ประธานไอเอสโอคนใหม่เปิดเผยแนวทางแก้ไขความท้าทายระดับโลก

Share

เมื่อต้นเดือนมกราคม 2567 (ค.ศ.2024) ดร. ซอง ฮวาน โช แห่งสาธารณรัฐเกาหลี ได้เข้ารับตำแหน่งในฐานะประธานไอเอสโอ  เนื่องในโอกาสนี้ เขาได้แบ่งปันความคิดว่าไอเอสโอจะสามารถเพิ่มการเข้าถึงคนทั่วโลกเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายระดับโลกในปัจจุบันได้อย่างไร รวมถึงสิ่งที่เขาให้ความสำคัญในการดำรงตำแหน่งในอีกสองปีข้างหน้าด้วย

เขาได้กล่าวว่าเขารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับโอกาสให้ดำรงตำแหน่งประธานไอเอสโอ ซึ่งเป็นองค์กรมาตรฐานชั้นนำของโลก ในช่วงเวลาที่โลกของเรากำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ไอเอสโอและมาตรฐานที่กำลังพัฒนาได้นำเสนอแนวทางแก้ไขสำหรับความท้าทายระดับโลกที่ซับซ้อนที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่

แม้ว่าทุกคนจะมีภูมิหลังและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน แต่เขาเชื่อมั่นว่าโลกที่สร้างขึ้นจากความไว้วางใจ นวัตกรรม และการทำงานร่วมกันจะสามารถเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ได้โดยมีมาตรฐานสากลของไอเอสโอช่วยขับเคลื่อนโลกไปสู่อนาคตที่ดีกว่า

พลังของมาตรฐานมีความชัดเจนและใช้ได้กว้างขวาง แต่สำหรับธุรกิจและองค์กรจำนวนมาก ยังมองไม่เห็นมาตรฐาน ทั้ง ๆ ที่ “มาตรฐาน” สำคัญและมีอยู่จริงเหมือนกับอากาศรอบตัวเรา

เขาตระหนักดีถึงถึงความสำคัญของมาตรฐานมากขึ้นทุกครั้งที่ได้พบมาตรฐานเหล่านี้ในชีวิตการทำงาน

ในระหว่างดำรงตำแหน่ง สิ่งที่เขาต้องการมุ่งเน้นในลำดับแรกคือการสร้างการกำกับดูแลของไอเอสโอเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายระดับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงผลกระทบเชิงทำลายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมอย่างเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์

เพื่อให้สอดคล้องกับปฏิญญาลอนดอนปี 2021 ที่มีการเปลี่ยนแปลง ไอเอสโอและประเทศสมาชิกจึงมุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นใจว่ามาตรฐานสากลใหม่และที่มีอยู่จะสอดคล้องกับเรื่องของสภาพภูมิอากาศ

ไอเอสโอได้จัดเตรียมเครื่องมือและกรอบการทำงานที่จำเป็นให้กับนักพัฒนามาตรฐานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ เพื่อให้การพิจารณาเรื่องสภาพอากาศได้รับการพิจารณาตั้งแต่ต้นจนจบ

ขณะเดียวกัน คณะอนุกรรมการร่วมด้านปัญญาประดิษฐ์ของไอเอสโอและไออีซีก็ได้พัฒนามาตรฐานระบบการจัดการฉบับแรกที่เกี่ยวข้องกับเอไอ (ISO/IEC 42001) โดยมีเป้าหมายที่กว้างขึ้นคือการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเชิงบวก ในขณะเดียวกันก็จัดการกับอันตรายของการใช้งานในทางที่ผิดด้วย เพื่อที่จะแบ่งปันประโยชน์ของเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงนี้

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของมาตรฐานไอเอสโอที่ใช้ได้ทุกหนแห่งทั่วโลก  และตอบสนองความต้องการระดับโลก ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ไอเอสโอจะต้องให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้ามีบทบาทสำหรับการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผลและเท่าเทียมกันมากขึ้นในการพัฒนาและการเผยแพร่มาตรฐานสากล

การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการส่งเสริมความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรและการแบ่งปันความรู้แบบ peer-to-peer โดยใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเพื่อให้มั่นใจว่าประเทศกำลังพัฒนาจะสามารถบรรลุศักยภาพสูงสุดของตน

การสร้างสะพานเชื่อมที่แข็งแกร่งระหว่างไอเอสโอกับทั้งธุรกิจและผู้บริโภคถือเป็นอีกหนึ่งความจำเป็น เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ในทุกภูมิภาคของโลก ไอเอสโอจะพัฒนาความพยายามในการสื่อสาร และปรับปรุงการยอมรับทั่วโลกของไอเอสโอในรูปแบบใหม่อย่างมีพลวัต

การมีส่วนร่วมของไอเอสโอในการประชุมสภาพภูมิอากาศ COP28 เมื่อปี 2566 (ค.ศ.2023) ถือเป็นการปรากฏตัวในเวทีระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง จนถึงปัจจุบัน ไอเอสโอได้ใช้โอกาสนี้มุ่งเน้นไปที่การใช้ประโยชน์จากมาตรฐานไอเอสโอในการสนับสนุนเป้าหมายเพื่อคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ รวมทั้งความพยายามในการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นอกจากนี้ ไอเอสโอยังมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือเชิงกลยุทธ์และมีส่วนร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ ผู้กำหนดนโยบาย หน่วยงานมาตรฐาน และผู้ใช้ปลายทาง เนื่องจากไอเอสโอเชื่อว่าความร่วมมือนี้จะสร้างความสามัคคีและความสอดคล้องทั่วทั้งระบบนิเวศมาตรฐานอย่างยั่งยืนต่อไป

ที่มา: https://www.iso.org/contents/news/2024/01/message-from-iso-president-2024.html

 938 ผู้เข้าชมทั้งหมด