“นีอูเอ” ต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

Share

การประชุมประจำปี 2566 ของไอเอสโอจะจัดขึ้นที่เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย ในวันที่ 18-22 กันยายน พ.ศ. 2566 ไอเอสโอและประเทศสมาชิกจึงได้ร่วมมือกันสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับโลกเพื่อแสดงให้เห็นถึงวิธีการที่มาตรฐานสากลจะช่วยเรารับมือกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก

ก่อนที่จะถึงวันเปิดการประชุมประจำปี 2566 ไอเอสโอได้เผยแพร่บทความจากแขกรับเชิญที่น่าสนใจซึ่งจะให้ข้อมูลเชิงลึกในหัวข้อต่างๆ ที่จะมีการอภิปรายในการประชุมดังกล่าว เช่นในครั้งนี้ มีเรื่องราวที่น่าสนใจจาก Crossley Tatui รัฐมนตรีกระทรวงการคลังและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศนีอูเอ ผู้ซึ่งมีอาชีพการงานที่โดดเด่นเกี่ยวกับการบริการสาธารณะ และมีบทบาทสำคัญในการจัดหาเงินทุนและทรัพยากรสำหรับโครงการเพื่อการฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศ เขาได้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการเจรจาเรื่องสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศ และผลักดันประเด็นปัญหาโลกร้อนของประเทศนีอูเอให้เข้าสู่เวทีระดับโลก

ในการประชุมดังกล่าว เขาจะเข้าร่วมอภิปรายในหัวข้อการประชุมออนไลน์ เรื่อง “การอนุรักษ์สวรรค์: การปรับตัวของสภาพภูมิอากาศสำหรับหมู่เกาะที่มีความเสี่ยง” และสำหรับบทความในครั้งนี้ เขาจะชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อประเทศนีอูเอที่เป็นหมู่เกาะสวรรค์สำหรับนักท่องเที่ยว และผลักดันความร่วมมือระดับโลกให้เห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับหมู่เกาะที่เปราะบาง ดังต่อไปนี้

นีอูเอเป็นเกาะที่อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ และได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าถึงแม้จะเป็นเกาะสวรรค์ที่อยู่ห่างไกล ก็ไม่สามารถต้านความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ เนื่องจากนีอูเอได้เผชิญกับพายุหมุนเขตร้อนและความแห้งแล้งอย่างหนักในช่วง 70 ปีที่ผ่านมาทั้ง ๆ ที่ประเทศนี้ไม่ได้มีส่วนทำให้เกิดมลพิษที่ก่อให้เกิดภัยพิบัติระดับโลกแต่อย่างใด

ประเทศนีอูเอเต็มไปด้วยความสวยงาม และมีความสงบสุข  มีเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจ และความเจริญก้าวหน้าด้วยการเสริมสร้างสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การแก้ปัญหาด้านพลังงานที่ดีขึ้น การสร้างเสถียรภาพทางการเมือง และความมั่นคงทางอาหาร แต่ Crossley Tatui กล่าวว่าประเทศนีอูเอไม่สามารถบรรลุความฝันนี้ได้หากปราศจากความร่วมมือระหว่างประเทศ

ประเทศเล็ก ๆ แต่เป็นแนวหน้าที่เผชิญวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

เมื่อปี 2538 (ค.ศ.1995) ประเทศนีอูเอได้ต้อนรับชาววานูอาตูที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่ประเทศนี้เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ต่อมาในปี 2547 (ค.ศ.2004) ประเทศนีอูเอได้รับความเสียหาย (มีมูลค่าราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ) จากพายุไซโคลนเขตร้อนระดับ 5  ที่มีกำลังแรงคลื่นทะเลลึกถึง 70 เมตรในบางพื้นที่ของเมืองหลัก ทำให้มีผู้เสียชีวิตบนชายฝั่งตะวันตก บ้านเรือน ทรัพย์สิน และสถานที่ต่าง ๆ ถูกทำลายจนผู้คนต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่ด้านบนของเกาะ หลายคนไม่สามารถย้ายที่อยู่ได้ และยังตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคามทางธรรมชาติมาจนถึงทุกวันนี้

เกือบ 20 ปีต่อมา  สำนักงานจัดการภัยพิบัติแห่งชาติของประเทศนีอูเอทำงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานอุตุนิยมวิทยาของประเทศโดยรวบรวมข้อมูลสภาพอากาศรายวันเพื่อจัดทำแผนฉุกเฉิน แต่ถึงแม้ว่าจะไม่เสี่ยงต่อการเกิดพายุไซโคลน แต่ฝนและอุณหภูมิก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ชีวิตทางทะเล และเกษตรกรรมเป็นอย่างมาก  ไม่ว่าเกาะสวรรค์จะห่างไกลออกไปแค่ไหน ก็ไม่รอดพ้นจากความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ดี

มาตรการเพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับตัวของประเทศ

รัฐบาลของประเทศนีอูเอยังคงระดมทรัพยากรที่สำคัญเพื่อเผชิญกับภัยคุกคามและลดความเสี่ยง นโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของนีอูเอ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2552 (ค.ศ.2009) เป็นแนวทางสำหรับมาตรการตอบสนองนโยบายที่เหมาะสมในทุกภาคส่วน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวของประเทศ

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 (ค.ศ.2011) ได้มีการหารือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับประเทศเกี่ยวกับปัญหาการย้ายถิ่นฐานอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และรัฐบาลประเทศนีอูเอยังได้มุ่งการบรรลุเป้าหมายการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการสร้างความตระหนักรู้ถึงวิกฤตให้กับประชาชน และเสริมศักยภาพประชาชนให้เป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลง  นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้มีการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลสภาพภูมิอากาศ และสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับองค์กรพัฒนาเอกชน และหน่วยงานเอกชนต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการปรับตัวและบรรเทาปัญหาสภาพภูมิอากาศของประเทศด้วย

Crossley Tatui เชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจะต้องมาจากความร่วมมือทั้งในระดับประเทศและระดับระหว่างประเทศ  ซึ่งเขาจะอภิปรายเรื่องนี้ในการประชุมประจำปี 2566 ของไอเอสโอที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า และทำให้เรามีโอกาสเรียนรู้ว่าความร่วมมือระดับโลกจะช่วยพลิกกระแสการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับหมู่เกาะที่เปราะบางที่สุดในโลกได้อย่างไรต่อไป

ที่มา: https://www.iso.org/news/AM2023/safeguarding-our-shores  

 1,014 ผู้เข้าชมทั้งหมด