กรณีตัวอย่าง ISO 9001 : กรณีตัวอย่างที่ 7 (อสังหาริมทรัพย์)

1. ข้อมูลทั่วไป
บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบเขตอุตสาหกรรม พร้อมสาธารณูปโภคในพื้นที่โครงการ ซึ่งถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกในประเทศไทย ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 10 ล้านบาท และได้มีการเพิ่มทุนเพื่อนำเงินมาขายการลงทุนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคภายในโครงการและจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถรองรับการขยายตัวของโรงงานและชุมชนภายในโครงการที่มีอยู่ตลอดเวลา ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 1,452.59 ล้านบาท โดยในปี 2545 ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Stock Exchange of Thailand: SET) เป็นบริษัทมหาชน

ด้านการขยายการลงทุนของบริษัทในปี 2539 บริษัทได้ซื้อที่ดินเพื่อใช้เป็นสถานก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียแห่งใหม่ให้สามารถรองรับการบำบัดน้ำเสียภายในโครงการและพัฒนาเพื่อขาย และเมื่อต้นปี 2546 ได้จัดซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาเป็นเขตปลอดอากร (Free Zone – FZ) และในปี 2548 บริษัทได้จัดทำโครงการผลิตน้ำเพื่ออุตสาหกรรม และในปี 2549 ได้ซื้อที่ดิน นำมาพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรมพรีเมี่ยมโซน ทำให้ปัจจุบันโครงการเขตอุตสาหกรรมมีพื้นที่โครงการทั้งสิ้นประมาณ 6,310 ไร่

ความโดดเด่นของโครงการเขตอุตสาหกรรม ที่ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ที่เป็นประตูสู่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงเหมาะที่จะเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ ในการกระจายสินค้า และขนส่ง มีความสะดวกสบายในการเดินทาง พร้อมระบบสาธารณูปโภคที่ครบครัน มีการบำรุงรักษาที่ต่อเนื่อง และมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มากมาย จึงมีลูกค้าเป็นบริษัทชั้นนำกว่า 190 บริษัท โดยมีบุคลากรที่ร่วมดำเนินงานในระดับต่างๆ ประมาณ 170 คน

2. วิสัยทัศน์และกลยุทธ์หลัก
วิสัยทัศน์ของบริษัทคือ มุ่งมั่นพัฒนาเขตอุตสาหกรรมให้เป็นที่รู้จักกับนักลงทุน โดยมีกลยุทธ์หลัก คือ การเร่งพัฒนาที่ดินเพื่อการขยายให้ทันความต้องการของผู้ลงทุน ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคให้มีความพร้อมเสมอ และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บุคลากรของบริษัทมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนกลยุทธ์โดยการระดมความคิดจากผู้อำนวยการฝ่ายต่างๆ มาใช้เป็นข้อมูลในการทำแผนธุรกิจประจำปี รวมทั้งแผนระยะกลาง และแผนระยะยาว ซึ่งเป็นแนวทางการจัดแผนกลยุทธ์แบบ “Bottom Up” โดยการนำความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติระดับกลางและระดับล่างมาใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนด้วย

ปัจจุบัน บริษัทยังมุ่งเน้นการขายพื้นที่สำหรับทำการอุตสาหกรรม ที่พักอาศัย และพื้นที่สำหรับการประกอบธุรกิจการค้า โดยยึดหลักสร้างสรรค์และอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน ดังคำขวัญที่ว่า “อุตสาหกรรมล้ำหน้า พัฒนาที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภคก้าวไกล” และยังมีกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น การแจกถุงยังชีพให้แก่ชาวบ้านที่ประสบอุทกภัย งานโครงการจังหวัดเคลื่อนที่ของจังหวัดในการมอบเครื่องเติมอากาศคลองแบบ 4 ใบพัด เพื่อใช้เป็นสาธารณะประโยชน์แก่ชุมชน สำหรับใช้ในการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงคุณภาพน้ำคลอง และการมอบเครื่องคอมพิวเตอร์แก่โรงเรียน

