มาตรฐานไอเอสโอกับเศรษฐกิจสูงวัย

Share

สำนักพิมพ์ออนไลน์ Visual Capitalist ได้ให้ข้อมูลไว้เมื่อ 2 ปีที่แล้วเกี่ยวกับประชากรสูงวัยของโลกว่าระหว่างปี 2493 (ค.ศ.1950) ถึง ปี 2643 (ค.ศ.2100) โลกของเรามีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปจำนวน 771 ล้านคนทั่วโลก คิดเป็นเกือบ 10% ของประชากรโลก กลุ่มนี้มีการเติบโตในอัตราที่เพิ่มขึ้น และคาดว่าจะสูงถึง 16% ภายในปี 2593 (ค.ศ.2050)  และ 24% ภายในปี 2643 ในที่สุด

ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสังคมสูงวัยเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศซึ่งกำลังเชิญกับผลกระทบต่าง ๆ ที่ตามมา เช่น แรงงานคนหนุ่มสาวเกิดการขาดแคลน งบประมาณด้านสวัสดิการและค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น  ค่าครองชีพที่สูงขึ้น การลงทุนและความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวกลับนำไปสู่โอกาสใหม่คือ เศรษฐกิจสูงวัย (Silver Economy) ซึ่งเปิดโอกาสให้ธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ กำหนดเป้าหมายฐานลูกค้าใหม่และนำเรื่องของสังคมสูงวัยมาเป็นกลยุทธ์ในการสร้างคุณค่าและความร่วมมือกับภาครัฐและภาคประชาสังคม ตลอดจนการขับเคลื่อนเป้าหมายเชิงพาณิชย์

ทั้งนี้ เนื่องจากผู้สูงวัยมีอำนาจการใช้จ่ายมากขึ้น และผู้สูงวัยบางคนยังที่มีสุขภาพดีกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต ซึ่งไอเอสโอทราบดีถึงสถานการณ์ดังกล่าวและตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจสูงวัย จึงได้ผนึกกำลังกับไออีซีหรือคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานสาขาอิเล็กทรอเทคนิกส์ และไอทียูหรือสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ในการร่วมกันกำหนดนโยบายการเข้าถึงข้อมูลร่วมกันเพื่อสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับการพัฒนามาตรฐานในอนาคตที่ทำให้ผู้สูงวัย ผู้พิการรวมถึงกลุ่มคนที่เปราะบางอื่น ๆ สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ และบริการในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้

สำหรับมาตรฐานไอเอสโอที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัยซึ่งได้รับการเผยแพร่แล้ว มีจำนวน 4 ฉบับ ได้แก่
1. ISO 25550, Ageing societies – General requirements and guidelines for an age-inclusive workforce เป็นมาตรฐานที่ช่วยให้องค์กรสามารถสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่สนับสนุนพนักงานที่มีอายุมากกว่าและสร้างการมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่
2. ISO 25551, Ageing societies – General requirements and guidelines for carer-inclusive organizations เป็นมาตรฐานที่ช่วยให้องค์กรที่ให้บริการดูแลมีความมั่นใจได้ว่าพนักงานได้รับการฝึกอบรมอย่างเหมาะสมและพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้สูงอายุ
3. ISO 25552, Ageing societies – Framework for dementia-inclusive communities เป็นมาตรฐานที่ให้กรอบการทำงานและหลักการ การพิจารณาถึงความครอบคลุมคุณภาพชีวิต สภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้น กลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการใช้ประโยชน์ การปรับปรุง และการเชื่อมโยงสินทรัพย์และโครงสร้างที่มีอยู่อย่างเป็นระบบแล้วแปลงไปสู่ชุมชนที่มีผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. ISO/TR 25555, Ageing societies – Accessibility and usability considerations for home healthcare products, related services and environments เป็นเอกสารรายงานทางวิชาการที่ให้ข้อควรพิจารณาด้านการเข้าถึงและการใช้งานสำหรับผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพที่บ้าน บริการที่เกี่ยวข้อง และสภาพแวดล้อมที่สามารถเข้าถึงได้และใช้งานได้ง่ายสำหรับผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ ไอเอสโอยังอยู่ในระหว่างพัฒนามาตรฐานเกี่ยวกับผู้สูงวัยอีก 4 ฉบับ ได้แก่ ISO 25553 – Smart Multigenerational Neighbourhoods- Guidance and Requirements, ISO 25554 – Ageing societies – Guidelines for promoting wellbeing in communities, ISO 25556 – Ageing societies – General requirements and guidelines for ageing-inclusive digital economy และ ISO 25557.3 – Care for older persons at home and in residential care facilities

ไอเอสโอมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนามาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุระดับสากลซึ่งส่วนหนึ่งของโครงการมาตรฐานระดับโลกภายใต้กลุ่ม Aging Societies ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของมาตรฐานสำหรับเศรษฐกิจสูงวัยซึ่งจำเป็นต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้สูงวัยรวมทั้งการตอบสนองต่อแนวโน้มที่เกิดขึ้นจากประชากรสูงวัยด้วย ศักยภาพของประชากรสูงวัยนั้นไร้พรมแดน การเปิดโอกาสให้เข้าถึงตลาดผู้สูงอายุเท่านั้นที่จะส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจสูงวัยได้อย่างแท้จริง

สำหรับท่านที่สนใจความรู้หรือบริการเกี่ยวกับมาตรฐานระบบการจัดการ รวมทั้งมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพสำหรับเครื่องมือแพทย์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายรับรองระบบ โทรศัพท์ 026171723 – 36  หรือ Email: SCD@masci.or.th 

ที่มา:

1. https://www.visualcapitalist.com/cp/charted-the-worlds-aging-population-1950-to-2100/
2.
https://www.iso.org/news/Ref2168.htm

 333 ผู้เข้าชมทั้งหมด