มอก. 22300-2551

1. ชื่อมาตรฐาน
(ภาษาไทย) มอก.22300 – 2551 ระบบการจัดการด้านการรักษาความปลอดภัย – ข้อกำหนดสำหรับการจัดประชุม สัมมนา และนิทรรศการ (Security Management System – Requirements for Meeting Incentive Convention and Exhibition : MICE)

2. วันที่ประกาศใช้
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552

3. หน่วยงานเจ้าของมาตรฐาน
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม

4. ประเภทมาตรฐาน
มอก.22300 เป็นมาตรฐานระบบการจัดการ สามารถขอการรับรองจากหน่วยรับรองระบบ (Certification Body) ที่ให้บริการได้

5. ขอบข่ายการนำไปใช้
องค์กรทุกขนาดที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการจัดประชุม สัมมนา และนิทรรศการ ที่ต้องการประเมินและจัดการการรักษาความปลอดภัย และสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง

6. ประโยชน์ที่ได้รับจากการนำมาตรฐานไปใช้
แสดงให้เห็นถึงความตระหนัก และการให้ความสำคัญต่อระบบความปลอดภัย รวมถึงการป้องกัน การควบคุมอุบัติเหตุ หรือผลอันเกิดจากการกระทำใดๆ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ตลอดทั้งภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังแสดงถึงการเตรียมความพร้อมในการรับมือต่ออุบัติการณ์ต่างๆ การประสานและตอบสนองต่อสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งแผนการฟื้นฟูในเวลาต่อมาอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิผลขององค์กร

7. สาระสำคัญของมาตรฐาน
มาตรฐานระบุถึงข้อกำหนดที่องค์กรต้องปฏิบัติ
• “องค์กร” ต้องจัดทำระบบการจัดการด้านการรักษาความปลอดภัยไว้เป็นลายลักษณ์อักษร นำไปปฏิบัติ รักษาไว้ ประเมิน และปรับปรุงระบบการจัดการอย่างต่อเนื่อง
• การกำหนดนโยบายด้านการรักษาความปลอดภัย
• การวางแผน กล่าวถึง การประเมินภัยคุกคามต่อการรักษาความปลอดภัยและความเสี่ยง การชี้บ่ง ติดตาม และจัดเก็บกฎหมาย และข้อกำหนดอื่นๆ ให้ทันสมัย การกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และวางแผนงาน
• การนำไปปฏิบัติและการดำเนินการ กล่าวถึง
– ทรัพยากร บทบาท หน้าที่ความรับผิดชอบ และอำนาจหน้าที่สั่งการ
– ความสามารถ การฝึกอบรม และความตระหนัก โดยต้องมั่นใจว่าบุคลากรที่ปฏิบัติงานให้องค์กร มีคุณสมบัติเหมาะสม
– การติดต่อสื่อสาร และการเตือนภัย
– การจัดทำเอกสาร และรักษาไว้ซึ่งเอกสารต่างๆ สำหรับระบบการจัดการด้านการรักษาความปลอดภัย
– การควบคุมเอกสาร
– การควบคุมบันทึก
– การควบคุมการปฏิบัติงาน
– การเตรียมพร้อมต่ออุบัติการณ์และการตอบสนอง
• การตรวจสอบและการปฏิบัติการแก้ไข กล่าวถึง
– การเฝ้าติดตามและการวัดผล กิจกรรมสำคัญซึ่งมีผลกระทบที่มีนัยสำคัญต่อการรักษาความปลอดภัย หรือที่มีผลกระทบต่อระบบการจัดการด้านการรักษาความปลอดภัย
– การประเมินระบบ ที่ต้องประเมินแผนงานการจัดการด้านการรักษาความปลอดภัย ขั้นตอนการดำเนินงาน และขีดความสามารถ ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำเป็นขั้นตอนการดำเนินงานแก้ไขได้อย่างทันท่วงที
– การจัดการกับความไม่สอดคล้อง การปฏิบัติการแก้ไข และการปฏิบัติการป้องกัน
– การตรวจประเมินภายใน
• การทบทวนการจัดการ โดยผู้บริหารระดับสูงต้องทบทวนระบบการจัดการด้านการรักษาความปลอดภัยขององค์กรตามช่วงระยะเวลาที่ได้วางแผนไว้ เพื่อให้มั่นใจว่าระบบการจัดการยังคงมีความเหมาะสม เพียงพอ และมีประสิทธิผลอย่างต่อเนื่อง

8. แหล่งข้อมูลอ้างอิง

www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2552/E/021/15.PDF
https://sites.google.com/site/mgtsysstd/safety

ปรับปรุงข้อมุลเมื่อเดือนมีนาคม 2556