ไอเอสโอพัฒนามาตรฐาน “เศรษฐกิจหมุนเวียน” เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

Share

2.1 CIRCULAR ECONOMY STANDARDS AND CLIMATE CHANGEโลกของเรากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่องและจำเป็นต้องได้รับแก้ไขอย่างเร่งด่วน ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่นี้มีแนวทางหลายอย่างที่โลกสามารถร่วมกันแก้ไขได้  หนึ่งในแนวทางนั้นคือ “เศรษฐกิจหมุนเวียน”

จากข้อมูลของ World Economic Forum ระบุว่าการก้าวไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นกุญแจสำคัญ เช่นเดียวกับโอกาสที่มีมูลค่านับล้านล้านดอลลาร์ อันหมายถึงศักยภาพมหาศาลสำหรับนวัตกรรม การสร้างงาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจ

สำหรับบทความในครั้งนี้ วารสารไอเอสโอโฟกัสจะนำเราไปทำความรู้จักกับเรื่องราวของเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านคำบอกเล่าของ กาเธอรีน เชอโวเช่  ในฐานะผู้จัดการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและสภาพภูมิอากาศของบริษัท Suez ผู้เชี่ยวชาญภาคธุรกิจเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน และประธานคณะกรรมการวิชาการของไอเอสโอด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะกล่าวถึงดังต่อไปนี้  

เศรษฐกิจหมุนเวียนถือเป็นเสาหลักของการดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ  ซึ่งตรงกันข้ามกับโมเดลการผลิตและการบริโภคแบบเดิมที่นำเอาทรัพยากรมาผลิต ใช้ และกำจัดทิ้งไปในขณะที่เศรษฐกิจหมุนเวียนมีเป้าหมายในการลดการสิ้นเปลืองของทรัพยากรด้วยการนำไปใช้ซ้ำ การลดของเสีย น้ำ และพลังงาน

ล่าสุด ไอเอสโอได้พัฒนาชุดมาตรฐานสากลสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อให้ทั่วโลกนำไปใช้ ทำให้เรารู้ว่าจะเปลี่ยนผ่านจากการผลิตและการบริโภคแบบเดิมไปสู่การผลิตโดยใช้หลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างไร รวมทั้งจะวัดความสำเร็จของการดำเนินการได้อย่างไร

SDGs กับเศรษฐกิจหมุนเวียน
ก่อนหน้าที่เศรษฐกิจหมุนเวียนจะกลายเป็นแนวคิดที่รู้จักกันดี กาเธอรีน เชอโวเช่  ได้ทำงานในด้านนี้มาก่อน ภูมิหลังของเธอครอบคลุมเรื่องของมาตรฐานและความยั่งยืน โดยทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ และรัฐบาลท้องถิ่นในการดักจับความร้อนและน้ำเสียและนำกลับมาใช้ใหม่ และที่ Suez ก่อนที่จะถูกควบรวมกิจการกับ Veolia เธอได้พัฒนากลยุทธ์ทั่วทั้งองค์กรเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศ

ความเป็นไปได้ในการทำงานร่วมกับไอเอสโอนั้นเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสเสนอให้จัดตั้งชุดมาตรฐานสากลสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียน และกาเธอรีน เชอโวเช่ ก็ได้รับโอกาสนี้ เธอกล่าวว่าเธอสนใจงานนี้มาก เพราะเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าต้องหาวิธีการผลิตและการบริโภคทางเลือกอื่นเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ได้ ปัจจุบัน เธอเป็นผู้นำในการพัฒนามาตรฐานไอเอสโอที่มุ่งช่วยเหลือองค์กรต่างๆ โดยเธอขอให้ทุกคนคิดว่าขยะเป็น “ทรัพยากร” ที่สำคัญอย่างหนึ่ง และเศรษฐกิจหมุนเวียนก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการสิ้นเปลืองของทรัพยากรที่นำไปใช้ให้ได้มากที่สุด

