นักวิจัยข้ามชาติพบสาเหตุหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรความรู้

Share

ปัจจุบัน สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้มีความพยายามของทุกภาคส่วนทั่วโลกในการดำเนินการตามแนวทางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net zero emissions) และตามแนวทางการบรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นกลาง (Carbon neutrality)

การดำเนินการตามแนวทางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net zero emissions) หมายถึงการที่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความสมดุลเท่ากับก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับออกจากชั้นบรรยากาศ ส่วนการดำเนินการตามแนวทางการบรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นกลาง (Carbon neutrality) หมายถึงการที่ปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมาผ่านป่าไม้หรือวิธีการอื่น

ภาคส่วนต่าง ๆ ทั่วโลกได้เร่งดำเนินการตามแนวทางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ตามแนวทางการบรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นกลาง และในส่วนขององค์กรความรู้และองค์กรด้านการศึกษา ได้มีงานวิจัยของนักวิจัยข้ามชาติได้ทำการศึกษาสาเหตุสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มักถูกมองข้ามไป

จากการศึกษาวิจัยเรื่อง “คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรความรู้และสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับโลกหลัง COVID-19” ของกลุ่มนักวิจัยข้ามชาติจำนวน 5 คนจากประเทศฟินแลนด์ ประเทศอิตาลี และประเทศสเปน พบว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงทีโดยองค์กรต่างๆ ในฐานะผู้สนับสนุนหลัก ควรมีบทบาทสำคัญ อย่างไรก็ตาม องค์กรเหล่านั้นจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่เหมาะสมในการวัดและลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ วิธีการหนึ่งที่ใช้กันทั่วไปคือการวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO)

การวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์สามารถดำเนินการได้ในองค์กรประเภทต่างๆ  แต่สำหรับองค์กรความรู้ เช่น มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย กลับได้รับความสนใจน้อยกว่ามาก เนื่องจากคาร์บอนฟุตพริ้นท์มักจะมองเห็นได้น้อยกว่าและอาจได้รับการประเมินต่ำกว่าที่ควรจะเป็นอยู่มาก

การศึกษานี้วิจัยของกลุ่มนักวิจัยนี้จึงได้วิเคราะห์ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขององค์กรความรู้ข้ามชาติแห่งหนึ่ง การวิเคราะห์นี้ได้ระบุแหล่งที่มาสำคัญของผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในองค์กรความรู้อื่นๆ สิ่งเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นการปล่อยก๊าซทางอ้อม ซึ่งหมายถึง Scope 3 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่ ถึง 79% ซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการเดินทางไปร่วมงานประชุมและสัมมนา รวมทั้งการจัดงานและการผลิตสื่อเผยแพร่และการสื่อสาร รวมทั้งเวลาทำการของบุคลากรและการประชุมภายใน (ส่วนการปล่อยก๊าซ Scope 1 เป็นการปล่อยก๊าซโดยตรงจากกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ และกระบวนการภายใต้การควบคุมขององค์กรหรือที่องค์กรเป็นเจ้าของ และการปล่อยก๊าซ Scope 2 เป็นการปล่อยก๊าซทางอ้อมจากการใช้พลังงาน)

การศึกษายังกล่าวถึงกลยุทธ์การลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการที่องค์กรความรู้สามารถนำไปใช้เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งได้แก่ วิธีการหลีกเลี่ยงและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการจัดการรูปแบบใหม่ของการชดเชยคาร์บอนด้วย

จากผลการวิจัยยังมีการเสนอกรอบนโยบายการบรรเทาผลกระทบและข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยเพิ่มเติมโดยสรุปได้ว่า เนื่องจากการเดินทางด้วยเครื่องบินมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางมากที่สุด จึงเสนอกลยุทธ์ในการบรรเทาผลกระทบด้วยการใช้วิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ และการสื่อสารออนไลน์

อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบการศึกษาปริมาณการปล่อยก๊าซที่แตกต่างกันเป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควรเนื่องจากวิธีการและความครอบคลุมของข้อมูลมีความแตกต่างกัน แต่สิ่งที่โดดเด่นคือการเดินทางมีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขององค์กรความรู้  ซึ่งการแพร่ระบาดยังมีส่วนส่งเสริมให้เกิดการทำงานจากที่บ้านซึ่งจะยังคงมีอยู่ต่อไป ทำให้ช่วยลดความต้องการพื้นที่สำนักงาน เครื่องทำความร้อน และไฟฟ้า รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซจากการเดินทางด้วย

ไม่ว่าจะเป็นองค์กรความรู้ องค์กรทั่วไป หรือภาคส่วนอื่น ๆ ก็สามารถใช้ CFO เป็นเครื่องมือในการนำหลักการและข้อกำหนดไปใช้ในการจัดทำบัญชี การวัดปริมาณและการรายงานผลการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อส่งเสริมการวางแผนและการกำหนดกลยุทธ์ในการจัดการก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ องค์กรที่สนใจเรื่อง CFO  สามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่ MASCI ฝ่ายทวนสอบด้านความยั่งยืน  https://www.masci.or.th/service/carbon-footprint-for-organization-cfo/

ที่มา:  https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0195925521000950

 886 ผู้เข้าชมทั้งหมด