3. การพัฒนาระบบ ISO 9001 มาใช้ในองค์กร
ก่อนที่จะนำระบบ ISO 9001 มาใช้ บริษัทมีปัญหาด้านการจัดเก็บเอกสารให้เป็นระบบและปัญหาการสื่อสารไม่ชัดเจน ซึ่งวัตถุประสงค์ในการพัฒนาระบบ ISO 9001 มาใช้ในบริษัทเพื่อต้องการปรับปรุงการปฏิบัติงานและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

บริษัทฯ ได้เริ่มนำระบบ ISO 9001 มาใช้ตั้งแต่ปี 2545 โดยมีการพัฒนาระบบประมาณ 8 เดือน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพนักงานประมาณ 50,000 บาท ทั้งนี้ บริษัทได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO 9001:2000 ในการพัฒนาที่ดิน และการให้บริการระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ในเขตอุตสาหกรรม สำหรับครั้งแรกในเดือนกันยายน 2545 และขอการรับรองอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้รับการตรวจรับรองระบบเมื่อเดือนกันยายน 2548 โดยมีค่าใช้จ่ายในการตรวจรับรองและตรวจติดตามแต่ละครั้งประมาณ 164,000 บาท

4. ผลที่เกิดขึ้นหลังการจัดทำระบบ ISO 9001
การนำระบบ ISO 9001 มาใช้ในบริษัทสามารถแก้ไขปัญหาอุปสรรคในด้านการจัดการกับเอกสารไม่เป็นระบบ ปัญหาด้านการสื่อสารไม่ชัดเจน และปัญหาความไม่ชัดเจนในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่แต่ละฝ่าย และยังมีผลกระทบในด้านอื่นๆ ดังนี้

1) ด้านการเงิน
การนำระบบ ISO 9001 มาใช้ในบริษัทมีผลกระทบต่อการดำเนินงานด้านการเงินของบริษัทในระดับมาก คือ ช่วยให้มีรายได้จากกลุ่มลูกค้าใหม่ บริการรูปแบบใหม่เพิ่มขึ้น ช่วยในการขยายกิจการและการลงทุน และความพึงพอใจของผู้ถือหุ้น และมีผลกระทบระดับปานกลางในด้านการเพิ่มขึ้นของรายได้จากกลุ่มลูกค้าเดิมและการบริหารต้นทุนให้ลดลง เนื่องจากบริษัทมีการพัฒนาการดำเนินงานอย่างมีทิศทางตามกลยุทธ์ขององค์กรและมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการบรรลุวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ ทำให้สามารถขยายพื้นที่ให้บริการการนิคมอุตสาหกรรมได้ รองรับการขยายตัวของผู้ประกอบการได้ทั้งในด้านพื้นที่และรูปแบบการให้บริการที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้บริการ ทำให้สามารถขยายฐานลูกค้าใหม่และมีรายได้เพิ่มขึ้น กิจการมีการขยายมากขึ้นและลงทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ มีการปรับปรุงกระบวนการบริหารงานต่าง ๆ และมอบหมายหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน การร่วมแสดงความคิดเห็นในการกำหนดกลยุทธ์องค์กร และมีการสื่อสารสร้างความเข้าใจในกระบวนการทำงานต่าง ๆ ให้ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ทำให้กิจกรรมดำเนินงานต่าง ๆ มีความสัมพันธ์กัน ลดปัญหาความซ้ำซ้อนในการทำงาน ส่งผลให้ต้นทุนในการบริหารงานลดลงได้

2) ด้านลูกค้า
บริษัทมีฝ่ายการตลาดที่ทำหน้าที่ดูแลลูกค้าโดยตรง โดยมอบหมายให้นักลงทุนสัมพันธ์ทำหน้าที่ในการออกเยี่ยมลูกค้าเป้าหมาย เพื่อสอบถามความคิดเห็นและความต้องการของลูกค้า ตามแผนงานที่กำหนดไว้ ซึ่งฝ่ายการตลาดมีการนำข้อมูลจากการสำรวจไปใช้ในการประมวลผลเพื่อดูว่ามีปัญหาในด้านใด จึงประสานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันหาแนวทางดำเนินการเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด แล้วนำเสนอต่อผู้บริหารระดับสูงพิจารณาต่อไป

