กรณีตัวอย่าง ISO 14001 : กรณีตัวอย่างที่ 2 (แผงวงจรไฟฟ้า)

1. บริษัท B จำกัด

  • ข้อมูลทั่วไปของสถานประกอบการ

บริษัทผลิตแผงวงจรไฟฟ้า เครื่องรับโทรทัศน์สี และผลิตภัณฑ์ระบบโพรเฟสชันแนล ซึ่งมีการส่งออกต่างประเทศ 100% โดยส่งให้บริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา โดยบริษัทก่อตั้งในปี พ.ศ.2532 ปัจจุบันมีจำนวนพนักงานประมาณ 1,300 คน โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 2 กะ คือ กะเช้า และกะค่ำ

บริษัทได้รับการรับรองมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ ISO 9001 มาก่อน หลังจากนั้นบริษัทจึงได้ขอการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 ซึ่งได้รับการรับรองครั้งแรกในปี พ.ศ.2542 และครั้งล่าสุดในปี พ.ศ.2548

  • ก่อนการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001)

ในช่วงแรกของการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ทางบริษัทยังไม่ประสบปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม แต่สาเหตุที่ทำให้บริษัทตัดสินใจในการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) เนื่องจากเป็นนโยบายของบริษัทแม่ (สำนักงานใหญ่) ให้ทุก ๆ บริษัทในเครือจัดทำมาตรฐานระบบดังกล่าว

ซึ่งทางบริษัทฯ ได้ขอการรับรองตามมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) อย่างต่อเนื่องเป็นจำนวน 3 ครั้ง (3 ปี/ครั้ง) ซึ่งขณะที่เริ่มต้นจัดทำมาตรฐาน ISO 14001 นั้น ทางบริษัทฯ ได้มีการจัดจ้างที่ปรึกษาในการจัดทำระบบดังกล่าว ซึ่งที่ปรึกษาให้คำปรึกษาแนะนำและจัดทำระบบดังกล่าวเป็นเวลา 12 เดือน โดยที่ปรึกษาให้คำแนะนำเกี่ยวกับหลักการการกำหนดเกณฑ์การประเมินลักษณะปัญหาสิ่งแวดล้อม (Significant Environmental Aspects)

นอกจากนี้ทางบริษัทได้จัดฝึกอบรมความรู้ความสามารถทางด้านมาตรฐาน ISO 14001 ให้กับพนักงาน โดยจัดให้มีการอบรมโดยใช้วิทยากรทั้งจากภายในและภายนอกบริษัท ซึ่งได้จัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ไว้ประมาณ 30,000 บาทต่อคนต่อปี

  • สถานการณ์การนำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001:2004) มาใช้ในบริษัท

  • สิ่งที่ได้รับจากการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม
    มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) ช่วยทำให้บริษัทฯ ได้ภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น หรือมีภาพลักษณ์โดดเด่นชัดเนขึ้นด้านสิ่งแวดล้อม

นอกจากบริษัทฯ จะได้ภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นแล้ว มาตรฐาน ISO 14001 ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับบริษัทฯ โดยสะท้อนในรูปของ

  1. การลดค่าไฟภายในองค์กรจากเดิมก่อนการจัดทำมาตรฐาน ISO 14001 ร้อยละ 25
  2. การลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดของเสียจากเดิมก่อนการจัดทำมาตรฐาน ISO 14001 ร้อยละ 20
  3. ช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ ได้แก่ การแยกขยะจากสำนักงาน เช่น กระดาษ ขวดพลาสติก ซึ่งทางบริษัทสามารถนำไปจำหน่ายกลับมาเป็นรายได้ให้กับบริษัท

ทั้งนี้บริษัทได้มีการตั้งโครงการประจำปีในเรื่องของการงดใช้สารตะกั่ว โดยมีเป้าหมาย 40% ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด และบริษัทสามารถดำเนินการได้ตามเป้า

  • แนวโน้มของมาตรฐานและระเบียบ/ข้อกำหนดใหม่ ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมที่จะมีผลกระทบต่อบริษัท

บริษัทฯ ได้มีการจัดทำระเบียบ RoHS (Restriction of the Use of the Certain Hazardous Substance) ขณะนี้บริษัทดำเนินการระเบียบดังกล่าวไปแล้ว 80% ซึ่งเหตุผลที่บริษัทจัดทำระเบียบดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของลูกค้า (ลูกค้าเรียกร้อง) แต่ลูกค้าบางส่วนยังไม่มีการเรียกร้องเกี่ยวกับระเบียบดังกล่าว แต่บริษัทมีนโยบายที่จะดำเนินการในเรื่องของระเบียบดังกล่าวให้ได้ 100% โดยลำดับการจัดทำระเบียบดังกล่าวตามเงื่อนไขของลูกค้าที่เรียกร้อง

  • ปัญหาและอุปสรรคจากการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001:2004)

ระหว่างการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ทางบริษัทไม่ประสบปัญหาใด ๆ เนื่องจากมีการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษามาคอยจัดวางระบบ และให้คำปรึกษาแนะนำตลอดการจัดทำมาตรฐานดังกล่าวภายในบริษัท แต่หลังจากที่ขอรับการตรวจประเมินพบว่าประสบปัญหาบ้าง ในลักษณะของบริษัทที่ปรึกษาและทีมผู้ตรวจประเมินมีมุมมองในการจัดทำและรักษาระบบที่แตกต่างกัน เช่น การตีความหมายของข้อกำหนดในตัวมาตรฐานดังกล่าว รวมถึงระบบเอกสารหรือบันทึกบางรายการ ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาให้คำแนะนำว่าไม่จำเป็นต้องจัดทำ แต่ในข้อกำหนดของมาตรฐานแนะว่าต้องจัดทำเพื่อให้สะดวกเมื่อเรียกใช้ง่าย และมีพร้อมใช้ที่จุดปฏิบัติงาน เป็นต้น

  • ข้อเสนอแนะ

ผู้บริหารของบริษัทควรให้การสนับสนุนในการจัดทำมาตรฐานระบบ ISO 14001 เนื่องจากมาตรฐานดังกล่าวเป็นมาตรฐานสมัครใจ ดังนั้นการจะให้พนักงานในบริษัทปฏิบัติตามหรือให้ความร่วมมือต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องของการสร้างความสามัคคีให้กับพนักงาน พร้อมทั้งสร้างจิตสำนึกไปพร้อมกัน