ขับเคลื่อนโลกให้ยั่งยืนด้วยแนวทางการจัดงานอย่างยั่งยืน

Share

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระแสการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนได้รับความสนใจทั้งจากผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภค  และหนึ่งในธุรกิจที่มีความตื่นตัวเป็นอย่างมากในเรื่องของความยั่งยืนก็คือ ธุรกิจการจัดงานประเภทต่าง ๆ รวมทั้งการจัดงานเทศกาลและการจัดอีเวนท์ เนื่องจากในการจัดงานต่าง ๆ มีส่วนในการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากมายในกิจกรรมที่จัดขึ้น เช่น การปั่นไฟ การขนส่ง การใช้วัสดุครั้งเดียวทิ้ง เป็นต้น

การจัดการงานอย่างยั่งยืนเป็นทางเลือกที่มีความสำคัญมากสำหรับธุรกิจการจัดงาน  เนื่องจากช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยกระตุ้นและรักษาค่านิยมด้านความยั่งยืน และสามารถนำไปผนวกเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การจัดงานอย่างยั่งยืนให้ประสบความสำเร็จได้ โดยการดำเนินกิจกรรมที่นำไปสู่ความยั่งยืนมีการคำนึงถึงคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมเป็นแกนหลัก

ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยให้ความสำคัญกับการจัดงานอย่างยั่งยืนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจัดการอบรม สัมมนา การจัดเลี้ยงในโอกาสสำคัญ หรือการจัดงานเทศกาลต่าง ๆ ทั้งงานระดับท้องถิ่นและงานระดับโลกอย่างกีฬาโอลิมปิก เป็นต้น

ในการจัดงานอย่างยั่งยืนในประเทศไทยนั้น สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน. หรือ TCEB) ได้จัดทำ “แนวทางปฏิบัติเบื้องต้นสำหรับการจัดงานอย่างยั่งยืน” ขึ้น เพื่อให้ผู้จัดงานมีแนวปฏิบัติที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้อย่างง่าย โดย และผู้สนใจสามารถนำไปใช้ในวงกว้างมากขึ้น

แนวทางปฏิบัติดังกล่าวประกอบไปด้วยแนวทางหลักรวม 7 ข้อ ได้แก่ การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ก่อนงาน สถานที่จัดงาน  การตกแต่งสถานที่และจัดเตรียมอุปกรณ์  อาหารและเครื่องดื่ม  ระบบลงทะเบียน  การจัดเตรียมอื่น ๆ ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ และการสื่อสารและประชาสัมพันธ์หลังงาน

นอกจากนี้ TCEB ยังได้จัดทำ “คู่มือการจัดงานอย่างยั่งยืน” ซึ่งอ้างอิงมาจากคู่มือ Sustainable Events Guide 2012 ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ที่ได้รวบรวมมาจากการปฏิบัติงานจริงที่ประสบความสำเร็จ และมีข้อแนะนำที่จัดเป็นหมวดหมู่ รวมทั้งรายการตรวจสอบ (Checklist) เพื่อให้ผู้ใช้งานนำไปปฏิบัติได้สะดวก และเกิดประโยชน์สูงสุด

เครื่องมือดังกล่าวประกอบด้วยเนื้อหารวม 6 บท ได้แก่ การจัดงานอย่างยั่งยืนสู่การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน  การบริหารและการสื่อสารงานที่ยั่งยืน การดำเนินงานที่ยั่งยืน การจัดงานที่สภาพภูมิอากาศเป็นกลางและเป็นมิตรต่อสภาพอากาศ  การทำรายงานการจัดงานที่ยั่งยืน และรายการตรวจสอบการจัดงานที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ ผู้จัดงานสามารถคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์เบื้องต้นที่สามารถหลีกเลี่ยงได้จากการจัดงานต่าง ๆ ในเว็บไซต์ https://climateaction.tceb.or.th/ ด้วย

สำหรับมาตรฐานไอเอสโอที่น่าสนใจอีกฉบับหนึ่ง คือ มาตรฐานการบริหารการจัดการงานอย่างยั่งยืน ISO 20121 ซึ่งสามารถนำไปใช้งานและขอรับการรับรองได้  ซึ่งหากเมืองขนาดใหญ่ต้องการจัดงานอีเวนท์ ก็สามารถนำมาตรฐานดังกล่าวมาใช้ร่วมกับมาตรฐานแนวทางการเป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่ ISO 22379, Security and resilience – Guidelines for hosting and organizing large citywide events ได้เช่นกัน
สำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมไมซ์หรือภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการจัดงาน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายบริการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โทรศัพท์ 026171723 – 36  ต่อ 213 – 214 หรือ Email: 2SD@masci.or.th

ที่มา:  https://www.micecapabilities.com/mice/uploads/attachments/Thailand_Sustainable_Events_Guide_(TH).pdf

 362 ผู้เข้าชมทั้งหมด