เร่งพัฒนามาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน
กาเธอรีน เชอโวเช่ ได้เสนอแนวทางที่แตกต่างออกไปจากเดิมในการร่างมาตรฐานชุดใหม่ เธอเชื่อว่าคณะกรรมการจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เธอจึงทำงานร่วมกับไอเอสโอและจัดทำร่างมาตรฐานควบคู่กันไป  ร่างมาตรฐานฉบับแรกกำหนดหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่วนร่างมาตรฐานฉบับที่ 2 อธิบายถึงการเปลี่ยนจากรูปแบบธุรกิจเชิงเส้นแบบเดิมไปเป็นแบบหมุนเวียนสำหรับองค์กร และร่างมาตรฐานฉบับที่ 3 กำหนดวิธีการประเมินความหมุนเวียนในระดับต่างๆ ซึ่งไอเอสโอสนับสนุนการพัฒนาชุดมาตรฐานฉบับสมบูรณ์นี้ภายในกรอบเวลาที่เร่งรัดคือ 3 ปี เธอกล่าวว่าไอเอสโอเข้าใจถึงความเร่งด่วนในการดำเนินการและทุกฝ่ายก็ให้การสนับสนุนอย่างมาก

กาเธอรีน เชอโวเช่ ทราบดีว่าการจัดการที่อยู่เบื้องหลังมาตรฐานใหม่โดยใช้เวลาเพียง 3 ปีร่วมกับประเทศต่างๆ นั้นเป็นความท้าทายครั้งใหญ่  นอกจากนี้ เศรษฐกิจหมุนเวียนยังเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่ซึ่งมีการใช้งานจริงอย่างจำกัด  จากรายงาน Circularity Gap ล่าสุดพบว่าโลกของเราใช้ทรัพยากรหรือวัสดุที่ดึงมาจากโลกแล้วกลับมาใช้ซ้ำเพียง 8.6% เท่านั้น

เธอยังกล่าวด้วยว่าการเปลี่ยนจากเศรษฐกิจเชิงเส้นเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนหมายถึงการขอให้องค์กรเปลี่ยนหลักการที่ดำเนินการมาตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นกระบวนทัศน์ใหม่จริงๆ และไม่ง่ายที่จะนำไปใช้ เพราะต้องเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างในองค์กร

พร้อมก้าวสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน
กาเธอรีน เชอโวเช่ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความมั่นใจว่ามาตรฐานนั้นทำให้เกิดความเป็นธรรมและเกี่ยวข้องกับทุกประเทศโดยการกระจายตัวแทนทางภูมิศาสตร์ในบทบาทความเป็นผู้นำ ซึ่งมีผู้แทนรวม 89 ประเทศจาก 5 ทวีปเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการวิชาการ และคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประชุมเป็นจำนวนมากในครั้งต่อไปซึ่งกำหนดจัดขึ้นในปลายปี 2565 นี้ที่เมืองคิกาลี ประเทศรวันดา เธอมีความมั่นใจว่าจะสามารถผลักดันให้เกิดการลงมือทำและมีส่วนร่วมกับประเทศต่างๆ ให้ได้มากที่สุด

เธอเชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นกุญแจสำคัญในการร่างชุดมาตรฐานสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การวางตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญอย่างหมาะสมกับชุดมาตรฐานต่างๆ ที่จะเผยแพร่ภายในต้นปี 2567  เธอกล่าวว่าจะต้องมีการนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ ที่คุ้มค่ากับความพยายาม และประชาคมโลกก็ต้องการให้ไอเอสโอดำเนินการเพื่อสร้างอนาคตที่ดีสำหรับความยั่งยืนและการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

เมื่อไอเอสโอเผยแพร่มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว ความไม่รู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนและการทำงานของเศรษฐกิจหมุนเวียนก็จะไม่เป็นข้ออ้างสำหรับองค์กรต่างๆ อีกต่อไปในการที่จะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตและการบริโภคเชิงเส้นที่ไม่ยั่งยืน ความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้ามีความสำคัญมากและจะเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างจริงจังซึ่งจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม และการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป

ที่มา: 1. https://www.iso.org/contents/news/2022/08/towards-a-circular-economy.html
2. https://circulareconomy.europa.eu/platform/en/news-and-events/all-news/iso-tc323-connects-dots-circular-economy

 702 ผู้เข้าชมทั้งหมด