กรณีตัวอย่าง ISO 14001 : กรณีตัวอย่างที่ 1 (แผงวงจรไฟฟ้า)

1. บริษัท A จำกัด

  • ข้อมูลทั่วไปของสถานประกอบการ

บริษัทผลิตแผงวงจรไฟฟ้า ผลิต Integrated Circuit (IC) และชิ้นส่วนอิเล็คโทรนิกส์ สำหรับ โทรศัพท์เคลื่อนที่ กล้องถ่ายรูป และวิทยุในรถยนต์ จำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ มีสัดส่วนในการจำหน่ายคือ 95:5 (ใน : ต่างประเทศ) โดยประเทศที่ส่งออกมากที่สุด คือ ประเทศญี่ปุ่น (บริษัทแม่) ส่วนภายในประเทศเป็นการกระจายผลิตภัณฑ์ไปยังร้านตัวแทนจำหน่าย

บริษัทก่อตั้งในปี พ.ศ.2488 ซึ่งเป็นลักษณะของการกระจายกำลังการผลิตจากบริษัทแม่ (Head Quater) สู่ประเทศอื่น ๆ โดยทางบริษัทแม่เป็นผู้กำหนดนโยบายต่าง ๆ ให้บริษัทในเครือปฏิบัติตาม ปัจจุบันบริษัทมีจำนวนพนักงานทั้งสิ้นประมาณ 2,700 คน แบ่งออกเป็น 10 ฝ่าย (Division) ได้แก่ ฝ่ายบริหารงานทั่วไป ฝ่ายการเงินและบัญชี ฝ่ายฝึกอบรม ฝ่ายผลิต ฝ่าย Planing ฝ่าย Production Engineer ฝ่ายตรวจสอบคุณภาพ ฝ่ายสนับสนุนข้อมูล ฝ่ายอุปกรณ์และเครื่องมือ และฝ่ายจัดซื้อ

ทางบริษัทมีการจัดทำมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ (ISO 9001) ซึ่งได้รับการรับรองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 มาก่อนการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) โดยได้รับการรับรองครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2540 หลังจากนั้นได้จัดทำมาตรฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของพนักงานและผลิตภัณฑ์ของบริษัท อันได้แก่ มอก./TIS18001 และระบบบริหารงานด้านคุณภาพสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ISO/TS 16949

  • ก่อนการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001)

ช่วงเริ่มต้นก่อนการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) บริษัทยังไม่ประสบปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีการจัดการที่ดีตามนโยบายของบริษัทแม่อยู่แล้ว แต่สาเหตุที่ทำให้บริษัทตัดสินใจในการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) เนื่องจาก

  1. ต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัทในด้านสิ่งแวดล้อม
  2. ต้องการยกระดับมาตรฐานระบบการจัดการของบริษัท

ซึ่งทางบริษัทได้ขอการรับรองตามมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) อย่างต่อเนื่องเป็นจำนวน 3 ครั้ง (3 ปี/ครั้ง) ซึ่งขณะที่เริ่มต้นจัดทำมาตรฐาน ISO 14001 นั้น ทางบริษัทฯ ได้มีการจัดจ้างที่ปรึกษาในการจัดทำระบบดังกล่าว ซึ่งที่ปรึกษาให้คำปรึกษาแนะนำและจัดทำระบบดังกล่าวเป็นเวลา 12-14 เดือน โดยที่ปรึกษาให้คำแนะนำเกี่ยวกับหลักการการกำหนดเกณฑ์การประเมินลักษณะปัญหาสิ่งแวดล้อม (Significant Environmental Aspects)

นอกจากนี้ทางบริษัทได้จัดฝึกอบรมความรู้ความสามารถทางด้านมาตรฐาน ISO 14001 ให้กับพนักงาน โดยจัดให้มีการอบรมโดยใช้วิทยากรทั้งจากภายในและภายนอกบริษัท สำหรับพนักงานใหม่ทางบริษัทมีการจัดอบรมปฐมนิเทศจำนวน 3 วัน และจัดอบรม On the Job Training (OJT) จำนวน 15-30 วัน เพื่อให้พนักงานใหม่มีความรู้ความสามารถ และเข้าใจระบบการทำงานของบริษัท

