ความท้าทายด้านการจัดการในอุตสาหกรรมสุขภาพ

Share

อุตสาหกรรมสุขภาพในปัจจุบันเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อนหลายประการ  อุตสาหกรรมสาขานี้มีความต้องการที่หลากหลาย มีการเน้นที่ผลลัพธ์ของผู้ป่วยมากขึ้น และเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบอยู่เสมอ อีกทั้งต้นทุนก็เพิ่มขึ้น การรักษาผู้ป่วยและการดูแลด้านสุขภาพยังสร้างความตึงเครียดให้กับการจัดการด้านการดูแลสุขภาพและการดูแลที่มีคุณภาพสำหรับผู้ป่วยด้วย ทำให้การจัดการคุณภาพด้านการดูแลและรักษาพยาบาลอย่างมีประสิทธิผลมีความสำคัญและจำเป็นมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ความท้าทายที่ซับซ้อนในการให้บริการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพนั้น กล่าวโดยสรุป มีอยู่ด้วยกัน 6 ประการ ดังต่อไปนี้

  1. ต้นทุนด้านสุขภาพที่สูงขึ้น
    ต้นทุนการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นอยู่เสมอเป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การสร้างสมดุลระหว่างความจำเป็นในการดูแลที่มีคุณภาพและการควบคุมต้นทุนเป็นสิ่งที่ผู้บริหารในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพต้องพิจารณาให้ดี โดยหาวิธีใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อบริการที่มีคุณภาพสูง การดำเนินการเช่นนี้อาจเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้นทุนการรักษาพยาบาลและต้นทุนด้านเทคโนโลยียังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  2. การปฏิบัติตามกฎระเบียบ
    การปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านการดูแลสุขภาพที่ซับซ้อนในระดับท้องถิ่นระดับภูมิภาค และระดับประเทศ อาจเป็นภาระได้ แต่การปฏิบัติตามกฎระเบียบก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการให้ความสำคัญด้านมาตรฐานการดูแลรักษาพยาบาล อีกทั้งยังเป็นการรับรองหลักและป้องกันการกระทำผิดปฏิบัติด้านจริยธรรมด้วย
  3. ความพึงพอใจของผู้ป่วย
    ความพึงพอใจของผู้ป่วยในระดับสูงมักบ่งบอกถึงบริการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพ ผู้ป่วยที่พึงพอใจมีแนวโน้มที่จะได้รับการรักษาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดี นอกจากนี้ ความแตกต่างในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพตามภูมิศาสตร์ รายได้ และการประกันภัยยังคงเป็นประเด็นสำคัญต่อความพึงพอใจด้วย
  4. การขาดแคลนแรงงา
    ระบบสุขภาพประสบปัญหาในการสรรหาและรักษาพนักงานในตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันสูงขึ้น บุคลากรทางการแพทย์ยังมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความปลอดภัยส่วนบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการทำงานในอุตสาหกรรมนี้ต่อไป ความเครียดจากการทำงานที่พบบ่อยได้แก่ พฤติกรรมที่ไม่อยู่กับร่องกับรอยของผู้ป่วยและผู้มาเยือน และปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบจากภาวะหมดไฟในการทำงานหรือเหนื่อยหน่าย (Burnout)
  5. การนำเทคโนโลยีมาใช้
    ผู้บริหารด้านการดูแลสุขภาพจะต้องจัดการการนำเทคโนโลยีการดูแลสุขภาพใหม่ๆ มาใช้ภายในองค์กร เนื่องจากอุปกรณ์ทางการแพทย์และขั้นตอนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ความมั่นใจในความสามารถในการทำงานร่วมกันของข้อมูล อุปกรณ์รวมไปถึงความปลอดภัยของข้อมูล จะเป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ระบบดิจิทัลที่ใช้ในการดูแลด้านสุขภาพกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ต้องจับตามองซึ่งได้รับการขับเคลื่อนมาจากความก้าวหน้าใหม่ ๆ ของเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์  และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอื่นๆ ซึ่งได้แก่ เทคโนโลยีเลเซอร์ที่ใช้ในการทำงานทุกอย่างนับตั้งแต่การผ่าตัดตา  การสร้างอุปกรณ์ใหม่และทันตกรรมประดิษฐ์  โฟโตนิกส์ (เทคโนโลยีการสร้างและควบคุมแสงที่มีอยู่ในแนวทางปฏิบัติทางการแพทย์อย่างหลากหลาย)  ไปจนถึงการวินิจฉัยแบบไม่ล่วงล้ำเข้าสู่ร่างกาย (Non-invasive diagnosis) การตรวจวินิจฉัยด้วยภาพทางการแพทย์และการบำบัดรักษา

  1. การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์
    การเป็นคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์จะต้องรับมือกับความท้าทายของการเป็นผู้สูงวัย ซึ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ ผู้ป่วยสูงอายุมีความต้องการด้านการรักษาพยาบาลเฉพาะตัว รวมถึงการดูแลแบบประคับประคองและการจัดการโรคเรื้อรัง บริการด้านสุขภาพจะต้องลงทุนในบริการดูแลผู้สูงอายุและการแพทย์ทางไกลเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยสูงอายุจะสามารถเข้าถึงการดูแลที่มีคุณภาพ

 

อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพจำเป็นต้องก้าวความท้าทายในการให้บริการดูแลสุขภาพทั้ง 6 ประการให้ได้ ซึ่งจะมีผลต่อการจัดการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพและการส่งมอบการดูแลให้กับผู้รับการดูแลรักษาอย่างมีมาตรฐานและเท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงถึงสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่อไปในอนาคต

ที่มา: https://www.iso.org/healthcare/quality-management-health

 1,581 ผู้เข้าชมทั้งหมด