กรณีตัวอย่าง ISO 14001 : กรณีตัวอย่างที่ 4 (ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์)

1. บริษัท D จำกัด

  • ข้อมูลทั่วไปของสถานประกอบการ

บริษัทผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนอิเล็คโทรนิกส์ โดยมีสัดส่วนการจำหน่ายในประเทศ : ต่างประเทศเป็น 40:60 โดยประเทศที่ส่งออกมากที่สุดได้แก่ เวียดนาม ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลี ฮ่องกง มาเลเซีย ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา บริษัทก่อตั้งในปี พ.ศ.2530 ปัจจุบันมีจำนวนพนักงานทั้งสิ้นประมาณ 146 คน

ทางบริษัทได้รับการรับรองมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ ISO 9001 มาก่อนการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 ซึ่งเริ่มจัดทำระบบในปี พ.ศ.2545 และได้รับการรับรองครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2546 โดยได้รับการรับรองครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2549

  • ก่อนการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001)

ก่อนการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม บริษัทไม่ประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่สาเหตุที่ทำให้บริษัทตัดสินใจจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) เนื่องจาก

  1. เป็นนโยบายของบริษัทแม่
  2. เป็นความต้องการของผู้บริหารภายในบริษัท
  3. บริษัทต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในด้านสิ่งแวดล้อม
  4. บริษัทมีความตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมทั้งภายในบริษัทและชุมชนใกล้เคียง
  5. บริษัทต้องการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
  6. ตอบสนองความต้องการของลูกค้าและตลาด
  7. บริษัทต้องการปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมายหรือข้อบังคับของภาครัฐและประเทศคู่ค้า

ซึ่งบริษัทฯ ได้ขอการรับรองตามมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) อย่างต่อเนื่อง โดยขณะที่เริ่มจัดทำมาตรฐาน ISO 14001 นั้น บริษัทไม่มีการจัดจ้างที่ปรึกษาในการจัดทำระบบดังกล่าว เนื่องจากมีพื้นฐานจากการจัดทำระบบบริหารงานคุณภาพ ISO 9001 มาก่อนแล้ว และมีผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทแม่เป็นผู้ให้คำปรึกษาและแนะนำในการจัดทำระบบ ซึ่งบริษัทใช้ระยะเวลาในการจัดทำมาตรฐานระบบ ISO 14001 รวม 11 เดือน

นอกจากนี้ทางบริษัทได้จัดฝึกอบรมความรู้ความสามารถทางด้านมาตรฐาน ISO 14001 ให้กับพนักงาน โดยจัดให้มีการอบรมโดยใช้วิทยากรทั้งจากภายในและภายนอกบริษัท ซึ่งได้จัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ไว้ประมาณ 30,000 บาทต่อปี นอกจากค่าใช้จ่ายในการอบรมเกี่ยวกับมาตรฐาน ISO 14001 แล้ว บริษัทยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ค่าใช้จ่ายในการตรวจประเมิน และการรักษาระบบ (Survillance) และต่ออายุการขอการรับรองระบบ (Reassessment) รวมเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ 200,000 บาท

  • สถานการณ์การนำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001:2004) มาใช้ในบริษัท

  • สิ่งที่ได้รับจากการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม

หลังจากบริษัทได้จัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) แล้ว บริษัทได้รับผลตอบรับที่ดีในเรื่องของลูกค้ามีความพอใจมากขึ้น และสามารถแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้จริง ซึ่งได้แก่เรื่องของการจัดการกับกากของเสีย

นอกจากผลตอบรับที่ดีดังกล่าวข้างต้นแล้ว มาตรฐานระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมยังช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับบริษัทฯ โดยสะท้อนในรูปของ

  1. การลดค่าไฟภายในองค์กรจากเดิมก่อนการจัดทำมาตรฐาน ISO 14001 ร้อยละ 1
  2. การลดค่าน้ำภายในองค์กรจากเดิมก่อนการจัดทำมาตรฐาน ISO 14001 ร้อยละ 3
  3. การลดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ จากเดิมก่อนการจัดทำมาตรฐาน ISO 14001 ร้อยละ 10 ได้แก่ การใช้ทรัพยากรกระดาษ

จากผลตอบรับดังกล่าวข้างต้น บริษัทถือว่าการนำมาตรฐานระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ISO 14001 มาปฏิบัติแล้ว ได้รับผลความคุ้มค่าในระดับปานกลาง ในเรื่องของการใช้พลังงานไฟฟ้า และการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ภายในบริษัท

  • แนวโน้มของมาตรฐานและระเบียบ/ข้อกำหนดใหม่ ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมที่จะมีผลกระทบต่อบริษัท

บริษัทมีแนวโน้มที่จะจัดทำระเบียบ RoHS โดยเหตุผลที่บริษัทจัดทำระเบียบดังกล่าวซึ่งเป็นระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการห้ามใช้สารอันตราย 6 ประเภทในผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็คโทรนิกส์ เนื่องจาก

  1. ตอบสนองความต้องการของลูกค้าและตลาด
  2. เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายหรือข้อบังคับของประเทศคู่ค้า

ถึงแม้ว่าระเบียบดังกล่าวจะเป็นระเบียบที่ประกาศใช้โดยประเทศในแถบสหภาพยุโรปก็ตาม แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัท โดยเฉพาะประเทศมาเลเซียให้ความสำคัญกับระเบียบดังกล่าว จึงทำให้บริษัทมีนโยบายที่จะจัดทำระเบียบ RoHS

  • ปัญหาและอุปสรรคจากการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001:2004)

ในระหว่างการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ทางบริษัทไม่ประสบปัญหาในการจัดทำระบบ เนื่องจากมีทีมงานจากบริษัทแม่คอยให้คำแนะนำตลอดระยะเวลาของการจัดทำระบบ และทีมงานของบริษัทเองยังมีประสบการณ์จากการจัดทำมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพมาก่อนแล้ว จึงทำให้การแต่งตั้งและมอบหมายหน้าที่ให้กับพนักงาน รวมถึงการสื่อสารเกี่ยวกับการจัดทำระบบดังกล่าวไม่ประสบปัญหาใด ๆ

  • ข้อเสนอแนะ

มาตรฐาน ISO 9001 เป็นมาตรฐานพื้นฐานสำหรับการจัดทำระบบอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้ทีมงานมีความเข้าใจและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการทำงานต่าง ๆ ภายในบริษัทมีความเป็นระบบขึ้น และเมื่อจัดทำมาตรฐาน ISO 9001 แล้วจึงจัดทำมาตรฐานระบบอื่น ๆ ที่มีความเฉพาะทางต่อไป