ปัจจุบันบริษัทได้มีการเปลี่ยนหน่วยรับรอง (Certification Body: CB) ตามนโยบายของบริษัทแม่ที่ให้บริษัทในเครือข่ายขอการรับรองจากหน่วยรับรองเดียวกันทั้งหมด

  • สถานการณ์การนำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001:2004) มาใช้ในบริษัท

  • สิ่งที่ได้รับจากการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม

มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) ช่วยทำให้บริษัทได้ภาพลักษณ์ที่ดีในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในบริษัท และช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

นอกจากบริษัทจะได้ภาพลักษณ์ที่ดีแล้ว มาตรฐาน ISO 14001 ยังช่วยทำให้บริษัทมีระบบการจัดการที่ดีขึ้นจากเดิมก่อนการจัดทำมาตรฐานดังกล่าว และช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับบริษัทโดยสะท้อนในรูปของ

  • การลดค่าไฟภายในองค์กรจากเดิมก่อนการจัดทำมาตรฐาน ISO 14001 ร้อยละ 15
  • การลดค่าน้ำภายในองค์กรจากเดิมก่อนการจัดทำมาตรฐาน ISO 14001 ร้อยละ 15

เนื่องจากทางบริษัทได้มีการนำพลังงานไฟฟ้า และน้ำมาประเมินเป็นลักษณะปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย และนำมาจัดตั้งเป็นโครงการในแต่ละปีเพื่อลดปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำภายในบริษัท รวมถึงทางบริษัทแม่ได้กำหนดนโยบายให้แต่ละบริษัทในเครือเกี่ยวกับการลดการใช้ทรัพยากร โดยบริษัทแม่มีการประเมินศักยภาพของแต่ละบริษัทก่อนจึงจะกำหนดนโยบาย

  • แนวโน้มของมาตรฐานและระเบียบ/ข้อกำหนดใหม่ ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมที่จะมีผลกระทบต่อบริษัท

บริษัทมีแนวโน้มที่จะขอการรับรองในมาตรฐานระบบอื่น ๆ ได้แก่ SA 8000 (Social Accountability 8000) และระเบียบ RoHS (Restriction of the use of the certain Hazardous Substance) ซึ่งขณะนี้ทางบริษัทได้มีการจัดทำระเบียบ RoHS ในบางส่วนแล้วเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทแม่

  • ปัญหาและอุปสรรคจากการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001:2004)

ในระหว่างการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ทางบริษัทไม่ประสบปัญหาเกี่ยวกับการจัดทำระบบ เนื่องจากมีการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้คำแนะนำ และอบรมเกี่ยวกับมาตรฐานดังกล่าวให้กับพนักงาน

  • ข้อเสนอแนะ
    1. สำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการต่าง ๆ แต่ต้องการจัดทำมาตรฐานดังกล่าว ทางภาครัฐอาจให้การสนับสนุนเกี่ยวกับ
      • การให้ความรู้ในเรื่องของมาตรฐาน ISO 14001
      • มีที่ปรึกษาให้ผู้ประกอบการขอรับคำแนะนำต่าง ๆ
      • ควรมีแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมที่แจ้งถึงผู้ประกอบการโดยตรง หรืออาจเป็นในลักษณะของ Law Center สำหรับผู้ประกอบการ
    2. มาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ ISO 9001 เป็นมาตรฐานพื้นฐานสำหรับการจัดทำระบบอื่น ๆ ต่อไป ดังนั้นก่อนที่บริษัทต่าง ๆ จะจัดทำมาตรฐานเฉพาะ เช่น ISO 14001, TIS/OHSAS 18001, ISO/TS 16949 ฯลฯ ควรเริ่มจากการจัดทำมาตรฐาน ISO 9001 ก่อน