การนำระบบ ISO 9001 มาใช้ในองค์กร โดยมีกระบวนการในการสร้างความเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าดังกล่าวข้างต้น และการให้ลูกค้าหรือผู้ที่มีแนวโน้มเป็นลูกค้าได้ทราบบทบาทของบริษัทอย่างชัดเจน รวมทั้งมีกระบวนการปฏิบัติงานภายในอย่างเป็นระบบ จึงมีผลกระทบอย่างมากในผลการดำเนินงานด้านลูกค้า ทำให้สามารถรักษาลูกค้าเดิม เพิ่มความสามารถในการให้บริการลูกค้า และความสามารถในการแก้ไขข้อร้องเรียนของลูกค้าได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ ทำให้บริษัทสามารถตอบสนองได้ตรงกับความต้องการของลูกค้า และรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

3) ด้านกระบวนการจัดการภายใน
ด้านกระบวนการให้บริการ บริษัทได้มีการจัดการที่ค่อนข้างเป็นระบบอยู่พอสมควร การนำ ISO 9001 มาประยุกต์ใช้ มีส่วนช่วยในด้านการจัดการกับเอกสารให้เป็นระบบและสอดคล้องกับการใช้งานมากยิ่งขึ้น สำหรับผลที่มีต่อการปรับปรุงกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับซับพลายเออร์นั้นมีค่อนข้างน้อย เนื่องจากเป็นลักษณะของงานบริการ ซึ่งบริษัทเป็นผู้ควบคุมและดำเนินงานเองโดยตรง โดยได้กำหนดกระบวนการทำงานต่าง ๆ ไว้ชัดเจน และมีระบบการจัดทำเอกสารรองรับ ทำให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความสับสนและลดระยะเวลาในการทำงานได้

นอกจากนี้ บริษัทมีการปรับปรุงการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีกระบวนการทบทวนการดำเนินงานและป้องกันปัญหา ซึ่งบริษัทได้มีการสื่อสารกระตุ้นให้แก่พนักงานร่วมกันทำงานเป็นกลุ่มในเรื่องที่เกี่ยวข้องและแจ้งผลการทำงานให้ได้ทราบ มีการประชุมระดับฝ่ายเพื่อสร้างวิสัยทัศน์และเป้าหมายในการทำแผนธุรกิจเพื่อให้กระจายไปในทุกฝ่ายและถึงพนักงานทุกระดับ โดยผู้อำนวยการฝ่ายและหัวหน้างานต้องเป็นผู้ชี้แจงให้พนักงานทราบถึงการเปลี่ยนแปลง แนวทางและเป้าหมายที่บริษัทต้องการจะไปรวมถึงข้อดี ข้อเสีย และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

4) การเรียนรู้และพัฒนา
ในการพัฒนาความรู้และทักษะของพนักงาน มีการกำหนดความรู้ความสามารถของพนักงานในแต่ละส่วน สำหรับพนักงานทางฝ่ายทรัพยากรบุคคลมีการปฐมนิเทศเพื่อให้พนักงานได้รู้จักถึงกระบวนการทำงาน กระบวนการให้บริการ และผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ จากนั้นจะมีการฝึกอบรมโดยหัวหน้างานและประเมินผลจากการอบรมด้วย ซึ่งจะทำให้พนักงานมีความรู้ที่จำเป็นต่อการทำงาน และพนักงานทราบถึงกระบวนการทำงาน โดยรู้ว่าจะต้องทำขั้นตอนใดก่อนหลัง การทำรายงานที่จำเป็น ข้อมูลสำหรับการนำเสนอต่อหัวหน้างานและผู้บริหาร และทำในช่วงเวลาใด

บริษัทมีความเห็นว่า พนักงานในบริษัทมีความรู้สึกว่าในการนำระบบ ISO 9001 มาใช้นี้ช่วยทำให้สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น เพราะมีกฎเกณฑ์และระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจน สังเกตได้จากการผลงานของพนักงานที่สามารถทำงานได้เสร็จตามเวลาที่กำหนดหรือมีงานที่คั่งค้างลดลง และสถิติการขาดงานของพนักงานมีน้อยและไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก

