กรณีตัวอย่าง ISO 14001 : กรณีตัวอย่างที่ 8 (ชิ้นส่วนยานยนต์)

1. บริษัท H จำกัด

  • ข้อมูลทั่วไปของสถานประกอบการ

บริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอุปกรณ์ไฟฟ้ายานยนต์ ซึ่งมีสัดส่วนในการจำหน่ายในประเทศ : ต่างประเทศ เป็น 65:35 โดยประเทศที่ส่งออกมากที่สุดได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น และบราซิล บริษัทก่อตั้งในปี พ.ศ.2538 ปัจจุบันมีจำนวนพนักงานทั้งสิ้นประมาณ 1,916 คน (ณ ตุลาคม 2549)

บริษัทได้การรับรองระบบบริหารงานด้านคุณภาพสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ISO/TS 16949 ครั้งล่าสุดในปี พ.ศ.2548 และได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 ซึ่งได้รับการรับรองครั้งล่าสุดในปีเดียวกัน คือ พ.ศ.2548

  • ก่อนการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001)

ในช่วงก่อนการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม บริษัทประสบปัญหา 2 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ ไม่ทราบว่าอะไรเป็นลักษณะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ (Significant Environmental Aspects: SEAs) ของบริษัท และคู่มือในการปฏิบัติงานไม่ได้มีการจัดทำให้ครอบคลุมถึงงานที่มีความเสี่ยง ซึ่งเหตุผลที่ทำให้บริษัทตัดสินใจจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) เนื่องจาก

  1. เป็นความต้องการของผู้บริหารภายในบริษัท
  2. บริษัทมีความตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมทั้งภายในบริษัทและชุมชนใกล้เคียง
  3. ต้องการปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมายหรือข้อบังคับของภาครัฐและประเทศคู่ค้า
  4. ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
  5. ต้องการปรับปรุงการปฏิบัติงานและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ขณะที่บริษัทเริ่มจัดทำมาตรฐาน ISO 14001 นั้น บริษัทไม่มีการจัดจ้างที่ปรึกษาในการจัดทำระบบดังกล่าว แต่มีการจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับความรู้เรื่องมาตรฐาน ISO 14001 ให้กับพนักงานโดยใช้วิทยากรจากทั้งภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งมีงบประมาณในส่วนของการฝึกอบรมดังกล่าวประมาณ 50,000 บาทต่อปี นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ สำหรับการขอการรับรองอีกประมาณ 80,000 บาท และบริษัทใช้ระยะเวลาในการจัดทำมาตรฐานระบบ ISO 14001 รวม 8 เดือน โดยบริษัทได้ขอการรับรองมาตรฐาน ISO 14001 อย่างต่อเนื่อง เป็นจำนวน 2 ครั้ง (3 ปี/ครั้ง)

  • สถานการณ์การนำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001:2004) มาใช้ในบริษัท

  • สิ่งที่ได้รับจากการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม

มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) ช่วยทำให้บริษัทได้ภาพลักษณ์ที่ดีในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในองค์กร และทำให้มีการจัดทำโครงการด้านสิ่งแวดล้อมภายในของบริษัท ซึ่งสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ โดยสะท้อนในรูปของ

  1. การลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดของเสียภายในองค์กรจากเดิมก่อนการจัดทำมาตรฐาน ISO 14001 ร้อยละ 5 เนื่องจากมีการลดของเสียที่แหล่งกำเนิด ทำให้ปริมาณของเสียที่ต้องส่งไปกำจัดลดลง

ซึ่งทางบริษัทถือว่ามาตรฐานระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ISO 14001 ให้ความคุ้มค่าในระดับปานกลาง ในเรื่องของการลดของเสียที่แหล่งกำเนิด

  • แนวโน้มของมาตรฐานและระเบียบ/ข้อกำหนดใหม่ ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมที่จะมีผลกระทบต่อบริษัท

นอกจากบริษัทจะได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 แล้ว บริษัทยังมีการจัดทำระเบียบว่าด้วยการหมดอายุของยานยนต์ (End of Life Vehicle: ELV) แต่ยังไม่ได้ขอการรับรองจากหน่วยรับรองใด โดยเหตุผลในการจัดทำระเบียบดังกล่าวเพื่อ

  1. ตอบสนองความต้องการของลูกค้าและตลาด
  2. เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายหรือข้อบังคับของประเทศคู่ค้า
  3. เป็นความต้องการของผู้บริหารภายในบริษัท
  4. เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายสิ่งแวดล้อมของบริษัท
  • ปัญหาและอุปสรรคจากการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001:2004)

มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม และ ISO/TS 16949 มีพื้นฐานมาจากระบบบริหารงานคุณภาพ ISO 9001 เหมือนกัน จึงทำให้การจัดทำระบบต่าง ๆ ของบริษัทไม่ประสบปัญหาใด ๆ และเนื่องจากพนักงานให้ความร่วมมือกันอย่างดี

  • ข้อเสนอแนะ

การจัดทำระบบต่าง ๆ ช่วยให้บริษัทมีการทำงานที่ง่าย และสะดวก เป็นระบบมากขึ้น เพียงแต่ต้องเข้าใจในเนื้อหาของระบบนั้น ๆ ด้วย