การค้าโลกกับการกล่าวอ้างเรื่องความยั่งยืน

Share

เมื่อพูดถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  เราอาจจะนึกถึงคำที่มีความสำคัญอยู่หลายคำ ไม่ว่าจะเป็น “สีเขียว” “คาร์บอน”  “ศูนย์สุทธิ” หรือ “การปรับตัวต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ซึ่งในการดำเนินธุรกิจปัจจุบัน ผู้บริโภคมีความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่า

หน่วยงานกำกับดูแล ผู้มีบทบาทในห่วงโซ่อุปทาน นักลงทุน รวมไปถึงผู้บริโภคต่างเรียกร้องให้มีการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น หากธุรกิจไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ด้านความยั่งยืน ก็อาจจะเผชิญกับผลกระทบด้านชื่อเสียง และส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม การกล่าวอ้างถึงเรื่องความยั่งยืนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและทำให้ตลาดและผู้บริโภคเกิดความสับสนซึ่งถือเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับการค้าโลก สำหรับความเชื่อมั่นในคำกล่าวอ้างด้านความยั่งยืนของผู้ส่งออกจึงถือเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน

ส่วนนโยบายการค้า  การบูรณาการด้านความยั่งยืนและมาตรการบังคับใช้ ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับคำกล่าวอ้างดังกล่าว ซึ่งการจัดการกับการกล่าวอ้างด้านความยั่งยืนและประเด็นต่างๆ อย่างกรีนวอชชิ่ง จำเป็นต้องมีกรอบของกฎหมายและข้อบังคับ รวมทั้งการประเมินความสอดคล้อง

ในการประชุมของไอเอสโอประจำปี 2566  ระหว่างวันที่ 18 – 22 กันยายน 2566 ณ เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย เจ้าภาพการจัดงานคือ สถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศออสเตรเลีย (SA) ก็ได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับความสำคัญของความรับผิดชอบในการกล่าวอ้างเรื่องความยั่งยืนในการค้าโลกเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น ศาสตราจารย์ปีเตอร์ เดรเปอร์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันการค้าระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยแอดิเลด ได้พูดถึงการกล่าวอ้างในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความยั่งยืนไว้ว่า สำหรับสหภาพยุโรป มีแนวทางซึ่งมีคำสั่งที่สามารถบังคับใช้ได้ และได้กำหนดมาตรฐานระดับระหว่างประเทศโดยคำนึงถึงอิทธิพลทางการตลาดที่สำคัญด้วย ในขณะที่ เอริค ไวจ์สตรอม หัวหน้าแผนกอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า แผนกการค้าและสิ่งแวดล้อมขององค์การการค้าโลกก็ได้กล่าวไว้ในทำนองเดียวกันว่า แม้ว่ารัฐบาลจะมีสิทธิ์ในการควบคุมผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยและคุณภาพ  แต่รัฐบาลก็ต้องสร้างสมดุลเพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างอุปสรรคทางการค้าที่ไม่จำเป็นด้วย

สำหรับมาตรฐานไอเอสโอที่มีบทบาทในการปกป้องเกี่ยวกับการกล่าวอ้างด้านความยั่งยืน คือ ISO 14097, Greenhouse gas management and related activities — Framework including principles and requirements for assessing and reporting investments and financing activities related to climate change

ไอเอสโอได้พัฒนามาตรฐานดังกล่าวขึ้นมาเพื่อให้องค์กรมีกรอบในการการทำงาน รวมถึงหลักการ ข้อกำหนด และคำแนะนำสำหรับการประเมิน การวัดผล ติดตาม และการรายงานเกี่ยวกับการลงทุนและกิจกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการประเมินผลกระทบของการตัดสินใจลงทุนและการกู้ยืมของนักการเงิน ทำให้นักการเงินสามารถกำหนดเป้าหมายและกำหนดตัวชี้วัดที่จะใช้ในการติดตามความคืบหน้าที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางการเปลี่ยนผ่านคาร์บอนต่ำของผู้ได้รับการลงทุน สามารถกำหนดวิถีการเปลี่ยนผ่านและการปรับตัวของคาร์บอนต่ำของผู้ได้รับการลงทุน และสามารถบันทึกสาเหตุหรือความเชื่อมโยงระหว่างการกระทำด้านสภาพภูมิอากาศกับผลลัพธ์ และผลกระทบ เป็นต้น

การกล่าวอ้างถึงเรื่องความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ธุรกิจอุตสาหกรรมจำเป็นต้องผ่านกระบวนการคิดและสร้างสมดุลในกระบวนการพัฒนามากขึ้น และที่สำคัญคือการมีมาตรฐานสากลหรือมีเกณฑ์หรือกฎระเบียบที่เชื่อถือได้ เพื่อให้การกล่าวอ้างเรื่องความยั่งยืนมีความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค มีความโปร่งใส และเชื่อถือได้ในการค้าโลก

ที่มา: 1. https://www.standards.org.au/isoam2023
2.
https://www.iso.org/standard/72433.html

 2,142 ผู้เข้าชมทั้งหมด