่อน (ช่วงพัก) โดยแบ่งพื้นที่ของพนักงานผู้หญิงและผู้ชาย
    • บริษัทฯ มีการดำเนินการในด้านข้อร้องเรียนและการให้ความเป็นธรรมแก่พนักงาน โดยช่องทางในการรับข้อร้องเรียนหลายช่องทาง อาทิ กล่องรับความคิดเห็นจากพนักงาน บันทึกข้อความ การแจ้งด้วยวาจา การแจ้งด้วยวาจา และผ่านทาง “คณะกรรมการอยู่ดีมีสุข” รวมถึงการรับข้อร้องเรียนจากภายนอก ซึ่งได้มีการกำหนดกระบวนการในการดำเนินงานที่ชัดเจน

ผลลัพธ์จากการดำเนินงานตามมาตรฐาน CSR-DIW 2552

กิจกรรมของบริษัทฯ ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และสอดคล้องกับมาตรฐาน CSR-DIW 2552 ยังมีอีกหลายกิจกรรม อาทิเช่น โครงการโรงเรียนเชิงนิเวศน์ โรงเรียนวัดกลางคลองหลวง ต.ไร่หลักทอง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี เพื่อถ่ายทอดความรู้และจัดกิจกรรมกลุ่ม ให้เด็กนักเรียนจัดตั้งกิจกรรม โรงเรียนเชิงนิเวศน์ พัฒนาธนาคารขยะและประหยัดพลังงานในโรงเรียนโดยกิจกรรม Small group Activity ป.1 – ป.6 การจัดกิจกรรมทำบุญวันเกิดทุกเดือน โดยนิมนต์พระมาที่โรงงานให้พนักงานที่มีวันเกิดในเดือนนั้นทำบุญตักบาตรโดยบริษัทจัดหาของใส่บาตรไว้ให้ และการร่วมประชุมกับผู้นำชุมชน ผอ.โรงเรียนวัดกลางคลองหลวง และตัวแทนชาวบ้าน ต.ไร่หลักทอง เพื่อสำรวจปัญหาและวางแผนพัฒนาและลงความเห็นในการพัฒนาชุมชน เป็นต้น ทำให้เกิดผลลัพธ์ในต่างๆ

ในมุมมองทางด้านเศรษฐกิจหรือด้านการเงินของบริษัทฯ พบว่า ยังไม่สามารถวัดเป็นมูลค่าได้ชัดเจน แต่สิ่งที่เห็นได้จัดเจนแสดงออกมาในรูปแบบของความพึงพอใจของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อกิจกรรมต่างๆ ของบริษัทฯ โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้บริหารและพนักงานของบริษัทฯ ในกิจกรรมที่ถือเป็นผู้ให้ ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ ในส่วนของกิจกรรมที่เพิ่งเริ่มดำเนินการ และคาดว่าน่าจะสามารถวัดผลได้ชัดเจน คือการดำเนินงานการจัดการพลังงานในองค์กร ผลลัพธ์ในด้านลูกค้า พบว่า การดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมจะส่งเสริมในด้านการสร้างความไว้วางใจให้แก่ลูกค้า ทำให้บริษัทฯ เข้มแข็งขึ้น