ความร่วมมือด้านการมาตรฐานขององค์กรระดับโลก

Share

ปัจจุบัน “การมาตรฐาน” (Standardization) ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในทุกประเทศทั่วโลกทั้งในด้านธุรกิจอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม และด้วยความร่วมมือด้านการมาตรฐานขององค์กรระดับโลกระหว่างไอเอสโอ ไออีซี และไอทียู ทำให้มาตรฐานสากลได้รับการพัฒนาจนกระทั่งเป็นประโยชน์ต่อคนทั่วโลกมากขึ้น ช่วยลดต้นทุน สร้างความปลอดภัยและสมรรถนะที่ดี ช่วยเปิดตลาดและส่งเสริมการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการในวงกว้างมากขึ้น ตลอดจนมีความเหมาะสมกับการใช้งานและมีความทันสมัยมากขึ้น

ความร่วมมือในการพัฒนามาตรฐานสากลขององค์กรระดับโลกทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ ไอเอสโอหรือองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization:  ISO) ไออีซีหรือคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยสาขาอิเล็กทรอเทคนิกส์ (International Electrotechnical Commission: IEC) และไอทียูหรือสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) ส่งผลให้เกิดการลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ

ไอเอสโอได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานระหว่างประเทศให้เป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกในสาขาต่าง ๆ ยกเว้นไฟฟ้า (ซึ่งเป็นบทบาทของไออีซี) โทรคมนาคม (ซึ่งเป็นบทบาทของไอทียู) และอาหาร (ซึ่งเป็นบทบาทของ Codex Alimentarius Commission) รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและเศรษฐกิจ โดยในประเทศไทยมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เข้าร่วมเป็นสมาชิกของไอเอสโอในฐานะสถาบันมาตรฐานแห่งชาติ

ส่วนไออีซีได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อจัดทำมาตรฐานระหว่างประเทศด้านไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งดำเนินการจัดทำระบบการตรวจประเมินเพื่อการรับรองคุณภาพให้กับมาตรฐานของไออีซี ในขณะที่ไอทียูได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนามาตรฐานด้านโทรคมนาคม ซึ่งทั้งไอเอสโอ  ไออีซี และไอทียูได้ร่วมมือกันเพื่อสร้างระบบของการมาตรฐานให้มีความแข็งแกร่ง และส่งเสริมงานด้านการมาตรฐานระหว่างประเทศให้มีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยใช้หลักความเห็นพ้องต้องกัน (consensus) ภายใต้ชื่อองค์กร “World Standards Corporation” (WSC) ซึ่งล่าสุดพบว่าความร่วมมือระหว่างองค์กรทั้ง 3 แห่งทำให้เกิดการพัฒนามาตรฐานสากลด้านดิจิทัล เช่น มาตรฐานอย่าง MPEG ช่วยให้เราสามารถจัดเก็บ ถ่ายโอน และสตรีมไฟล์วิดีโอได้ไปจนถึงมาตรฐานสากลสำหรับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งช่วยลดจำนวนที่ชาร์จโทรศัพท์มือถือต่างๆ ลงเป็นอย่างมาก และช่วยลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ไอเอสโอ ไออีซี และไอทียูยังมีบทบาทสำคัญในการทำให้การค้าโลกบรรลุเป้าหมายในการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายสินค้า โดยมีการตรวจประเมินและรับรอง (Conformity Assessment) เป็นสิ่งยืนยันถึงสมรรถนะของสินค้าหรือบริการที่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยทำให้ระบบการค้ามีความเป็นธรรม  มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นประโยชน์อย่างมากต่อคนทั่วโลก

ปัจจุบัน ไอเอสโอได้พัฒนามาตรฐานสากลไปแล้วมากกว่า 25,000 ฉบับซึ่งได้มีการปฏิบัติตามกรอบการทำงานของความร่วมมือระหว่างประเทศ  มาตรฐานเหล่านี้เป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยให้นวัตกรรมสามารถเจริญเติบโต เกิดการผลิตที่ประหยัดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ รวมทั้งทำให้ทุกภาคส่วนทั่วโลกมีส่วนสำคัญในการบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ด้วย

ที่มา:

1. https://shorturl.at/fKMT8
2.
https://www.thaigoodview.com/knowledge/1858/specialday1410-2

 721 ผู้เข้าชมทั้งหมด