มอก. 26000-2553 /ISO 26000:2010

1. ชื่อมาตรฐาน
(ภาษาไทย) มอก. 26000 – 2553 แนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม
(ภาษาอังกฤษ) ISO 26000 : 2010 – Guidance on social responsibility

2.การประกาศใช้
มอก : วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2554
ISO : 28 October 2010

3.หน่วยงานเจ้าของมาตรฐาน (ผู้ประกาศใช้)
มอก. : สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
ISO: International Organization for Standardization (TMB Technical Management Board)

4.ประเภทมาตรฐาน
มอก.26000 / ISO 26000 เป็นมาตรฐานซึ่งเป็นแนวทางการปฏิบัติ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้โดยไม่ต้องขอการรับรอง

5.ขอบเขตและการนำมาตรฐานไปใช้
1) ขอบเขตการนำไปใช้
มาตรฐานนี้ให้แนวทางเกี่ยวกับหลักการต่างๆ (principles) ที่เป็นพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม การยอมรับถึงความสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคม และการสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หัวข้อหลัก (core subjects) และประเด็นต่างๆ (issues) ที่ประกอบขึ้นเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม และแนวทางในการบูรณาการการปฏิบัติอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมในองค์กร โดยผ่านทางนโยบายและวิธีปฏิบัติต่างๆ ภายใต้ขอบเขตอิทธิพลขององค์กร ซึ่งมาตรฐานนี้เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของผลที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งการปรับปรุงสมรรถนะการดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม

2) องค์กรที่นำไปใช้
มาตรฐานนี้มีความตั้งใจให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรทุกประเภทที่มีการนำไปใช้ ไม่ว่าภาคเอกชน ภาครัฐ และองค์กรไม่หวังผลกำไร ไม่ว่าขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก โดยไม่มีความจำเป็นในการนำรายละเอียดทุกๆ ส่วนของมาตรฐานนี้ไปใช้อย่างเท่าเทียมกัน หรือเหมือนกันในแต่ละองค์กร
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานต่างๆ มีการสนับสนุนงบประมาณและการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนปฏิบัติตามมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ตัวอย่างเช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดทำมาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อสังคม พ.ศ.2552 และ พ.ศ.2553 พร้อมจัดทำโครงการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างมีส่วนร่วม ตั้งแต่ปี 2551-2555 เพื่อมุ่งเน้นสู่อุตสาหกรรมสีเขียวให้ได้ และเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้สามารถปรับตัวสู่มาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรม สามารถรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และสร้างระบบการแข่งขันเสรีที่เป็นธรรมให้ประเทศไทย มีความเชื่อมโยงกับเครือข่าย ด้านการผลิตสินค้าและบริการบนฐานปัญญา นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอาเซียน โดยมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเข้าร่วมโครงการแล้ว 384 ราย

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จัดทำโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ให้มีมาตรฐานสากลเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านความรับผิดชอบต่อสังคม แก่สถานประกอบการอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน ในพื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรมเหมืองแร่ โดยได้มีการพัฒนามาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหมืองแร่ (CSR-DPIM) ที่สอดคล้องกับมาตรฐาน ISO/DIS 26000 และให้สถานประกอบการนำร่องได้นำไปปฏิบัติ และพัฒนาไปสู่การประยุกต์ใช้ตามมาตรฐานสากล

6. สาระสำคัญของมาตรฐาน

ภาพรวมของมาตรฐาน มอก.26000 / ISO 26000
มาตรฐานกล่าวถึง

ความเข้าใจต่อความรับผิดชอบต่อสังคม
หลักการของความรับผิดชอบต่อสังคม 7 ด้าน ได้แก่ ความรับผิดชอบ ความโปร่งใส การปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม การเคารพต่อผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย การเคารพต่อหลักนิติธรรม การเคารพต่อการปฏิบัติตามแนวทางของสากล และการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน
การยอมรับความสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคม และการสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย
แนวทางและหัวข้อหลักด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ได้แก่ ธรรมาภิบาล สิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม การปฏิบัติที่เป็นธรรม ประเด็นด้านผู้บริโภค และการมีส่วนร่วมของชุมชนและการพัฒนาชุมชน
แนวทางการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมทั่วทั้งองค์กร ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างคุณลักษณะต่างๆ ขององค์กรกับความรับผิดชอบต่อสังคม การทำความเข้าใจความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร แนวทางปฏิบัติในการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมทั่วทั้งองค์กร การสื่อสารเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม การทบทวนการปรับปรุงกิจกรรมขององค์กรด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และข้อเสนอแนะสำหรับความรับผิดชอบต่อสังคมโดยความสมัครใจ

7.ประโยชน์จากการจัดทำมาตรฐาน

ภาคธุรกิจ / องค์กรไม่หวังผลกำไร

องค์กรที่นำมาตรฐานนี้ไปปฏิบัติจะได้รับการยอมรับว่าเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เนื่องจากองค์กรแต่ละแห่งมีระดับความรู้ ความเข้าใจ และมีการนำความรับผิดชอบต่อสังคมไปใช้แบบบูรณาการในองค์กรของตนที่แตกต่างกัน

องค์กรที่เพิ่งเริ่มต้นอาจพบว่ามาตรฐานนี้ให้ประโยชน์ต่อตนเองโดยการศึกษาแล้วนำไปประยุกต์ใช้ ในขณะที่องค์กรที่มีประสบการณ์แล้วอาจนำไปใช้เพื่อปรับปรุงแนวปฏิบัติในปัจจุบันเพื่อการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าไปในการดำเนินงานขององค์กร

ภาครัฐ

ใช้ในการขับเคลื่อนให้องค์กรมีการดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม

8.แหล่งข้อมูลและเอกสารอ้างอิง

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2554/E/018/1.PDF
http://www.iso.org/iso/home/standards/iso26000.htm
http://www.csrdiwnetwork.com/english/project_detail.aspx?pid=6

ปรับปรุงข้อมูลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555