“การตรวจสอบซัพพลายเออร์” คือเคล็ดลับความสำเร็จของธุรกิจ

Share

ปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งในการทำให้บริษัทหรือองค์กรประสบความสำเร็จคือการมีซัพพลายเออร์ที่คุณภาพและมีการส่งมอบที่ดี  หลายบริษัทจึงมีมาตรฐานการตรวจสอบซัพพลายเออร์ของตนเองนอกเหนือจากการปฏิบัติตามมาตรฐานไอเอสโอในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมผู้รับเหมาช่วง เพื่อให้มั่นใจว่าคุณภาพ กระบวนการผลิต และการบริการของซัพพลายเออร์มีความสอดคล้อง เป็นไปตามความต้องการของผู้ซื้อ

การตรวจสอบซัพพลายเออร์เป็นการประเมินกระบวนการหรือผลิตภัณฑ์ของซัพพลายเออร์ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้อย่างเป็นอิสระ และเป็นกลาง ซึ่งอาจเป็นเกณฑ์มาตรฐานหรือกฎระเบียบของบริษัทหรือกฎระเบียบระหว่างประเทศก็ได้ มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือระบบ และอาจเป็นการตรวจสอบทั่วทั้งบริษัทหรือตรวจสอบขั้นตอนเฉพาะในการผลิตก็ได้

การตรวจสอบซัพพลายเออร์เป็นวิธีการที่ทำให้มั่นใจในการประกันคุณภาพและความสอดคล้องตลอดทั้งซัพพลายเชนของบริษัท  การตรวจสอบซัพพลายเออร์ทำให้สามารถระบุว่าจุดไหนเป็นจุดมีความเสี่ยง ทำให้สามารถปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ มั่นใจในความสอดคล้องตามมาตรฐานองค์กรและกฎระเบียบระหว่างประเทศ มั่นใจในการผลิตที่ตรงเวลา การปฏิบัติด้านจริยธรรม การปฏิบัติตามมาตรฐานของตลาดปลายทาง  การเรียกคืนสินค้าที่มีปัญหาหรือการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งช่วยให้การสื่อสารระหว่างบริษัทกับซัพพลายเออร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และลูกค้ามีความพึงพอใจด้วย  การตรวจสอบซัพพลายเออร์จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากและส่งผลต่อความสำเร็จของธุรกิจ

โดยทั่วไป การตรวจสอบซัพพลายเออร์แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังต่อไปนี้

  1. การตรวจสอบระบบ (System Audits) เกี่ยวข้องกับการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบการจัดการโดยรวมแทนที่จะมุ่งเน้นไปที่องค์ประกอบหรือกระบวนการแต่ละรายการ ทั้งนี้ เพื่อตรวจสอบกระบวนการ บุคลากร หน้าที่ ระยะเวลา และสถานที่ภายในห่วงโซ่อุปทานตามเกณฑ์ที่กำหนด การตรวจสอบประเภทนี้ให้มุมมองระดับสูงของการปฏิบัติงานที่ช่วยให้เข้าใจส่วนต่างๆ ของระบบห่วงโซ่อุปทานที่ต้องปรับปรุง
  2. การตรวจสอบกระบวนการ (Process Audits) เป็นการประเมินขั้นตอนที่ไม่ต่อเนื่องภายในห่วงโซ่อุปทานโดยละเอียด แต่ละขั้นตอนของกระบวนการได้รับการประเมินโดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนก่อนหน้านั้น ส่วนประกอบทั้งหมดที่จำเป็นในการสร้างผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป รวมถึงเครื่องจักร บุคลากร และวัตถุดิบ ได้รับการประเมินและเปรียบเทียบกับชุดแนวทาง หลักการ การวัดประสิทธิภาพ หรือคำแนะนำ
  3. การตรวจสอบผลิตภัณฑ์ (Product Audits) เป็นการตรวจสอบผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปตามข้อกำหนดเฉพาะก่อนที่จะจัดส่งไปยังผู้ใช้ปลายทางหรือตลาดค้าปลีก ข้อมูลจำเพาะประกอบด้วยประสิทธิภาพการทำงาน รูปลักษณ์ทางสุนทรียภาพ และความสม่ำเสมอของมิติ เป็นไปได้ว่าการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาจกำหนดว่าขั้นตอนในกระบวนการผลิตนั้นไม่สอดคล้องกันและจำเป็นต้องมีเครื่องมือใหม่ หรือการปรับเปลี่ยนระบบคุณภาพโดยรวม
  4. การตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อกำหนด (Compliance Audits) มีความแตกต่างเล็กน้อยจากการตรวจสอบทั้ง 3 ประเภทดังกล่าวข้างต้น การตรวจสอบระบบ การตรวจสอบกระบวนการ และการตรวจผลิตภัณฑ์จะส่งผลซึ่งกันและกันและขึ้นอยู่กับข้อกำหนดเฉพาะที่กำหนดไว้ภายในบริษัท แต่การตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อกำหนดเป็นการตรวจสอบความสอดคล้องที่มุ่งจัดกระบวนการและข้อกำหนดจำเพาะของผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรด้วยการทวนสอบและการระบุว่าผลิตภัณฑ์มีคุณสมบัติตามข้อกำหนดหรือไม่ ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถปรับปรุงกระบวนการและผลิตภัณฑ์ได้ดีขึ้น

บริษัทที่สนใจใช้บริการด้านการตรวจสอบซัพพลายเออร์ สามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่ MASCI ซึ่งให้บริการตั้งแต่การจัดทำมาตรฐานสำหรับใช้ในการประเมินซัพพลายเออร์ การฝึกอบรม ไปจนถึงการตรวจประเมินซัพพลายเออร์ เพื่อให้บริษัทมั่นใจว่าได้ซัพพลายเออร์ที่มีคุณภาพตามความต้องการ และทั้งหมดนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ

ที่มา:  

1. https://blog.qima.com/supplier-audits/how-to-conduct-a-supplier-audit
2.
https://www.tiptech.com/blog/6-benefits-to-conducting-a-supplier-audit/

 5,032 ผู้เข้าชมทั้งหมด