ก้าวสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อโลกที่ยั่งยืน

Share

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ได้ชี้ให้เห็นว่าตอนนี้ โลกของเราจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อให้เกิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” อย่างเร่งด่วนมากขึ้นกว่าเดิมเป็นสองเท่า การที่องค์กรและธุรกิจยังคงยึดถือกับเศรษฐกิจเส้นตรงแบบเดิมจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจเช่นเดียวกับองค์กรและธุรกิจที่พลาดกระแสการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิทัลแล้ว

WEF ได้คาดการณ์ไว้เช่นนั้นเนื่องจากเรื่องราวในอดีตสะท้อนให้เห็นว่าแม้แต่บริษัทที่มีผลประกอบการโดดเด่นก็ยังสูญเสียความเป็นผู้นำในตลาดไปอย่างน่าเสียดาย และชะตากรรมนี้ได้ถูกคาดการณ์และถ่ายทอดไว้ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 โดยศาสตราจารย์เคลย์ตัน คริสเตนเซนแห่ง Harvard Business School ในหนังสือ The Innovator’s Dilemma เมื่อปี 2540 (ค.ศ.1997) โดยกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโมเดลธุรกิจจะเกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในเวลาต่อมา

หนังสือดังกล่าวได้รับการกล่าวถึงจากผู้นำที่มีชื่อเสียงระดับโลกนับตั้งต่อสตีฟ จ็อบส์ ไปจนถึงมัลคอล์ม แกลดเวลส์โดยมีข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญคือบริษัทที่มีฐานลูกค้าปัจจุบันที่แข็งแกร่งและมีผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ประสบความสำเร็จมักถูกมองข้ามได้ง่ายจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (เนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น บริษัทยังคงมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงผลิตภัณฑ์สำหรับลูกค้าปัจจุบัน  ลูกค้ารู้สึกสบายใจกับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ ทำให้บริษัทเกิดความลังเลที่จะลงทุนในนวัตกรรมที่อาจไม่ได้รับความชื่นชอบจากฐานลูกค้าหลักในทันที  และการปรับตัวช้า เป็นต้น) ดังที่ปรากฏว่าบริษัทที่มีชื่อเสียงจำนวนไม่น้อยต้องสูญเสียตลาดของตนเองไปในที่สุด

ทั้งนี้ เนื่องการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันมีความผันผวนอย่างรวดเร็วมาก และได้แรงหนุนจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี กฎหมายใหม่ และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อพบว่าแม้จะมีบทเรียนจากการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัลแล้ว ก็ยังมีการมองข้ามศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนอยู่เช่นกัน แต่อันที่จริงแล้ว ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ธุรกิจสามารถสร้างมูลค่าใหม่ให้เกิดขึ้นได้มากมาย ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นเพียงการปรับเปลี่ยนทีละน้อยเท่านั้น แต่สามารถปรับโฉมใหม่ได้ตั้งแต่พื้นฐานโดยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบในกลยุทธ์ทางธุรกิจและการดำเนินธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงนี้สามารถก้าวไปได้ไกลกว่าเพียงแค่การปรับแต่งกระบวนการที่มีอยู่  กล่าวคือเป็นการคิดใหม่และการออกแบบห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมด

ลองมาดูกันว่าโมเดลที่จะสร้างรายได้จากเศรษฐกิจหมุนเวียนจะมาจากทางใดบ้าง WEF มองว่าธุรกิจสามารถสร้างมูลค่า สร้างรายได้จากมูลค่าที่สร้างขึ้น รวมทั้งส่งมอบมูลค่าให้กับลูกค้า ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • Product-as-a-Service (PaaS) โมเดลนี้เปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้เป็นบริการ โดยลูกค้าชำระเงินตามประสิทธิภาพและการใช้ผลิตภัณฑ์ แทนที่จะซื้อทันที
  • เศรษฐกิจแบ่งปัน ช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สามารถเข้าถึงกลุ่มตลาดใหม่ๆ ที่การเข้าถึงและความสะดวกสบายมีความสำคัญมากกว่าการเป็นเจ้าของ ซึ่งช่วยลดการใช้ทรัพยากรโดยทำให้การใช้ผลิตภัณฑ์แต่ละรายการเกิดประโยชน์สูงสุด
  • การผลิตซ้ำหรือการซ่อมแซมตกแต่ง ช่วยยืดอายุของผลิตภัณฑ์และส่วนประกอบ ซึ่งมักจะทำให้ผลิตภัณฑ์และส่วนประกอบมีคุณภาพดีเหมือนใหม่หรือดียิ่งขึ้นไปอีก ธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องวางแผนสำหรับการคืนผลิตภัณฑ์ โลจิสติกส์สำหรับการผลิตซ้ำ และการจำหน่ายสินค้าที่ได้รับการตกแต่งใหม่ นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับมูลค่าของสินค้าที่ผลิตซ้ำหรือซ่อมแซมตกแต่งเพื่อให้มั่นใจในผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วย
  • การปฏิบัติตามกฎระเบียบและสิ่งจูงใจ กฎระเบียบที่เพิ่มขึ้นจะกระตุ้นให้เกิดแนวทางปฏิบัติของเศรษฐกิจหมุนเวียน ธุรกิจต่างๆ สามารถสร้างมูลค่าได้โดยการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล และใช้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษี เงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุน

โลกกำลังผันผวนและเปลี่ยนแปลงมากขึ้นทุกวัน เราจำเป็นต้องรู้ว่าความหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นมีความหมายเช่นเดียวกับความสามารถในการแข่งขันและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ซึ่งธุรกิจและโลกของเราต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน  การส่งมอบโลกที่มีความยั่งยืนให้ลูกหลานของเราจำเป็นต้องทำด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ  และการวัดความสำเร็จของเราก็ไม่เพียงแต่อยู่ที่ผลกำไรเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่การมีส่วนร่วมของเราต่อโลกที่ยั่งยืนด้วย

ในการมีส่วนร่วมของเราต่อโลกที่ยั่งยืนนั้น  องค์กรสามารถนำมาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กร (มตช.2 เล่ม 2) ไปใช้ซึ่งนอกจากจะมีส่วนสำคัญต่อการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังช่วยลดต้นทุน สร้างโอกาสใหม่  สร้างนวัตกรรมและแหล่งรายได้ใหม่ให้เกิดขึ้นด้วย

สำหรับท่านที่สนใจความรู้หรือบริการเกี่ยวกับมาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กร สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายรับรองระบบ โทรศัพท์ 026171723 – 36  หรือ Email: SCD@masci.or.th 

ที่มา:

1. https://www.hbs.edu/faculty/Pages/item.aspx?num=46
2.
https://www.weforum.org/agenda/2024/02/why-businesses-must-embrace-the-circular-economy-for-a-more-sustainable-future/

 949 ผู้เข้าชมทั้งหมด