ในส่วนของการปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานจะรวบรวมข้อมูลจากสถิติต่างๆ ลูกค้าที่มาใช้บริการ ข้อร้องเรียน ข้อผิดพลาด ข้อบกพร่อง และปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น เพื่อนำมาพิจารณาและวิเคราะห์ถึงสาเหตุและความสำคัญของปัญหา แล้วนำไปหาแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข กำหนดผู้รับผิดชอบ และเวลาในการดำเนินการต่อไป ตัวอย่างของการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง คือ กรณีการเก็บค่าบริการ ซึ่งในระยะแรกมีการส่งใบแจ้งหนี้โดยให้พนักงานดำเนินการซึ่งมีความล่าช้า ต่อมาได้นำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้และนำข้อมูลของลูกค้าเก็บรวบรวมไว้ในฐานข้อมูล (Data Base) และใช้โปรแกรมออกใบแจ้งหนี้ ทำให้มีความรวดเร็วและลดข้อผิดพลาดได้มาก และในส่วนของการเงิน นอกจากจะให้ลูกค้าชำระค่าบริการต่างๆ ที่สำนักงานแล้ว ยังได้เพิ่มช่องทางการชำระเงินโดยลูกค้าสามารถชำระค่าบริการโดยโอนผ่านบัญชีธนาคารได้ ซึ่งสร้างความสะดวกให้กับลูกค้าได้มากขึ้น

นอกจากการประยุกต์ใช้ ISO 9001 ได้ส่งผลให้ทักษะและความรู้ของพนักงานเพิ่มขึ้นในระดับที่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการทบทวนปรุบปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการพัฒนางานโดยใช้คอมพิวเตอร์สนับสนุนการทำงานให้เป็นที่พอใจของลูกค้าเพิ่มขึ้นได้ดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังได้ส่งผลให้ทำงานเป็นกลุ่มเพิ่มขึ้น ทำให้ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพิ่มมุมมองในการแก้ไขปัญหาและยอมรับไปปฏิบัติตามได้อย่างเหมาะสม

5. ปัญหาอุปสรรค
ในช่วงแรกที่นำระบบ ISO 9001 มาใช้ในบริษัท พบว่าการทำงานยังมีข้อผิดพลาดและไม่สอดคล้องกับข้อกำหนด เนื่องจากมีปัญหาในการตีความและยังไม่มีความคุ้นเคยกับการจัดระบบงานต่าง ๆ แต่เมื่อได้ทำความเข้าใจและมีความชำนาญมากขึ้นทำให้ปัญหาดังกล่าวลดลงไปได้มาก

ปัญหาอุปสรรคระหว่างการพัฒนาระบบ ISO 9001 ในบริษัทที่มีผลกระทบในระดับมาก คือ ปัญหาการจัดการกับเอกสาร รองลงมาได้แก่ การทำความเข้าใจกับข้อกำหนด ความร่วมมือของพนักงานในองค์กร ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมบุคลากร การขาดบุคลากรที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง และการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานตามข้อกำหนด ทั้งนี้ บริษัทมีปัญหาน้อยมากในเรื่องการสนับสนุนของผู้บริหาร เนื่องจากผู้บริหารเห็นความสำคัญของการนำระบบดังกล่าวมาใช้และสร้างความเข้าใจกับพนักงานถึงประโยชน์การพัฒนาระบบการบริหารจัดการ

6. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
บริษัทเห็นว่าการนำระบบ ISO 9001 มาใช้ มีความคุ้มค่ากับการลงทุน เนื่องจากทำให้บริษัทมีระบบการทำงานที่เป็นมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น และมีความจำเป็นต่อการบริหารจัดการในองค์กร เนื่องจากทำให้มีเป้าหมายและกระบวนการทำงานสอดคล้องกัน เกิดประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีและมีความต่อเนื่อง

สำหรับองค์กรที่ยังไม่ได้ทำระบบ ISO 9001 ควรพิจารณาว่าการนำระบบมาใช้จะมีผลต่อการบริหารจัดการที่เป็นระบบและช่วยให้การติดตามประเมินดีขึ้น ส่วนภาครัฐควรให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดทำระบบบางส่วน และให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรเพิ่มขึ้น