แรงบันดาลใจ…จากสงครามโลกสู่มาตรฐานสากล

Share

การถือกำเนิดของไอเอสโอหรือองค์การระหว่างประเทศถือได้ว่าเป็น “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” เนื่องจากไอเอสโอมีจุดเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสงครามโลก กล่าวคือ ย้อนกลับไปในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อปี 2457 (ค.ศ.1914) ฝ่ายสัมพันธมิตรเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญประการหนึ่งคือ เมื่อพวกเขายิงระเบิดใส่คู่ต่อสู้ ระเบิดเหล่านั้นไม่ได้ระเบิดเสมอไป เพราะยังมีข้อบกพร่องบางอย่างอยู่

ต่อมา เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี 2482 (ค.ศ.1939) ฝ่ายสัมพันธมิตรกลับมีปัญหาใหญ่กว่าเดิม พวกเขามีผู้รับเหมาช่วงหลายรายที่ดูแลการผลิตระเบิด  และบางครั้งระเบิดเหล่านั้นก็ระเบิดขึ้นขณะอยู่ในที่เก็บของ ส่งผลให้ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องสูญเสียทั้งทรัพยากร กำลังคน และเวลาไปมากมาย

ระบบการจัดการช่วยแก้ไขปัญหา

วิธีแก้ปัญหาที่ฝ่ายสัมพันธมิตรคิดขึ้นมาคือผู้รับเหมาช่วงต้องพัฒนาระบบการจัดการสำหรับการดำเนินงานของตนเอง ซัพพลายเออร์แต่ละรายต้องร่างการปฏิบัติงานของตนให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และส่งมอบให้กับฝ่ายพันธมิตร แต่แน่นอนว่า สิ่งที่ใช้ได้ผลกับซัพพลายเออร์รายแรก อาจไม่ได้ผลสำหรับซัพพลายเออร์อีกรายหนึ่ง นั่นหมายความว่าฝ่ายพันธมิตรต้องถอดรหัสตรรกะที่อยู่เบื้องหลังระบบการจัดการทั้งหมดที่ถูกร่างขึ้นโดยซัพพลายเออร์

สิ่งนี้ทำให้ฝ่ายพันธมิตรจัดทำแนวทางบางอย่างแก่ผู้รับเหมาช่วง ฝ่ายพันธมิตรแนะนำว่าระบบการจัดการของพวกเขาควรจะเป็นอย่างไรโดยนำสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำทั้งหมดมาเรียงกัน ซึ่งเป็นที่รู้จักเป็นครั้งแรกในฐานะระบบการจัดการคุณภาพระบบ และในปัจจุบันเรียกว่า ISO 9001 นั่นเอง

การก่อตั้งไอเอสโอ
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ มาตรฐานไอเอสโอที่ได้รับการยอมรับครั้งแรกนั้นยังไม่ได้เกิดขึ้นแต่อย่างใดจนกระทั่งหลังสงครามสิ้นสุดลงในปี 2488 (ค.ศ.1945)  ในเวลาต่อมา ไอเอสโอหรือองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐานจึงได้รับการก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2490 (ค.ศ.1947)

ส่วน ISO 9001 ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2530 (ค.ศ.1987) ในช่วงเวลานั้น มาตรฐานได้ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งมีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ปัจจุบัน มาตรฐานดังกล่าวได้รับการปรับเปลี่ยนและสามารถนำไปใช้กับอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย นับตั้งแต่อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ  ไปจนถึงอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์

นับตั้งแต่ปี 2490 จวบจนถึงปัจจุบัน ไอเอสโอได้พัฒนามาตรฐานสากลไปแล้วถึง 25,370 ฉบับ  และได้แต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการและคณะอนุกรรมการวิชาการไปแล้ว 834 คณะ โดยมีประเทศสมาชิกรวม 171 ประเทศ โดยประเทศหนึ่ง ๆ สามารถเป็นสมาชิกของไอเอสโอในนามของประเทศในฐานะสถาบันมาตรฐานแห่งชาติได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ซึ่งประเทศไทย ก็คือ สมอ.นั่นเอง

มาตรฐานยอดนิยม
ในบรรรดามาตรฐานไอเอสโอจำนวน 25,370  ฉบับนั้น มีมาตรฐานระบบการจัดการเพียง 80 ฉบับเท่านั้น ส่วนที่เหลือมุ่งเน้นไปที่ข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์และมาตรฐานอื่น ๆ แต่ถึงแม้ว่ามาตรฐานระบบการจัดการจะเป็นเพียงส่วนน้อย แต่ก็ได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานทั่วโลกเป็นอย่างสูง เช่น ISO 9001, ISO 14001, ISO 45001, ISO/IEC 27001 และ ISO 22000 ฯลฯ ดังปรากฏในผลสำรวจของไอเอสโอ (ISO Survey) ซึ่งท่านสามารถอ่านเรื่องราวความเป็นมาของ ISO 9001 ได้จากบทความเรื่อง “เรื่องเล่า…เล่าเรื่อง…ISO 9001”

องค์กรสากลผู้ก่อพลังแห่งความดี
เรื่องราวของไอเอสโอแสดงให้เห็นว่าความท้าทายไม่ใช่ปัญหาและอุปสรรค แต่เป็นสิ่งที่ช่วยจุดประกายนวัตกรรมได้เป็นอย่างดี ความต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีความสม่ำเสมอและเชื่อถือได้ในช่วงสงครามโลกได้นำไปสู่การพัฒนาระบบการจัดการคุณภาพระบบแรก ซึ่งปูทางไปสู่มาตรฐาน ISO 9001 และมาตรฐานสากลอีกมากมายที่ส่งผลดีต่อชีวิตของเราในปัจจุบัน

งานที่กำลังดำเนินอยู่ของไอเอสโอไม่เพียงแต่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเท่านั้น  แต่ยังช่วยดูแลในเรื่องคุณภาพความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมสำหรับอุตสาหกรรมทั่วโลกมานับไม่ถ้วน  ไอเอสโอจึงเป็นองค์กรที่ก่อให้เกิดพลังแห่งความดีระดับโลกอยู่เสมอมา

สำหรับท่านที่สนใจองค์ความรู้หรือบริการด้านการรับรองระบบการจัดการ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายรับรองระบบ โทรศัพท์ 026171723 – 36  หรือ Email: SCD@masci.or.th

ที่มา:

1. https://www.iso.org/management-system-standards.html
2.
https://lukedesira.com/history-of-iso-standards/

 696 ผู้เข้าชมทั้งหมด