กรณีตัวอย่าง ISO 14001 : กรณีตัวอย่างที่ 10 (ชิ้นส่วนยานยนต์)

1. บริษัท J จำกัด

  • ข้อมูลทั่วไปของสถานประกอบการ

บริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งมีสัดส่วนในการจำหน่ายในประเทศ : ต่างประเทศ เป็น 67 :33 โดยประเทศที่ส่งออกมากที่สุดได้แก่ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม ไต้หวัน มาเลเซีย ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ และอาร์เจนตินา บริษัทก่อตั้งในปี พ.ศ.2530 ปัจจุบันมีจำนวนพนักงานทั้งสิ้นประมาณ 2,756 คน

บริษัทได้รับการรับรองในระบบบริหารงานคุณภาพ ISO 9001 ซึ่งได้รับการรับรองครั้งแรกในปี พ.ศ.2540 มาก่อนได้รับการรับรองในมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 โดยได้รับการรับรองครั้งแรกในปี พ.ศ.2541 และได้รับการรับรองครั้งล่าสุดในปี พ.ศ.2549

  • ก่อนการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001)

ในช่วงก่อนการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม บริษัทประสบปัญหาเกี่ยวกับการไม่ทราบว่าเรื่องใดเป็นลักษณะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ (Significant Environmental Aspects: SEAs) ของบริษัท และการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมของบริษัทยังไม่ชัดเจน รวมถึงระบบการจัดเอกสารยังไม่เป็นระบบเท่าที่ควร ซึ่งเหตุผลที่ทำให้บริษัทตัดสินใจจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) เนื่องจาก

  1. เป็นข้อกำหนดของบริษัทแม่
  2. เป็นความต้องการของผู้บริหารภายในบริษัท
  3. บริษัทมีความตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมทั้งภายในบริษัทและชุมชนใกล้เคียง
  4. ต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัท
  5. ต้องการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
  6. ตอบสนองความต้องการของลูกค้าและตลาด
  7. ต้องการปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมายหรือข้อบังคับของภาครัฐและประเทศคู่ค้า
  8. ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
  9. ต้องการปรับปรุงการปฏิบัติงานและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ขณะที่บริษัทเริ่มจัดทำมาตรฐาน ISO 14001 นั้น บริษัทไม่มีการจัดจ้างที่ปรึกษาในการจัดทำระบบดังกล่าว แต่มีการจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับความรู้เรื่องมาตรฐาน ISO 14001 ให้กับพนักงานโดยใช้วิทยากรจากภายในบริษัท โดยบริษัทได้ขอการรับรองมาตรฐาน ISO 14001 อย่างต่อเนื่อง เป็นจำนวน 3 ครั้ง (3 ปี/ครั้ง)

  • สถานการณ์การนำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001:2004) มาใช้ในบริษัท

  • สิ่งที่ได้รับจากการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม

มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) ช่วยทำให้บริษัทฯ ได้ภาพลักษณ์ที่ดีในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในองค์กร ลูกค้ามีความพอใจมากขึ้น และประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานสูงขึ้น รวมถึงสามารถแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทจนเห็นผลได้จริง ได้แก่ เรื่องการดูแลเครื่องดักฝุ่น (Dust Collector) และการจัดการของเสีย ซึ่งสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ โดยสะท้อนในรูปของ

  1. การลดค่าไฟภายในองค์กรจากเดิมก่อนการจัดทำมาตรฐาน ISO 14001 ร้อยละ 4
  2. การลดค่าน้ำภายในองค์กรจากเดิมก่อนการจัดทำมาตรฐาน ISO 14001 ร้อยละ 23.6
  3. การลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดของเสียภายในองค์กรจากเดิมก่อนการจัดทำมาตรฐาน ISO 14001 ร้อยละ 15 เนื่องจากมีการคัดแยกและลดของเสียที่ขบวนการผลิต ทำให้ของเสียลดลง

ซึ่งทางบริษัทถือว่ามาตรฐานระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ISO 14001 ให้ความคุ้มค่ามาก ในเรื่องการดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ให้เกิดผลกระทบต่อบริษัทและชุมชน

  • แนวโน้มของมาตรฐานและระเบียบ/ข้อกำหนดใหม่ ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมที่จะมีผลกระทบต่อบริษัท

ปัจจุบันบริษัทจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเฉพาะมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 เพียงมาตรฐานเดียวเท่านั้น ส่วนมาตรฐาน ระเบียบ/ข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น ระเบียบยานยนต์หมดอายุ (End of Life Vehicle: ELV) เป็นต้น ทางบริษัทยังไม่มีการจัดทำ เนื่องจากยังไม่มีการเรียกร้องจากลูกค้า

  • ปัญหาและอุปสรรคจากการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001:2004)

เนื่องจากคณะทำงานมีประสบการณ์จากการทำมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ ISO 9001 จึงไม่ประสบปัญหาในการจัดทำระบบ และพนักงานในบริษัทให้ความร่วมมือในการจัดทำระบบและจัดส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี

  • ข้อเสนอแนะ

ควรมีการสื่อสารและให้ความรู้กับพนักงานในบริษัทได้เข้าใจเกี่ยวกับระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมก่อน แล้วพนักงานจะรู้สึกเสมือนตนเองเป็นส่วนหนึ่งของระบบดังกล่าว และให้ความร่วมมือพร้อมทั้งสนับสนุนในส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง