กรณีตัวอย่าง ISO 14001 : กรณีตัวอย่างที่ 6 (ชิ้นส่วนยานยนต์)

1. บริษัท F จำกัด

  • ข้อมูลทั่วไปของสถานประกอบการ

เป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้กับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยมีสัดส่วนในการจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศเป็น 70:30 ซึ่งประเทศที่ส่งออกได้แก่ ประเทศในแถบยุโรป และญี่ปุ่น ในด้านการจำหน่ายภายในประเทศเป็นลักษณะของการจำหน่ายให้ร้านค้าตัวแทนจำหน่าย

บริษัทก่อตั้งในปี พ.ศ.2518 โดยมีบริษัทในเครือทั้งสิ้น 3 บริษัท (บริษัท สมบูรณ์แอ๊ดวานซ์เทคโนโลยี จำกัด บริษัท สมบูรณ์หล่อเหล็กเหนียวอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท บางกอกสปริงอินดัสเตรียล จำกัด) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ จ.สมุทรปราการ และมีสาขาของ บริษัท สมบูรณ์แอ๊ดวานซ์เทคโนโลยี จำกัดที่ จ.ระยอง อีกแห่งหนึ่ง บริษัทในกลุ่มมีจำนวนพนักงานทั้งสิ้นประมาณ 1,750 คน

ทางบริษัทได้จัดทำมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ ISO 9001 และระบบบริหารงานด้านคุณภาพสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ISO/TS 16949 มาก่อนการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 (ได้รับการรับรองครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2542) เนื่องจากมาตรฐาน ISO 9001 เป็นมาตรฐานพื้นฐานในการพัฒนาสู่การจัดทำระบบอื่น ๆ ต่อไป แต่ TS 16949 เป็นมาตรฐานที่ตรงกับลักษณะธุรกิจของบริษัท นอกจากนี้ยังมีการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการ หรือข้อกำหนด/ระเบียบอื่น ๆ เช่น มอก./TIS18001 QWL (Quality of Work Life) TPM (Total Productive Maintenance) ELV (End of Life Vehicle) เป็นต้น ซึ่งทางบริษัทฯ ได้มีการจัดทำระเบียบ ELV บ้าง แต่ยังไม่ได้ขอการรับรองจากหน่วยรับรองใด ๆ

  • ก่อนการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001)

ในช่วงเริ่มต้นก่อนการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) ทางบริษัทยังไม่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงข้อร้องเรียนใด ๆ จากชุมชนใกล้เคียง ซึ่งทางบริษัทฯ มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างง่าย ๆ เช่น การจัดการน้ำเสียจากโรงงาน พบว่าแต่เดิมโรงงานยังไม่มีบ่อบำบัดน้ำเสีย อาศัยการปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองระบายน้ำรอบโรงงาน (แหล่งน้ำสาธารณะ) ซึ่งในช่วงเวลานั้นรอบ ๆ โรงงานยังเป็นเพียงที่โล่ง ไม่มีหมู่บ้านอยู่ใกล้เคียง

แต่ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2541 ทางบริษัทจำเป็นต้องจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) ซึ่งใช้เวลาประมาณ 12 เดือน ในการจัดทำระบบตามมาตรฐาน โดยสาเหตุที่ทำให้ทางบริษัท ตัดสินใจจัดทำมาตรฐานดังกล่าว (ISO 14001) เนื่องจาก

  1. เพื่อต้องการปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมายหรือข้อบังคับของประเทศคู่ค้า (ซึ่งกำหนดว่าบริษัทที่จะผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม)
  2. เพื่อต้องการปรับปรุงการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ซึ่งทางบริษัทได้ขอการรับรองตามมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) อย่างต่อเนื่องเป็นจำนวน 2 ครั้ง (3 ปี/ครั้ง) ซึ่งขณะที่เริ่มต้นจัดทำมาตรฐาน ISO 14001 นั้น ทางบริษัทไม่มีการจัดจ้างที่ปรึกษาในการจัดทำระบบดังกล่าว เนื่องจากพนักงานในบริษัทมีประสบการณ์จากการจัดทำระบบบริหารงานคุณภาพ (ISO 9001) มาก่อนแล้ว

นอกจากนี้ทางบริษัทได้มีแผนประจำปีสำหรับการจัดฝึกอบรมให้กับพนักงานโดยอาศัยวิทยากรภายในองค์กรในการอบรม ซึ่งในขั้นเริ่มต้นจะจัดอบรมให้พนักงานในระหว่างการปฐมนิเทศ ได้แก่ TPM (Total Productive Maintenance) ความปลอดภัย (มอก./TIS18001) และเรื่องสิ่งแวดล้อมในโรงงาน ส่วนการฝึกอบรมเพิ่มเติมของพนักงานรายบุคคลจะจัดอยู่ในแผนการฝึกอบรมประจำปี

  • สถานการณ์การนำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001:2004) มาใช้ในบริษัท

ทางบริษัทมีนโยบายเยี่ยมชุมชนใกล้เคียงทุกเดือน และไม่ให้มีข้อร้องเรียนจากชุมชนดังกล่าว จึงจำเป็นต้องรักษาสภาพแวดล้อมรอบของบริษัท ทั้งน้ำเสีย เสียง อากาศ และมลพิษอื่น ๆ และให้ความร่วมมือกับชุมชนใกล้เคียงโดยเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน เช่น การทำบุญประจำปี การแจกของช่วยเหลือเด็กในชุมชน เป็นต้น

  • สิ่งที่ได้รับจากการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม

มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) ช่วยทำให้บริษัทได้ภาพลักษณ์ที่ดีในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในบริษัท และช่วยสร้างความมั่นใจให้กับหน่วยงานราชการ และสถาบันการเงิน เนื่องจากทางบริษัทได้เข้าตลาดหลักทรัพย์

นอกจากบริษัทได้ภาพลักษณ์ที่ดีแล้ว มาตรฐาน ISO 14001 ยังช่วยทำให้บริษัทฯ มีระบบการจัดการที่ดีขึ้นจากเดิมก่อนการจัดทำมาตรฐานดังกล่าว และช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับบริษัทฯ โดยสะท้อนในรูปของ

  1. การลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงภายในองค์กรประมาณ 6 ล้านบาทต่อปี
  2. ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดของเสียประมาณ 1 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากมีการนำของเสียไปบำบัดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ ได้แก่ สาร Coolant (สารหล่อเย็น ทั้งน้ำและน้ำมัน) และน้ำมัน Hydraulic โดยนำไปบำบัด (treat) ด้วยวิธีการกรอง (filter) แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งสาร Coolant และน้ำมัน Hydraulic ที่ผ่านกระบวนการต่าง ๆ แล้วถูกจัดว่าเป็นของเสีย เนื่องจากมีการปนเปื้อนของเศษฝุ่นเหล็ก จึงทำให้คุณสมบัติต่าง ๆ ทางกายภาพเปลี่ยนแปลงไป แต่เมื่อผ่านการกรองเพื่อแยกเศษฝุ่นเหล็กออกแล้ว สามารถนำของเสียดังกล่าวกลับมาใช้ได้ใหม่ โดยยังมีคุณสมบัติเหมือนเดิม
  3. ลดการใช้น้ำภายในองค์กร โดยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดจากระบบบำบัดน้ำเสียแล้ว ทางบริษัทฯ จะนำไปใช้ในการรดน้ำต้นไม้ภายในโรงงาน

นอกจากนี้บริษัทได้มีมาตรการตรวจสอบ Suppliers (ผู้รับจ้างช่วง) เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมีมาตรฐานในระดับเดียวกับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยบริษัทเช่นเดียวกัน และเพื่อให้ Suppliers ดังกล่าวมีมาตรฐานในการทำงานที่ได้คุณภาพตามที่บริษัทกำหนดไว้

  • แนวโน้มของมาตรฐานและระเบียบ/ข้อกำหนดใหม่ ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมที่จะมีผลกระทบต่อบริษัท

บริษัทได้มีการจัดทำระเบียบ ELV (End of Life Vehicle) บ้างแล้ว ซึ่งระเบียบดังกล่าวเป็นระเบียบที่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมยานยนต์ เพียงแต่บริษัทยังไม่ได้ขอการรับรองจากหน่วยรับรองใด ๆ โดยทางบริษัทคาดว่า หากลูกค้าหรือประเทศคู่ค้าเรียกร้อง ก็พร้อมที่จะขอการรับรองและปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบดังกล่าว

  • ปัญหาและอุปสรรคจากการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001:2004)

ในช่วงเริ่มต้นของการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) ทางบริษัทพบปัญหาและอุปสรรคเล็กน้อย อันได้แก่ แรงต่อต้านจากพนักงานภายในบริษัท แต่เนื่องจากบริษัทมีวัฒนธรรมองค์กรในเรื่องของการปฏิบัติตามกฎระเบียบ รวมถึงมีการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน โดยผูกเงื่อนไขของการปฏิบัติตามกฎระเบียบเพื่อให้ได้ตามตัวชี้วัด (KPI) กับค่า incentives จึงทำให้พนักงานปฏิบัติตามและมีความมุ่งมั่นเพื่อให้ได้ตามตัวชี้วัดดังกล่าว

นอกจากนี้ทางบริษัทยังมีการสื่อสารในเรื่องของงบประมาณและการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลการดำเนินงานทั้งที่เป็นไปตามตัวชี้วัดและไม่เป็นไปตามตัวชี้วัดให้พนักงานทราบ เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้กับพนักงานอีกแรงหนึ่ง

  • ข้อเสนอแนะ

การจัดการทางด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของสภาพแวดล้อมในการทำงานและการให้ความสำคัญกับสุขภาพของพนักงานในบริษัทฯ เมื่อสภาพแวดล้อมในการทำงานและสุขภาพของพนักงานดี ส่งผลให้การทำงานของพนักงานดีตามไปด้วย

นอกจากนั้นพบว่าการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้ โดยสะท้อนถึงการลดค่าน้ำ ค่าไฟ และการลดต้นทุนในการจัดการของเสียจากโรงงาน เป็นต้น