MSS ก้าวสำคัญของการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Share

จากบทความเรื่อง “ไอเอสโอรุกลดภาวะโลกร้อนด้วยการปรับปรุงมาตรฐานระบบการจัดการ” เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งกล่าวถึงการที่ไอเอสโอหรือองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐานและไอเอเอฟหรือองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองระบบงานได้นำข้อพิจารณาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมารวมเข้ากับมาตรฐานระบบการจัดการของไอเอสโอ (MSS) ที่มีอยู่เดิมและมาตรฐานใหม่ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นในการจัดการกับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศนั้น  มีคำถามที่น่าสนใจว่าทำไมจึงมีการประกาศออกมาในช่วงนี้  ทำไมไม่รอให้ทำการแก้ไขมาตรฐานก่อนแล้วค่อยประกาศใหม่

คำตอบคือไอเอสโอเห็นว่ามีความจำเป็นต้องรวมหัวข้อด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปในการแก้ไขทันทีโดยไม่ต้องรอให้มาตรฐานแต่ละฉบับได้รับการปรับปรุงเสียก่อน เนื่องจากเมื่อพิจารณาขนาดของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่มีต่อชีวิตประจำวันของคนทั่วโลกเป็นอย่างมากแล้ว ทำให้ต้องเร่งดำเนินการในทันที  อย่างไรก็ตาม ได้มีการกำหนดไว้แล้วว่ามาตรฐานที่อยู่ระหว่างการแก้ไข เช่น ISO 9001, ISO 14001 หรือ ISO 37001 จะรวมการแก้ไขนี้ไว้ในเวอร์ชันใหม่ด้วย

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวตามเอกสารของไอเอสโอนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรจะพิจารณาประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในบริบทของประสิทธิผลของระบบการจัดการ นอกเหนือจากประเด็นอื่นๆ ทั้งหมด ข้อความเพิ่มเติมเหล่านั้นในแต่ละมาตรฐานระบบการจัดการทำให้มั่นใจได้ว่าหัวข้อสำคัญนี้จะไม่ถูกมองข้าม แต่ได้รับการพิจารณาโดยทุกองค์กรในการออกแบบและการนำระบบการจัดการไปใช้โดยที่จุดประสงค์โดยรวมของข้อกำหนดสำหรับข้อ 4.1 และ 4.2 ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างการพิจารณาความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกประเด็นที่องค์กรกำลังเผชิญอยู่โดยผู้ตรวจประเมินจะให้ความสนใจเป็นพิเศษกับประเด็นนี้ และองค์กรจะแสดงให้เห็นว่าไม่มีปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือมีประเด็นดังกล่าวที่สะท้อนให้เห็นในนโยบายของบริษัทหรือองค์กร การเปลี่ยนแปลงแก้ไขใหม่นี้ ไอเอสโอไม่ต้องการให้องค์กรต้องได้รับการตรวจประเมินการเปลี่ยนแปลงหรือการตรวจสอบระบบการจัดการใหม่  ดังนั้น ใบรับรองปัจจุบันยังคงไม่เปลี่ยนแปลง และระยะเวลาการตรวจประเมินจะยังคงเหมือนเดิม

กล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นตัวเปลี่ยนเกมที่กำลังสั่นคลอนเศรษฐกิจโลก และเปลี่ยนแปลงวิธีการจัด

ระเบียบตัวเองของผู้เล่นทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการจัดการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเนื่องจากสภาพแวดล้อมการทำงานได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น การจัดการการวางผังเมืองเนื่องจากความจำเป็นในการพัฒนาและปรับตัวเมืองให้เข้ากับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นและอันตรายใหม่ ๆ การจัดการคุณภาพในอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ เนื่องจากน้ำหล่อเย็นที่ใช้ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะถูกดึงออกมาจากสิ่งแวดล้อมที่อุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่ออุปกรณ์และความปลอดภัย เป็นต้น นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังมีบทบาทสำคัญต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ และคำสั่งฉบับใหม่ของยุโรปเรื่องการรายงานความยั่งยืนขององค์กร (CSRD) เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566  (ค.ศ.2023) รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็มีบทบาทในมาตรฐานแบบสมัครใจในระดับสากลด้วย

ธุรกิจหรือองค์กรที่ใช้มาตรฐานอยู่แล้วจึงควรพิจารณาการเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติว่ารูปแบบการดำเนินการของตนเองได้พิจารณาประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเหมาะสมหรือไม่ เพราะหัวข้อนี้เชื่อมโยงกับเมทริกซ์ความเสี่ยงและโอกาสได้อย่างลงตัว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดความเสี่ยงใหม่ๆ สำหรับธุรกิจหรือองค์กร ในทางกลับกันจำเป็นต้องระบุโอกาส เพื่อปรับเปลี่ยนธุรกิจ พัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ ฯลฯ ภายในบริษัทหรือองค์กรด้วย

สำหรับหัวข้อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้  ผู้จัดการกระบวนการจะต้องใช้เวลาและทรัพยากรมากขึ้นโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงการนึกถึงปัญหานี้ได้อีกต่อไป ส่วนองค์กรที่สมัครขอรับการรับรองใหม่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นจุดสนใจใหม่และจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการนำมาพิจารณาเช่นกัน

ดังนั้น การรวมเอาการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไว้ใน MSS ถือเป็นก้าวสำคัญซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบอย่างกว้างขวาง  ธุรกิจและองค์กรต่างๆ สามารถพิจารณาการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ในเชิงรุกด้วยการบูรณาการการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ากับระบบการจัดการที่มีอยู่อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นต่อความยั่งยืน และสร้างความยืดหยุ่นเมื่อเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในระยะยาวในโลกที่ทุกคนมุ่งเน้นไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้นด้วย

ท่านที่สนใจพัฒนาองค์ความรู้เรื่องมาตรฐานระบบการจัดการ ต้องการต่อยอดไปสู่มาตรฐานอื่น ๆ หรือบริการด้านการรับรองระบบการจัดการ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บริการด้านการรับรองระบบ  โทรศัพท์ 026171723 – 36  หรือ Email: SCD@masci.or.th

ที่มา:

1. https://www.afnor.org/en/quality/the-climate-a-game-changer-for-management-standards/
2.
https://shorturl.at/jEHN5

 1,446 ผู้เข้าชมทั้งหมด